ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ด้านสุขภาพของฆราวาสและพระสงฆ์ เพิ่มสูงด้วยโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุ และโรคหัวใจขาดเลือด ปี 2564 พบพระอาพาธระยะท้าย 9,655 รูป กรมการแพทย์ ตั้งกุฏิชีวาภิบาลดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย สอดคล้องกับนโยบาย สธ. ในโครงการ “สุขภาพคนไทย เพื่อสุขภาพประเทศไทย” พร้อมจัดประชุมวิชาการ “ชีวาภิบาล สร้างสุขภาวะ พระสงฆ์ไทย” 

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ด้านสุขภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน พบการเสียชีวิตของคนไทยทั้งฆราวาสและพระสงฆ์เพิ่มสูงมากขึ้นโดยอันดับต้นๆ ของประเทศไทย คือ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุ และโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งโรคเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ระยะท้ายมักจะพบกับความทุกข์ทรมานจากการรักษาที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์ จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประจำปี 2564 พบว่ามีวัดทั่วประเทศจำนวน 43,562 วัด มีพระสงฆ์สามเณรจำนวนประมาณ 241,368 รูป และพระอาพาธระยะท้ายจำนวน 9,655 รูป ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พระสงฆ์สามเณรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

กรมการแพทย์ จึงได้กำหนดนโยบายเรื่องการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาล เพื่อเป็นสถานที่ดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้ายซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในโครงการ “สุขภาพคนไทย เพื่อสุขภาพประเทศไทย” และเพื่อเป็นการพัฒนาและต่อยอดการอุปัฏฐากพระสงฆ์อาพาธที่เอื้อต่อพระธรรมวินัย โรงพยาบาลสงฆ์จึงจัดโครงการประชุมวิชาการประจำปี 2567 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “ชีวาภิบาล สร้างสุขภาวะ พระสงฆ์ไทย” ดังกล่าว

นายแพทย์อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลสงฆ์ให้บริการทางการแพทย์ทั้งระดับตติยภูมิหรือสูงกว่า รวมถึงการอุปัฏฐากพระสงฆ์ระยะสุดท้ายของชีวิต โดยการดำเนินการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบ เพื่อเป็นสถานที่ดูแลพระสงฆ์ที่มีภาวะพึ่งพิง พระสงฆ์สูงอายุ ติดกุฏิ ติดวัด และพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย เพื่อให้เกิดความครอบคลุมการดูแลพระสงฆ์อาพาธทั่วประเทศในทุกมิติ อีกทั้งยังมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและพระคิลานุปัฏฐากให้มีความรู้ความสามารถมีทักษะมีความพร้อมความมั่นใจ เพื่อให้การดูแลอุปัฏฐากได้อย่างเหมาะสมไม่ว่าจะอยู่ที่วัดหรือโรงพยาบาล 

การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ก็เพื่อให้บุคลากรได้เพิ่มศักยภาพในการจัดบริการและดูแลพระสงฆ์อาพาธ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ซึ่งมีรายละเอียดหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ 

  • ธรรมะกับการดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย
  • มุมมองทางธรรมะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
  • การจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบใน 13 เขตสุขภาพ
  • สังฆทานบุญ พระคุณเจ้าได้ใช้ คนถวายได้บุญ

โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ ซึ่งสามารถรับผู้สนใจเข้าร่วมประชุมได้ประมาณ 300 คน ทั้งจากโรงพยาบาลเครือข่าย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ บุคลากรโรงพยาบาลสงฆ์ และประชาชนผู้สนใจทั่วไป โดยจัดขึ้นในรูปแบบออนไซต์ และออนไลน์ ระหว่างวันที่ 30 – 31พฤษภาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. ณ ห้องประชุมสลากกินแบ่งรัฐบาล ชั้น 9 ตึกกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลสงฆ์ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมวิชาการดังกล่าว โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มงานวิจัย ถ่ายทอด และสนับสนุนวิชาการ โรงพยาบาลสงฆ์ โทร 0 2640 9537 ต่อ 5433

นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการจัดบูธของภาคเอกชน

- บูธเพิ่มบุญ เป็น 1 ใน ภาคีเครือข่ายของโรงพยาบาลสงฆ์ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของโครงการกุฏิชีวาภิบาล จนสามารถจัดตั้งและร่วมเปิดงานกุฏิชีวาภิบาลที่วัดไทร พระราม 3 จังหวัดกรุงเทพฯ และ วัดผึ่งแดด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้อย่างสำเร็จ โดยเพิ่มบุญ จะจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ข้าวสาร, อาหารแห้ง, อาหารสำหรับผู้ป่วย NCDs กินดีอยุ่ดีอร่อยดี, น้ำดื่ม, ชุดยา และเวชภัณฑ์ เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งสนับสนุนโครงการกุฏิชีวาภิบาลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และผู้ใจบุญยังสามารถฝากเพิ่มบุญให้เป็นสะพานบุญส่งต่อผลิตภัณฑ์หรือปัจจัยให้ผู้ที่เดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยติดเตียงยากไร้, เด็กกำพร้า, วัดที่ห่างไกล รวมถึงภิกษุอาพาธในกุฏิชีวาภิบาล 

- บูธโครงการขอให้หายดี by Haidee โครงการเพื่อสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงยากไร้ ที่มีแผลกดทับ ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบล, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล ในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่มีภาวะพึ่งพิง โดยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดแผล และ จัดอบรมการดูแลแผลกดทับแบบบูรณาการ ให้แก่ พระคิลานุปัฏฐาก, เจ้าหน้าที่ อสส., อสม., Care Giver และ ญาติผู้ป่วย ให้มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง