เปิดข้อบังคับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม. ไม่มีระเบียบกำหนดให้กู้มาใช้ก่อนได้ ด้าน "สมศักดิ์" แจงให้กู้จากธนาคารแบบดอกต่ำ แต่มี ฌกส.-เงินค่าป่วยการ หรือ พรบ.อสม.  "ค้ำประกัน" ไม่หวั่นซ้ำรอยหนี้ ช.พ.ค.ครู ยันไม่ได้เปิดช่องให้เป็นหนี้เพิ่ม แต่เอาไปใช้ลงทุน ทำปศุสัตว์ได้ ลั่นรัฐบาลก็ยังต้องกู้ ชี้เงินยึดทรัพย์แจ้งเบาะแสยาเสพติดเอาเข้ากองทุน อสม.ได้  

 

จากกรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า จะมีการเปิดช่องให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สามารถนำเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม.หรือเงิน ฌกส.อสม.ออกมาใช้ก่อนได้ โดยจะให้มีธนาคารเข้ามาร่วมดำเนินการเกี่ยวกับการกู้เงิน

 

แล้วเงิน ฌกส.อสม.คืออะไร

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามข้อมูลของเว็บไซต์สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย ระบุว่า ฌกส.อสม.มีการก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน  2562 โดยมติของกรรมการบริหารชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับ อสม. มีหลักประกันความมั่นคง เสริมสร้างขวัญและกำลังใจ ตอบแทนคุณงามความดีของ อสม. ที่มีจิตอาสา เสียสละ เข้ามามีส่วนร่วมดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน

 

ขณะที่ข้อบังคับฌาปนกิจสงเคราะห์อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2562 ระบุถึงเงิน ฌกส.อสม.ไว้ในหมวด 5 เงินค่าสมัคร เงินค่าบำรุง และเงินสงเคราะห์ ว่า ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมต้องชำระเงินค่าสมัครคนละ 100 บาท ชำระเงินบำรุงปีละ 25 บาท เมื่อสมาชิกของสมาคมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย สมาชิกทุกคนมีหน้าที่ต้องชำระเงินสงเคราะห์นั้นรายละ 50 สตางค์

 

ส่วนการนำเงินไปใช้มีระบุอยู่ในหมวด 7 คือ นำไปจ่ายเป็นเงินค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวให้แก่บุคคลที่สมาชิกระบุไว้ ดังนี้ สามี ภริยา บุตร บิดา มารดา พี่น้อง ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ผู้อุปการะเลี้ยงดู หรืออยู่ในอุปการะเลี้ยงดู

 

รวมถึงหมวด 8 การใช้จ่ายและการเก็บรักษาเงิน ที่ระบุถึงสมาคมจะนำเงินไปใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ เช่น ค่าเบี้ยประชุม ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ เงินเดือนค่าจ้างเจ้าหน้าที่สมาคม ค่าใช้จ่ายการประชุม อบรม จัดซื้อที่ดิน ครุภัณฑ์ ค่าเช่าที่ดิน อาคารสำนักงาน ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค เป็นต้น

 

ส่วนคุณสมบัติสมาชิก ฌกส.อสม. มีการแก้ไขเเพิ่มเติมในปี 2565 คือ บุคคลดังต่อไปนี้ที่สมัครใจเป็นสมาชิกสมาคมและยินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีส่งเข้าสมาคม หรือมีบุคคลส่งเงินเข้าสมาคมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1.อสม.ซึ่งขึ้นกับทะเบียนกับ สธ. รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร (อสส.)

2.คู่สมรม อสม./อสส.

3.ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

4.ข้าราชการ หรือพนักงานราชการผู้รับผิดชอบงานสุขภาพภาคประชาชนในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

5.ข้าราชการ หรือพนักงานราชการผู้รับผิดชอบงานสุขภาพภาคประชาชนในสังกัดสำนักอนามัย กทม.

