เสริมศักยภาพ "กุฏิชีวาภิบาลดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย" เน้นพัฒนาอบรม "พระคิลานุปัฎฐาก" ให้มีศักยภาพเพียงพอ พร้อมสร้างภาคีเครือข่ายเข้มแข็ง หวังดูแลพระสงฆ์-ประชาชนทุกมิติ ครอบคลุม 13 เขตสุขภาพใน กทม.เข้าถึงการรักษาได้ง่าย สอดรับนโยบาย สธ.
วานนี้ 31 พ.ค. 2567 โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2567 ในหัวข้อ "ชีวาภิบาล สร้างสุขภาวะ พระสงฆ์ไทย " ณ ห้องประชุมสลากกินแบ่งรัฐบาลชั้น 9 ตึกกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์ ในวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2567 ภายในงานมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การจัดตั้งกุฎิชีวาภิบาล ใน 13 เขตสุขภาพ"
โดย ดร.ดุษฎี ใหญ่เรืองศรี รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันมีพระสงฆ์อาพาธเข้าสู่ระยะสุดท้ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมีเจตนารมณ์อยากกลับไปมรณภาพที่วัด กลับไปขอเยี่ยมญาติถึงแม้จะบวชแล้วก็ตาม จึงได้คิดทำโครงการในปี 2565 คือ โครงการกุฏิสงฆ์อาพาธ ซึ่งเราทำ MOU กับ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.)โดยมีการแบ่งเป็น 4 ภาค หรือ 4 หน ได้แก่ หนเหนือจังหวัดน่าน หนตะวันออกจังหวัดขอนแก่น หนกลางจังหวัดราชบุรี และภาคใต้จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ไปดูสถานที่ที่เหมาะสมว่าควรจะตั้งที่วัดไหนอย่างไร ต่อมาในปี 2566 โรงพยาบาลสงฆ์ ได้มีการขับเคลื่อนและผลักดันโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และได้มีการปรับชื่อโครงการเป็นกุฏิชีวาภิบาล ต่อมาในปีพ.ศ. 2567 กลายเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขโดยนำร่องชื่อว่า "ธรรมะจัดสรร" โดยเราได้ตั้งเป็นกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบ 13 เขตสุขภาพในแต่ละเขตให้มี 1 กุฏิชีวาภิบาล
ด้าน พว.สมจิต สุขสง หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการพยาบาล กล่าวว่า การที่จะมีกุฏิชีวาภิบาลได้เจ้าอาวาสต้องให้การยินยอม เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะภาค ต้องสนับสนุนในการจัดตั้ง รวมทั้ง เครื่องมือทางการแพทย์ต้องมีความพร้อม เช่น เครื่องดูดเสมหะ เครื่องออกซิเจน ปลอทวัดไข้ เตียง รถเข็นผู้ป่วย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ร่วมดูแลด้วย รวมทั้งภาคีเครือข่ายด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ให้การสนับสนุนจนได้เป็นกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบจนถึงปัจจุบัน วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกุฎิติชีวาภิบาล คือ 1. สามารถเป็นสถานที่ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายให้ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมทุกมิติ 2. เป็นต้นแบบในการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาล 3. พัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฎฐากด้านความรู้ ในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ระยะท้าย 4. ส่งเสริมสนับสนุนให้พระคิลานุปัฎฐากดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในวัดสามารถให้คำแนะนำ ดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ภายในวัดและประชาชนในชุมชนได้ 5. เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายในการดูแลรักษาสุขภาพพระสงฆ์แบบประคับประคอง
ในส่วนแนวทางในการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลนั้น จะต้องมีทำเลที่สะดวกร่มรื่นไม่มีเสียงรบกวนปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงมีความมั่นคงแข็งแรงไม่อยู่ในสภาพชำรุดและเสี่ยงต่ออันตรายจากการใช้สอย ซึ่งบางแห่งมีอาคารชำรุด แต่ก็จะมีการปรับปรุงเพื่อ ให้เป็นแห่งใหม่ที่จะรองรับ พระสงฆ์อาพาธได้ สำหรับอาคารตั้งแต่ชั้น 3 ขึ้นไป จะต้องมีลิฟต์หรือมีทางลาดเอียงในการเคลื่อนย้ายพระสงฆ์อาพาธ การสัญจรและการเคลื่อนย้ายพระสงฆ์อาพาธต้องกระทำได้โดยสะดวก สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยมีขนาดพื้นที่ห้องเหมาะสมและมีสิ่งอำนวยความสะดวก อีกทั้งห้องให้การรักษาเป็นสัดส่วนและมิดชิด ห้องน้ำห้องส้วมต้องถูกสุขลักษณะมีราวเกาะและรถเข็นเข้าได้ แสงสว่างและการระบายอากาศเพียงพอไม่มีกลิ่นอับทึบ มีระบบการเก็บและกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลและระบบการควบคุมการติดเชื้อที่เหมาะสม
