ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย กลุ่มเปราะบาง วัดป่าโนนสะอาด จ.โคราช อีกหนึ่งสถานชีวาภิบาล ที่ใช้หลักธรรมสู่ “ตายดีวิถีพุทธ”   เปิดโอกาสผู้ป่วยเป็น “อาจารย์ใหญ่ทางจิตวิญญาณ” ที่ยังมีชีวิตก่อนจากไปอย่างมีกุศลจิต พร้อมพัฒนาตัวชี้วัดระดับสติ ครั้งแรกร่วมกับ รพ.โชคชัย และมทส. ด้านพระอาจารย์แสนปราชญ์ มองเกณฑ์เบิกงบบัตรทองไม่ตอบโจทย์บริบทพื้นที่  

 

ศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย กลุ่มเปราะบางถูกทิ้งในรพ.

สถานชีวาภิบาล ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นบ้าน เป็นครอบครัวให้กับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่พวกเขาอาจไม่เคยได้รับมาก่อนเลย...

ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นอีกสถานที่พักพิงสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย กลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยยากไร้ ผู้สูงอายุที่ไร้คนดูแล รวมไปถึงการดูแลพระสงฆ์อาพาธ โดยให้พวกเขาได้มีโอกาสเข้ามารักษาตัวโดยใช้หลักธรรมนำทาง ที่เรียกว่า “ตายดีวิถีพุทธ” ผู้ป่วยสามารถเป็น “อาจารย์ใหญ่ทางจิตวิญญาณ” ที่สำคัญยังเป็นการสร้างบุญกุศลด้วยการละวางเตียงผู้ป่วยไอซียูให้กับผู้ป่วยเคสอื่นๆในโรงพยาบาล ประมาณการว่า การอยู่ห้องไอซียูแต่ละห้องเฉลี่ย 100,000 บาท เป็นการสร้างบุญอีกทางหนึ่ง

“ผู้ป่วยระยะท้าย ยังรวมถึงผู้ป่วยยากไร้ที่ขาดลูกหลานหรือญาติดูแล อย่างกรณีโรงพยาบาล(รพ.)โชคชัย มีผู้ป่วยยากไร้ นอนรักษาตัวมานาน 6 ปี เมื่อมีศูนย์แห่งนี้ขึ้น จึงรับมาดูแล  เป็นการทำงานเอื้อกัน ระหว่างรพ.และวัด ซึ่งต่อไป รพ.จะต้องมีปัญหาผู้ป่วยยากไร้ ญาติไม่รับกลับเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน ดังนั้น  หากไม่มีสถานชีวาภิบาล หรือศูนย์มารองรับจะเป็นอย่างไร...” เสียงของพระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม เจ้าอาวาสวัดป่าโนนสะอาด กล่าว

การนำผู้ป่วยระยะท้ายมาศูนย์พุทธวิธีแห่งนี้ พระอาจารย์แสนปราชญ์ ย้ำว่า ไม่ใช่ว่ารพ.จะผลักเขามาที่วัด เราจะอยู่ฝั่งตรงข้ามเขาไม่ได้ จะไปบอกว่า มาอยู่วัดเพื่อเตรียมตัวตาย แบบนั้นไม่ได้ ต้องดึงเรื่องใหม่เข้ามาโดยใช้หลักธรรม ทุกอย่างมีโอกาสหมด การปฏิบัติธรรมเป็นโอกาส และหมอยังติดตามดูแลเสมอ กำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ปัจจุบันศูนย์พุทธวิธี มีจิตอาสา 74 คน รวมทั้งพระสงฆ์ แม่ชี และประชาชน ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย กลุ่มเปราะบางเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเดือนละ 5 แสนบาท ไม่มีงบประมาณประจำจากภาครัฐ ได้รับการบริจาคจากแรงศรัทธาของประชาชน ที่ได้รับฟังการเทศนาธรรมะของพระอาจารย์แสนปราชญ์ ผ่านทางวิทยุมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) ช่วงเวลาตี 4 ตี 5 ทุกวัน ส่วนงบอื่นๆ ได้เป็นโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)

ช่องทางใช้งบรัฐ ไม่เอื้อบริบทพื้นที่จริง

เกิดคำถามว่า รัฐบาลประกาศนโยบายดูแลประชาชนผ่านระบบสุขภาพปฐมภูมิ การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายย่อมต้องอยู่ในนั้น ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบายสถานชีวาภิบาลต้องเกิดขึ้นทุกจังหวัด แต่เพราะอะไรงบประมาณถึงไม่เพียงพอ..

