ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เผย มูลนิธิ-วัด 8 แห่ง ขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว เตรียมเพิ่มอีก 25 แห่ง   หนุนขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล จัดตั้ง “สถานชีวาภิบาล” เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้าย พร้อมชวน อปท. ทั่วประเทศร่วมมือผลักดัน

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2567 รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายขับเคลื่อน “สถานชีวาภิบาล” เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น นอกจากเป็นการจัดระบบบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ 

ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานที่ได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบายนี้และเพื่อขยายจำนวนสถานชีวาภิบาลในระบบสุขภาพเพื่อเป็นการรองรับสังคมสูงวัย จึงได้สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกตำบลในการร่วมจัดตั้งสถานชีวาภิบาล พร้อมการบูรณาการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงและผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งในส่วนของ อปท. ภาครัฐ และภาคเอกชน

รศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช. ยังได้เชิญชวนให้สถานชีวาภิบาลที่จัดตั้งขึ้นนี้ มาร่วมขึ้นทะเบียน “หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 เพื่อที่จะได้รับค่าบริการในการดูแลผู้ป่วยในอัตราตามประกาศหลักเกณฑ์ของ สปสช. ทั้งสถานชีวาภิบาลที่จัดตั้งโดยองค์กรพระพุทธศาสนา สถานชีวาภิบาลที่จัดตั้งโดยองค์กรศาสนาอื่นๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร สถานชีวาภิบาลในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถานชีวาภิบาลเอกชน ได้แก่ สถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) เป็นต้น  

ทั้งนี้ จากข้อมูลการดำเนินการตามนโยบายสถานชีวาภิบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2567 ได้กำหนดเป้าหมายในการจัดตั้งสถานชีวาภิบาล จำนวน 186 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานชีวาภิบาลที่มีความประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการฯ ตามมาตรา 3 กับ สปสช. โดยอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 33 แห่ง ขณะที่มีสถานชีวาภิบาลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการฯ ตามมาตรา 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 8 แห่ง โดยเป็นมูลนิธิ จำนวน 3 แห่ง และวัด จำนวน 5 แห่ง ดังนี้ 
1.  มูลนิธิคามิลเลียน โซเชียล เซนเตอร์ ปราจีนบุรี
2. บ้านพักผู้สูงอายุ เบธานี ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ต.สวนกล้วย อ.บ้างโป่ง จ.ราชบุรี
3. ศูนย์สันติภาวัน ต.ทรายขาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี
4. วัดหนองกระดูกเนื้อ ต.หนองนมวัว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์
5. วัดพระบาทน้ำพุ ต.เขาสามยอด อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี
6. วัดคำประมง ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
7. วัดห้วงหิน ต.บ้านนา อ.แกลง จ.ระยอง
8. วัดทับคล้อ ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร

รศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวต่อว่า การจัดตั้งสถานชีวาภิบาลนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง ทำให้มีงบประมาณเพื่อร่วมสนับสนุนให้การดูแลชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงรวมถึงผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยบูรณาการ่วมกับชุมชน องค์กรศาสนา องค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยเหล่านี้อาจยังขาดการเข้าถึงบริการที่จำเป็นและมีมาตรฐาน ขณะเดียวกันยังนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครอบครัวผู้ป่วยด้วย เพราะสมาชิกครอบครัวต้องลางาน ขาดรายได้ เนื่องจากต้องคอยดูแลผู้ป่วย ดังนั้นวันนี้ สปสช. ขอเชิญชวนให้ อปท. ทั่วประเทศมาร่วมกันสนับสนุนและผลักดันจัดตั้งสถานชีวาภิบาล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป