“รมว.สมศักดิ์” เดินหน้าแก้ปัญหาจิตเวชยาเสพติด ปรับภารกิจ “กรมสุขภาพจิต” เดินเครื่องเต็มที่ปีงบประมาณหน้า พร้อมผลักดันร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิตใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น หวังสร้างบุคลากรดูแลองค์รวมทั้งจิตเวชและยาเสพติด เป็นคลื่นลูกใหม่สู่อนาคต
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กทม. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 23 ประจำปี 2567 ว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย ซึ่งในสถานการณ์โลกที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปสู่เทคโนโลยี นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งผลต่อการปรับตัวและการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังกันในการขับเคลื่อนงานสุขภาพจิต โดยเร่งการวิจัยพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ บุคลากรสมรรถนะสูง และระบบบริการด้านสุขภาพจิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหรือคลื่นลูกใหม่ (New S-Curve) ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าของงานสุขภาพจิตในอนาคต
ยกตัวอย่าง การยกระดับการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดและมินิธัญญารักษ์ การตรวจรักษาจิตเวชทางไกล การจัดตั้งหน่วยงานบูรณาการดูแลสุขภาพจิตและยาเสพติด และจัดตั้งกองทุนบำบัดผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนแบ่งปันทรัพยากร พัฒนากำลังคน เพื่อขับเคลื่อนงานให้บรรลุผลสำเร็จ พัฒนาระบบสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน ส่งผลให้ประชาชนและสังคมไทย มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน มีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข และอยู่ในสังคมอย่างทรงคุณค่า
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ยังเพิ่มงบประมาณในส่วนเรื่องการดูแลสุขภาพจิตมากขึ้น และมีสายด่วนในการดูแลตรงนี้ด้วย นี่เป็นจุดเริ่มต้นและจะไม่หยุดแค่นี้ จะขยายเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการปรับภารกิจยาเสพติดไปยังกรมสุขภาพจิตด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยดูเรื่องจิตเวชอย่างเดียว ก็จะดูเรื่องยาเสพติดด้วย ถือเป็น คลื่นลูกใหม่ (S-Curve) ในการสร้างสุขภาพจิตไทยสู่อนาคต (The New S-Curve of Mental Health)
“ขณะนี้เรายังมีร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ LAW ระบบกลางทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ซึ่งขอให้ไปแสดงความคิดเห็นกัน และเมื่อเข้าสภาฯ ก็ยังสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับแก้ไขได้อีกด้วย ซึ่งหลักๆ ร่างพ.ร.บ.ฯ จะเป็นการเพิ่มเติมภารกิจเรื่องยาเสพติด เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป และผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ซึ่งจิตเวชยาเสพติดจะมีโรคอื่นเข้ามาได้ ตรงนี้จะมีเรื่องการปรับภารกิจ การเพิ่มหน้าที่ มีบุคลากรที่เข้ามาดูแลเพิ่มขึ้นด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว
(ข่าว : เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิต วันนี้ถึง 8 ส.ค.67 เพิ่มหน้าที่จิตเวชยาเสพติด)
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงการตั้งกองทุนสุขภาพจิต ว่า การตั้งกองทุนสุขภาพจิต ก็เป็นหนึ่งในร่างพ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ เนื่องจากมองว่าในอดีตไม่มีประมวลกฎหมายยาเสพติด อย่างเดิมการยึดทรัพย์คดียาเสพติดได้ปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่เมื่อมีประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งเริ่มใช้มา 2 ปีกว่า พบว่า ตัวเลขยึดทรัพย์มีเกือบหมื่นล้านบาท โดยพบว่าเงินยึดทรัพย์พวกนี้สมควรเอามาดูแลผู้ป่วยได้ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาเงินจากงบประมาณมากเกินไป โดยตั้งเป้าว่า เงินจากกองทุนสุขภาพจิตที่จะตั้งขึ้นจะมาช่วยดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วย รวมไปถึงใช้ในเรื่องการบริหารจัดการ เป็นต้น
“เรื่องปรับภารกิจยาเสพติดไปกรมสุขภาพจิต ตอนนี้เดินหน้าแล้ว และอีก 2 เดือนจะเข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ก็จะเต็มตัวขึ้น” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ปี 2562 ประชากรโลกกว่า 970 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 8 ของโลก มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยปี 2565 การสูญเสียปีสุขภาวะจากกลุ่มโรคด้านสุขภาพจิต คิดเป็นสัดส่วนถึง 13% อีกทั้งการประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเองของประชากรกว่าหนึ่งล้านคน ผ่านแอพพลิเคชั่น Mental Health Check In ในปี 2566 พบว่า เครียดสูง 10.74% เสี่ยงซึมเศร้า12.63% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 7.59% และถึงแม้แนวโน้มความเสี่ยงด้านต่างๆ จะลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 แต่การจัดการด้านสุขภาพจิตให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี จำเป็นต้องอาศัยฐานแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบสุขภาพจิตดิจิทัลควบคู่การพัฒนาบุคลากร ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงองค์การอนามัยโลก ตลอดจนการศึกษาวิจัยร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างบริการด้านสุขภาพจิตที่มีคุณค่า พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมูลค่าสูงต่อไป
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 23 ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม -1 สิงหาคม 2567 เพื่อให้บุคลากรด้านสุขภาพ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิต และเครือข่ายสุขภาพจิต ระบบบริการสุขภาพและภาคีสังคม ทั้งในและต่างประเทศ ประมาณ 1,000 คน ได้มีเวทีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ นวัตกรรมใหม่ด้านสุขภาพจิตและจิตเวช รวมทั้งเผยแพร่ผลงานวิชาการ กิจกรรมประกอบด้วย การมอบรางวัล Mental Health Award 2 รางวัล ได้แก่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ Dr. Andrea Bruni Regional Advisor (Mental Health) WHO South-East Asia Region รางวัลเกียรติยศศ. นพ.ประสพ รัตนากร (ด้านสังคม) 4 รางวัล และรางวัลเกียรติยศ นพ.อุดม ลักษณวิจารณ์ (ด้านชุมชน) 12 รางวัล การปาฐกถาพิเศษ การบรรยาย การอภิปราย นิทรรศการ และการนำเสนอผลงานทางวิชาการ รูปแบบ Poster Presentation 128 เรื่อง Oral presentation 47 เรื่อง เป็นภาษาอังกฤษ 10 เรื่อง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
- 233 views