"อบต.ดอยเต่า" เปิดศูนย์ "คุ้มครองสิทธิบัตรทอง" แห่งแรกใน จ. เชียงใหม่ โดย อปท. สามารถดูแลประชาชนกลุ่มชนพื้นเมือง-กลุ่มชาติพันธุ์ ได้ครอบคลุม ด้าน สปสช. เผย เกิดจากการให้ความสำคัญด้านสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชน หวังขยายผลให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 256 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ไปยัง ต.ดอยเต่า อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชม “ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง อบต.ดอยเต่า” ซึ่งเป็นศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แห่งแรกใน จ.เชียงใหม่ ดำเนินการโดยองค์กรบริหารส่วนตำบลดอยเต่า (อบต.ดอยเต่า) ร่วมกับเครือข่ายแรงงานนอกระบบ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายพื้นที่ อ.ดอยเต่า และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้การดูแลคุ้มครองสิทธิประชาชนได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
นายอนุรักษ์ ก๋องโน นายก อบต.ดอยเต่า เปิดเผยว่า ใน ต.ดอยเต่า มีพื้นที่ทั้งหมด 123 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรราว 6,024 คน โดยในจำนวนนี้รวมกลุ่มชนพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย อีกทั้งมากกว่า 80% ของประชากรเป็นผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รวมถึงเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงทั้งหมด 81 คน
ทั้งนี้ จากสภาพของพื้นที่ที่มีความหลากหลายของผู้คน และบางพื้นที่ค่อนข้างห่างไกลจาก อบต. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาล ประกอบกับข้อมูลสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงต้องมีการสื่อสาร และทบทวน เพื่อให้ประชาชนทุกคนใน ต.ดอยเต่า รับทราบถึงข้อมูลเหล่านั้นที่เป็นปัจจุบันที่สุด
นายอนุรักษ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น อบต.ดอยเต่า ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และมีภารกิจในการดูแลประชาชนในพื้นที่ในทุกๆ มิติ จึงได้จัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง อบต.ดอยเต่าขึ้น พร้อมกับร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัดและ อสม. ที่อาศัยอยู่ในทุกๆ หมู่บ้านในพื้นที่ ต.ดอยเต่า ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 10 หมู่บ้าน เพื่อทำหน้าที่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน แนะนำบริการ รวมไปถึงการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์จากผู้รับบริการ ตลอดจนเป็นตัวกลางในการประสานงานไกลเกลี่ยกับหน่วยบริการ
“อบต. อาจจะมีบุคลากรไม่เพียงพอที่จะดูแลได้ทั้งหมด จึงต้องทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ที่คอยให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ อบต. เช่น เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายชาติพันธุ์ อีกทั้งยังมีประธานกลุ่ม อสม. อ.ดอยเต่า ที่ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง อบต.ดอยเต่าอีกด้วย” นายอนุรักษ์ กล่าว
นายสอ ใจมา ประธานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง อบต.ดอยเต่า และประธาน อสม. อำเภอดอยเต่า กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์ฯ เปิดทำการมาเป็นเวลาประมาณ 1 เดือนแล้ว โดยขณะนี้ยังไม่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแ แต่ก็มีประชาชนให้ความสนใจสอบถามและปรึกษาด้านการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การสอบถามถึงความครอบคลุมในการรักษาของสิทธิบัตรทองต่อโรคที่เป็น กระบวนการขั้นตอนในการเข้ารับบริการอย่างไร การโอนย้ายสิทธิการรักษา ไปยังโรงพยายาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ฯลฯ