พระอาจารย์แสนปราชญ์ อธิบายว่า มีงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) คิดเป็นรายหัวประมาณกว่า 10,000 บาทต่อคน แต่การจะได้รับงบก้อนนี้ ต้องปฏิบัติตามตัวชี้วัดของสถานชีวาภิบาล กรมอนามัย ซึ่งใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก(WHO) เช่น การตายดีต้องเป็นไปตามแนวทางการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care  ผู้ดูแลต้องมีองค์ความรู้ ด้วยการผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด ซึ่งวัดแห่งนี้ไม่ได้มีแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบนั้น แต่วัดป่าโนนสะอาด ใช้จิตวิญญาณในการดูแลผู้ป่วยด้วยความเป็นธรรมชาติ และสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ จึงตัดสินใจไม่ปฏิบัติตามแนวทางเพื่อให้ได้รับงบประมาณ เพราะหากทำวิถีในการดูแลผู้ป่วยย่อมเปลี่ยนไป

ผู้ป่วยแม้กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย ดังนั้น ต้องมองย้อนกลับไปว่า ถ้าจะทำให้สถานชีวาภิบาลมีคุณภาพ จะต้องเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ใช้กันในพื้นที่ได้ ไม่ใช่ยึดและใช้ตัวชี้วัดจากองค์การอนามัยโลก อย่างหากพระสงฆ์ต้องไปอบรม 4 เดือนแล้วใครจะดูแลผู้ป่วย ใครจะอยู่วัด จริงๆ กรมอนามัยมาประเมินศูนย์แห่งนี้ ให้เป็นสถานชีวาภิบาลที่มีมาตรฐาน เพียงแต่เรื่องงบประมาณหากจะได้รับต้องทำตามเกณฑ์สปสช. ผ่านตัวชี้วัดต่างๆ  ซึ่งหากปฏิบัติตามมองว่าไม่สอดคล้องกับแนวทางการดูแลผู้ป่วย

“การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องให้พระได้ใช้องค์ความรู้ของพระในทางพระพุทธศาสนา ใช้หลักธรรมเป็นแนวทางดูแลผู้ป่วย ส่วนการดูแลเรื่องทางการแพทย์เป็นเรื่องของหมอ แต่สอนให้พระรู้จักการประสานความร่วมมือกับหน่วยบริการ เพื่อทำงานร่วมกันได้ แต่อย่าเปลี่ยนพระเป็นหมอ อย่างพระเดินไปกับ อสม. ถือกระเป๋า พูดเรื่องดูแลสุขภาพ ประชาชนจะเชื่อใคร เราอยากเปลี่ยนพระเป็นหมอ หรืออยากเปลี่ยนหมอเป็นพระ..” พระอาจารย์แสนปราชญ์ กล่าว

กล่าวคือ หากรัฐมีการปรับเปลี่ยนวิธีให้สอดคล้องกับพื้นที่ย่อมก่อประโยชน์และสอดคล้องการทำงานมากขึ้น

ตัวชี้วัดการตายดี คือ สติ

มาถึงจุดนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติ ตามหลักธรรมนำทาง คืออะไร..

หลักการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่จะมาอยู่ศูนย์แห่งนี้ ต้องทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดชีวิตในวาระสุดท้าย เป็นไปตามมาตรา 12 และอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพของตนตามมาตรา 7 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550  เพื่อเป็นธรรมทาน เรียกว่า “อาจารย์ใหญ่ทางจิตวิญญาณ”

โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อเข้ามาแล้ว นอกจากการสอนธรรมะ การฟังธรรมะแล้ว สิ่งสำคัญคือ การฝึก “สติ” และการฝึกปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางสติปัฎฐาน 4 นำหลักและวิธีการตายดีในพระพุทธศาสนา ด้วย “กายป่วย ใจไม่ป่วย” เน้นเรื่องการเตรียมพร้อมของชีวิต ส่งเสริมการเข้าถึงการดูแลระยะท้ายทุกมิติ

พัฒนาเครื่องมือวัดระดับสติ

ตัวชี้วัดของการตายดี คือ “สติ” ต้องรู้จักตัวเองว่ามี สติ หรือไม่  หากตั้งเจตนาว่ามีสติ ก็จะเป็นภาวะจิตเหนือสำนึก และเมื่อไหร่เรารู้ว่า เรามีสติไปในทางพ้นทุกข์ ไปทางกุศล  โดยให้ผู้ป่วยดูตรงนี้บ่อยๆ หลงก็รู้ว่าหลง รู้ก็รู้ว่ารู้ วัดสติตัวเอง  ซึ่งขณะนี้ พญ.ชมนาด โนนคู่เขตโขง นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ  แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รพ.โชคชัย กำลังจะทำเครื่องมือวัดระดับของสติ เป็นการทำทางการแพทย์  

“เมื่อเข้ามาจะมีวิธีการสอนหลักธรรม การปฏิบัติธรรมต่างๆ แต่เบื้องต้นให้ฟังธรรมะก่อน ส่วนใหญ่พวกเขาจะปฏิบัติได้ เพราะคนยิ่งทุกข์ จะยิ่งเห็นธรรม..”พระอาจารย์แสนปราชญ์ กล่าว

