ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี”  ยอมรับระบบสาธารณสุข “กทม.” มีความซับซ้อน ต้องออกแบบ 30 บาทรักษาทุกที่ วางระบบปฐมภูมิ ให้ประชาชนใช้บริการใกล้บ้านที่มีตราสัญลักษณ์โครงการ  โดยเข้ารับบริการผ่านศูนย์บริการสาธารณสุข หน่วยนวัตกรรมต่างๆ ของ สปสช. เช่น ร้านยา คลินิกเอกชน ฯลฯ อย่ากังวลเรื่องระบบข้อมูล ขณะนี้ใช้  Healthlink เชื่อมข้อมูล รพ.มหาวิทยาลัย กลาโหม ฯลฯ  มั่นใจภายในปีนี้  30 บาทรักษาทุกที่ครบทั้งประเทศ

 

ยอมรับระบบสาธารณสุข “กทม.” มีความซับซ้อน

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ (ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ) กล่าวถึงความคืบหน้าถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว  ภายในงานเปิดเส้นทางใหม่นโยบายเด็กและครอบครัวไทย ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา  ว่า ขณะนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ นำร่องไปแล้ว 45 จังหวัดในต่างจังหวัด และวันที่ 26 สิงหาคม 2567 นี้จะคิกออฟนำร่องใน กทม.เป็นจังหวัดที่ 46 ยอมรับว่าระบบใน กทม.มีความซับซ้อนมาก ใช้เวลาในการเตรียมการนานพอสมควรกว่าจะมีความพร้อมในวันดังกล่าว โดย กทม.มี รพ.ที่เป็นระดับตติยภูมิจำนวนมาก เช่น รพ.มหาวิทยาลัย รพ.ของกระทรวงสาธารณสุขบางแห่ง เช่น รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี เป็นต้น รพ.ของกลาโหม เช่น รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ภูมิพล เป็นต้น

"จากความซับซ้อนของระบบบริการสาธารณสุขใน กทม. จึงมีการออกแบบ 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม.ไว้แล้วว่า การจะอำนวยความสะดวกประชาชนใน กทม. นอกจากศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.แล้ว จะมีหน่วยนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ร้านขายยา คลินิกเอกชน คลินิกทันตกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ในการเจาะเลือด เป็นต้น" นพ.สุรพงษ์กล่าว

เลือกรับบริการใกล้บ้านจากตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่

นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ประชาชนสามารถเลือกไปรับบริการในสถานที่ใกล้บ้านหรือมีความสะดวกอย่างร้านขายยาได้ จะมีการกำหนดว่าร้านใดเข้าร่วมโครงการ โดยมีตราสัญลักาษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ ที่หน้าร้านขายยา ระบบของการรักษาต่อหลังดูแลเรื่องปฐมภูมิ หากมีการเจ็บป่วยซับซ้อนที่มากขึ้น ต้องการการดูแลการส่งต่อ รพ.ระดับตติยภูมิ เช่น รพ.ขนาดใหญ่หรือรพ.มหาวิทยาลัย จะมีระบบส่งต่อ ตามระบบที่ออกแบบไว้คือ สามารถส่งต่อโดยที่ไม่ต้องเขียนใบส่งตัวเลย ข้อมูลต่างๆ ด้านสุขภาพจะอยู่บนระบบคลาวด์ หมอที่ดูแลการส่งต่อก็สามารถเปิดดูโดยความนยินยอมของผู้ป่วยได้

วางระบบปฐมภูมิ ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข หน่วยนวัตกรรมต่างๆ

ถามว่าระบบรักษาทุกที่ใน กทม. จึงไม่ได้ให้ไปที่ รพ.ใหญ่ใช่หรือไม่ ซึ่งโรงเรียนแพทย์ระบุว่าให้ไปปฐมภูมิก่อน แต่ส่งต่อได้เหมือนเดิม นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า รพ.ระดับตติยภูมิออกแบบไว้อยู่แล้วว่ารับส่งต่อ เพราะฉะนั้น การไปดูแลเจ็บป่วยโรคพื้นฐานเบื้องต้นหรือไม่ซับซ้อนอาจไม่ได้รับความสะดวก เพราะจำนวนเตียงต่างๆ ถูกกำหนดไว้ดูแลผู้ป่วยรักษายากและซับซ้อนอยู่แล้ว ระบบที่วางไว้จึงให้ไปศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. หรือหน่วยนวัตกรรมอย่างร้านขายยา คลินิกต่างๆ ก่อน ถ้าผู้ดูแลเช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร เห็นว่าต้องได้รบการดูแลซับซ้อนมากขึ้นจะเป็นการส่งตัวเอง

ใช้ระบบ Healthlink เชื่อมข้อมูล รพ.มหาวิทยาลัย กลาโหม ฯลฯ

ถามอีกว่าทางโรงเรียนแพทย์ระบุว่า ขอให้มีการส่งตัวเรื่องสิทธิและเรื่องการแพทย์ เพราะระบบข้อมูลยังไม่ได้เชื่อมข้อมูลขนาดนั้น  นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า วันนี้ระบบการเชื่อมข้อมูลได้ทำความตกลงเรียบร้อยแล้ว มีระบบ Healthlink เชื่อมโยงกับกลุ่มโรงเรียนแพทย์ รพ.ของกลาโหม ซึ่งใช้ระบบของฐานข้อมูลอีกแบบ ฉะนั้นไม่กังวลการเชื่อมข้อมูลสามารถเรียกดูข้อมูลได้เลย

ปี 67 มั่นใจ 30 บาทรักษาทุกที่ครบทั้งประเทศ

เมื่อถามว่ารัฐบาลประเมินผล 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนสะท้อนผลลัพธ์อย่างไร  นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า จากการนำร่องพบว่า ประชาชนให้ความพึงพอใจสูงมาก เพราะทำให้ระบยะเวลาในการรอคิวลดน้อยลง ค่าใช้จ่ายเองก็สามารถลดลง เพราะไปหน่วยนวัตกรรมที่อยู่ใกล้มากขึ้น การเดินทางก้ลดลง แต่ต่างจังหวัดเป็นโครงข่ายของกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ มีภาคเอกชนจำนวนหนึ่ง การออกแบบระบบก็ไม่ยุ่งยากเท่าไร แต่ กทม.มีหลายเครือข่ายหลายกระทรวงมาก ได้ใช้เวลาเตรียมโครงการนำร่องช่วงที่ผ่านมา 8 เดือน เชื่อว่าเราเตรียมการพร้อมแล้ว  26 ส.ค.จะเห็นความพร้อมของระบบ

ถามว่าจะขยายบริการทั่วประเทศภายในปีนี้ตามเดิมใช่หรือไม่  นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ใช่