นอกจากนี้ จากการมีอีกบทบาทคือประธาน อสม. อำเภอดอยเต่า จึงได้มีการนำกลไกของ อสม. เข้ามาสนับสนุนการทำงานของศูนย์ฯ ซึ่งเป็นส่วนงานของท้องถิ่นด้วย จนก่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือในทำงานร่วมกันแม้จะต่างสังกัด โดยบทบาทการทำงานของ อสม. ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และไม่สะดวกเรื่องการเดินทาง
“ศูนย์คุ้มครองบัตรทองฯ สามารถที่จะประสานการทำงานร่วมกับ อสม. ซึ่งอาศัยอยู่ในทุกหมู่บ้าน ทั้ง 10 หมู่บ้าน การเกิดขึ้นของศูนย์ฯ จึงทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น และถือเป็นความหวังของประชาชนในการได้รับการคุ้มครองสิทธิ ได้รับความรู้ความเข้าใจ เพราะแม้จะมีข้อมูลเอกสาร แต่เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่รู้จะไปถามใคร การมีคนคอยอธิบาย ทำให้ชาวบ้านรู้สึกอุ่นใจมากกว่า เมื่อคนหนึ่งประสบปัญหาและได้รับการช่วยเหลือก็จะเกิดการบอกต่อ เล่าสู่กันฟัง และสื่อสารกันเองภายในชุมชน” นายสอ ระบุ
นางนันท์นภัส ก๋องแก้ว ตัวแทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการดูแลกลุ่มแรงงานนอกระบบใน จ.เชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่ ต.ดอยเต่า และผ่านการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยที่ได้รับการละเมิด และเข้าข่ายการได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พบว่ากลไกการสื่อสารคือสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยลดข้อขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจต่อกันและกันได้มากยิ่งขึ้น
มากไปกว่านั้น ในอีกบทบาทหน้าที่หนึ่งคือการทำงานดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ และพบว่าประชาชนกลุ่มนี้มักประสบปัญหาการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพราะในพื้นที่ ต.ดอยเต่า มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การใช้ภาษาในการสื่อสารจึงมีความแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ จึงควรจะมีกลไกกลางในการประสานงาน ที่จะทำหน้าที่ในการสื่อสารแทนประชาชน
“อบต.ดอยเต่า มีความพร้อมด้านงบประมาณ มีเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็ง และการที่ อบต. เป็นผู้จัดตั้งศูนย์ จะมีขั้นตอนที่ง่ายกว่าภาคประชาชน เพราะประชาชนต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ในการทำงานอาสาเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง จึงจะมีสิทธิในจัดตั้งศูนย์คุ้มครองบัตรทอง ขณะที่ อปท. สามารถจัดตั้งเองได้เลย มีความคล่องตัว มีความพร้อมในทุกๆด้าน และสามารถตอบสนองประชาชนได้ทันท่วงทีมากกว่า” นางนันท์นภัส กล่าว
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนมากแล้ว ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง มักจะดำเนินการโดยองค์กรภาคประชาชน มีทีมงานที่มาจากผู้นำชุมชนหรือจิตอาสา แต่ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง อบต.ดอยเต่า มีความพิเศษตรงที่เป็นศูนย์ที่ดำเนินงานโดยท้องถิ่น มีสำนักงานตั้งอยู่ในที่ทำการ อบต. มีนายก อบต. และเจ้าหน้าที่ร่วมเป็นทีมรับเรื่องร้องเรียนและทีมไกล่เกลี่ย มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ทราบถึงบทบาทหน้าที่ของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง
“ต้องขอบคุณทางเครือข่ายในพื้นที่และ ทาง อบต.ดอยเต่า ที่ให้ความสำคัญและลงมาขับเคลื่อนกับเรื่องนี้อย่างเต็มตัว สปสช. เราอยากเห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น เพราะ อบต. เทศบาล เป็นหน่วยงานที่ดูแลในพื้นที่อยู่แล้ว หากมาร่วมขับเคลื่อนขยายผลศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จะทำให้ อบต. เทศบาล สามารถดูแลประชาชนได้รอบด้านมากขึ้น และประชาชนเองก็จะเข้าถึงบริการของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองได้มากขึ้นด้วย" ทพ.อรรถพร กล่าว
- 58 views