สำหรับบทบาทหน้าที่ของพระคิลานุปัฎฐาก ต้องเป็นผู้มีใจกรุณาเต็มใจเข้ามาช่วยดูแลพระสงฆ์อาพาธ มีความรับผิดชอบ ผ่านการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้ป่วย/ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย สามารถประสานงานด้านสุขภาพพระสงฆ์กับคณะสงฆ์และหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ เฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสุขภาพพระสงฆ์ในวัดและชุมชน รวมถึงให้คำปรึกษา แนะนำ ถ่ายทอดความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพแก่โยมอุปัฎฐากและชุมชน และดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดีด้านสุขภาพตามหลักธรรมวินัย พว.สมจิต กล่าว
ขณะที่ พว.ชวลี เครือสุคนธ์ หัวหน้าหน่วยอภิบาลคุณภาพชีวิต กล่าวว่า นอกจากผูู้ดูแลจะเป็นผู้ที่มีใจเมตตากรุณาเต็มใจแล้วนั้น ที่สำคัญคุณสมบัติของผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายจะต้องผ่านหลักสูตร การอบรมพระ อาพาธระยะท้ายสำหรับคิลานุปัฎฐาก ซึ่งหลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อพัฒนาศักยภาพคิลานุปัฎฐาก/โยมอุปัฏฐาก ในด้านความรู้ความเข้าใจมีทักษะในการดูแลสุขภาพพระอาพาธแบบประคับประคองที่เอื้อต่อพระธรรมวินัยกายในวัดได้ 2. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้พระคิลานุปัฎฐา/โยมอุปัฎฐาก มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในวัดและสามารถให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ ภายในวัดและประชาชนในชุมชนได้ 3. เพื่อเตรียมการรองรับระบบการดูแลสุขภาพพระอาพาธระยะท้าย เนื่องจากโรงพยาบาลสงฆ์ที่ไปจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบ ในเขตสุขภาพต่างๆ เราจะเน้นที่การดูแลสุขภาพการดูแลพระอาพาธในระยะท้ายแบบประคับประคอง และ 4. เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายในการดูแลรักษาสุขภาพพระอาพาธแบบประคับประคอง
โรงพยาบาลสงฆ์ได้ไปขอความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรจากเขตสุขภาพที่ 7 ว่าเราอยากจะดูแลพระอาพาธระยะท้ายเนื่องจาก เมื่อท่านอยู่ในระยะท้ายแล้วมีความประสงค์ต้องการที่จะไปมรณภาพที่วัด หรืออาการในการดูแลระยะท้ายนั้นโรงพยาบาลอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้อยู่รพ.แล้ว จะต้องกลับไปดูแลที่วัด แต่ปัญหาที่วัดคือ ไม่มีสถานที่ ไม่มีผู้ดูแล เมื่อท่านกลับไปอยู่ที่บ้านให้ลูกหลานดูแล ลูกหลานอาจจะไม่มีเวลาดูแล หรืออาจจะไม่มีลูกหลานดูแล เพราะบวชมานานแล้ว ทิ้งครอบครัวเดิมมานานแล้วไม่มีผู้ดูแลท่านจำเป็นจะต้องลาสิกขาบท ทั้งๆที่บวชมา 30-40 พรรษา แต่พอจะมรณภาพภายใต้ผ้าเหลืองไม่สามารถจะทำได้ ถือเป็นที่น่าเวทนาเป็นอย่างยิ่ง พว.ชวลี กล่าว
ทั้งนี้ จึงได้มีการจัดทำหลักสูตรเฉพาะสำหรับพระคิลานุปัฎฐากในการดูและพระอาพาธระยะท้าย ซึ่งก็คือ การให้พระคิลานุปัฎฐากอธิบายแนวคิดและหลักการพยาบาล ผู้ป่วยแบบประคับประคองได้ อธิบายความปวดและการเจ็บป่วยระยะท้ายได้ สามารถประเมินภาวะสุขภาพความต้องการวินิจฉัยปัญหาและการจัดการทางการพยาบาลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ จิตสังคม และจิตวิญญาณ โดยใช้เครื่องมือมาตรฐานได้ อีกทั้งต้องสื่อสารและให้การปรึกษาเพื่อการรักษาในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองได้ นอกจากนี้ยังต้องวางแผนและปฏิบัติการพยาบาลเพื่อจัดการความปวดอาการต่างๆและความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวทั้งด้านร่างกาย จิตใจ จิตสังคม และจิตวิญญาณ และวางแผนปฏิบัติการพยาบาลเพื่อการดูแลระยะท้ายของชีวิต และการช่วยเหลือครอบครัวภายหลังการเสียชีวิตได้ รวมถึงประสานงานการส่งต่อ ร่วมกับทีมแพทย์พยาบาล สหวิชาชีพ และครอบครัวผู้ป่วยในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
- 881 views