ด้าน พญ.ชมนาด  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในทางพุทธศาสนามีคำอธิบายเรื่องการตายดี แต่ปัญหา คือการวัดว่าแต่ละคนจิตอยู่ระดับใด ยังไม่มีเครื่องมือวัด จึงมีแนวคิดร่วมกับอาจารย์ มทส. ในการพัฒนาเครื่องมือซักถาม ร่วมกับการปฏิบัติของคนไข้ว่าปล่อยวางระดับไหน จากนั้นก็มาวัดทั้งระยะก่อนตาย เป็นอย่างไร เมื่อมีการฝึกสติปัฎฐาน 4  เป็นอย่างไร และหลังตาย ซักถามผู้ดูแลว่าคนไข้ห่วงอะไรหรือไม่ ทุรนทุรายในลมหายใจสุดท้ายหรือไม่ เราพยายามวัดให้เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งการศึกษาครั้งนี้เพื่อให้คนตายดีมากขึ้น เพราะการตายดีไม่ควรแค่ของศาสนาพุทธ แต่มนุษย์ทุกคนควรเข้าถึงการตายดี เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง ไม่เกี่ยวกับชนชาติ ศาสนาใดๆ  เพียงแต่หลักของศาสนาพุทธเป็นหลักสากล หากตัดศาสนาพุทธออก ก็คือ การฝึกสติ การพิจารณาฐานกาย ฐานจิต ฐานเวทนา ฐานอารมณ์ ทำให้คนไข้มีสติ ฝึกการปล่อยวาง ทางพุทธคือ เอาจิตวิญญาณนำ

“สิ่งที่ทำถือว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะหมอดูเรื่อง Palliative Care โรคทางกาย ความทุกข์ทรมานแม้ให้ยามอร์ฟีนก็ยังมีอยู่ แต่คนไข้ที่พระอาจารย์ดูแลกลับอยู่ได้ โดยไม่พึ่งยาแก้ปวดในเวลา 3 ปีที่เป็นโรครูมาตอยด์อย่างรุนแรง และยิ้มทุกครั้งที่มาพูดว่าปวดเต็ม 10 แต่มีแต่ความปวด แต่ไม่มีคนปวด นั่นคือ เขาปล่อยวางความปวด ดังนั้น เรามองว่าศาสตร์ตรงนี้ไม่ควรแค่ศาสนาพุทธ จึงมาขอทำการศึกษา เพื่อทำการเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางขึ้น” พญ.ชมนาด กล่าว

ผู้ป่วยระยะท้าย จุดเปลี่ยนสู่ธรรมะ

หนึ่งในผู้ป่วยระยะท้ายที่ฝึกหลักสติปัฎฐาน 4  “สนชัย แก้วเงิน” อายุ55ปี ชาวจังหวัดสระแก้ว ผู้ป่วยเบาหวานและไตวายเรื้อรังระยะท้าย เข้ามารักษาที่วัดป่าโนนสะอาดเพียง 6 วัน แต่กลับเข้าใจหลักธรรม และบอกเล่าว่า สมัยก่อนตอนวัยรุ่นไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง ใช้ชีวิตสุดๆ กินน้ำอัดลมเป็นขวดลิตรๆ คู่กับกินขนมขบเคี้ยว ไม่ออกกำลังกาย โดยช่วงแรกไปเจาะเลือดจนรู้ว่าป่วยก็ยังไม่สนใจ ไม่ดูแลตัวเอง อาการก็จะฉี่ตอนดึกบ่อยๆ จากนั้นร่างกายก็บวม อย่างกดไปที่น่อง เนื้อก็จะบุ๋มลง เป็นอาการของโรคไต นอนราบไม่ได้ เพราะน้ำท่วมปอด ไปรักษารพ.สระแก้ว

“จากที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูกไม่มีภรรยา อาศัยอยู่กับพี่สาวแต่เขาก็มีภาระ สุดท้ายได้รู้จักวัดป่าโนนสะอาดจากเพื่อนสมัยม.ปลายแนะนำจึงตัดสินใจมาขออยู่ที่นี่ ตอนนี้ผมไม่ทานยาแล้ว เพราะผมพร้อมจะไปแล้ว ปลงแล้ว จะภาวนาหายใจเข้าออกตลอด ฟังธรรมะอยู่เสมอ โดยจะมีแม่ชี มีเจ้าหน้าที่มาคอยดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันที่ผมทำเองไม่ได้”

สุดท้ายขอฝากถึงทุกคนว่า ขอให้ดูแลสุขภาพตัวเองดีๆ อย่ากินหวาน อย่ากินเค็ม ถึงจะอร่อย แต่อนาคต โรคถามหาแน่นอน...

ศูนย์เตรียมขยายการดูแล อยู่ได้ด้วยแรงศรัทธา

ทั้งนี้ ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด เตรียมพัฒนาขยายการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับอีก 100 เตียง งบประมาณราว 70 ล้านบาท และยังมีหลักสูตรการบรรยายธรรมะออนไลน์เพื่อให้ผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่บ้านได้ร่วมปฏิบัติ โดยไม่ต้องมาที่นี่

ผู้ใดประสงค์เข้ารับการดูแล หรือต้องการร่วมเป็นจิตอาสา หรือร่วมสมทบการดำเนินการของศูนย์ฯ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร  08-3125-6375   หรือติดต่อผ่านเฟซบุ๊ก วัดป่าโนนสะอาด ศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะสุดท้าย