6.ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ผู้รับผิดชอบงานสุขภาพภาคประชาชนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

7.พนักงาน ลูกจ้างสมาคม 

8.คนที่ถูกคัดชื่อออกจากสมาคมต้องรอ 2 ปีถึงสมัครใหม่ได้ นอกจากนี้ ต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเป็นคนไร้ความสามารถ และมีสุขภาพแข็งแรง

สมศักดิ์ ไม่หวั่นเงินกู้ ฌกส.อสม.ซ้ำร้อยหนี้ ช.พ.ค.ครู

จากข้อบังคับดังกล่าวไม่มีเรื่องของการกู้เงินออกมาใช้ก่อนแต่อย่างใด ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องนี้ต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ว่า เงินกู้ ฌกส.อสม.จะซ้ำรอยกับเหตุการณ์เงินกู้ ช.พ.ค.ของครูหรือไม่ ที่นำเงิน ช.พ.ค.ไปค้ำประกัน

นายสมศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาก็มีการกู้ไม่น้อย ถ้าให้กู้มากแล้วดอกเบี้ยน้อยทำอย่างไร ก็เชิญธนาคารมาหลายธนาคารที่สามารถช่วยได้ ซึ่ง อสม.มี 1 ล้านกว่าคน ถ้ากู้คนละ 2-3 แสนบาท ปีหนึ่งเป็นเงินราว 2-3 แสนล้านบาท เรามองดูแล้ว รัฐบาลต้องการทำให้เงินสะพัด แต่ไม่ได้ขอเปล่า คือ ขอกู้แล้วเงินก็สะพัด โดยมีหลักทรัพย์ที่เราทำให้ คือ พ.ร.บ.อสม. อยู่จนตายได้เงินค่าป่วยการตลอด รวมถึงมีเงิน ฌกส.อสม.เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

 

"เราเชิญชวนธนาคารเข้ามาร่วมกันคิด ตอนนี้ก็มีธนาคารออมสินมาหารือด้วยแล้ว ซึ่งดอกเบี้ยก็จะต้องต่ำ ที่มีการหารือคือ 6% แต่อยากได้น้อยกว่านั้น หรือเมื่อ อสม.ทำงานแล้วช่วยลดการใช้จ่ายงบประมาณ ก็ไปตั้งที่ สปสช.ถ้าลดการใช้งบประมาณอย่างโรค NCDs ลงได้ ก็มอบให้หน่วยงานของ สธ.ไปคิดว่าถ้าลด NCDs ได้แล้วจะใส่เงินเข้ากองทุน อสม.เท่าไร ตรงนี้ถือเป็นแรงจูงใจ (Insentive) ให้แก่ อสม." นายสมศักดิ์กล่าว

 

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า หรือการยึดทรัพย์ยาเสพติดจากการแจ้งเบาะแสต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หาก อสม.ไม่กล้าแจ้งเบาะแสเพราะกังวลเรื่องชื่อผู้แจ้ง ก็ให้ระบุว่าเป็น อสม. แล้วให้เงินยึดทรัพย์คดียาเสพติดจากที่แจ้งเบาะแสไปเข้ากองทุน อสม. แต่กองทุนนี้จะตั้งขึ้นเมื่อมี พ.ร.บ.อสม.ออกมาซึ่งกำหนดให้ตั้งกองทุน อสม.

 

ถามว่าการนำฌาปนกิจสงเคราะห์ของ อสม.ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.อสม.หรือสามารถออกประกาศกระทรวงได้ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องเขียนใน พ.ร.บ.ให้สามารถทำได้ เช่น เงินในกิจกรรมกองทุน เช่น ฌาปนกิจให้เขาผูกไว้ในมาตรา

 

ถามว่าเงินกู้ ฌกส.อสม.จะเป็นการเพิ่มการกู้หนี้ยืมสินให้ อสม.เป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แล้วรัฐบาลไม่กู้หรือ รัฐบาลก็ต้องกู้ กู้ก็ต้องเป็นหนี้ จะไปปล้นเขามาเฮยๆ ได้ที่ไหน ถ้านิยมจะใช้เงินเพื่อการลงทุน จริงๆ ตนอยากแก้ปัญหาความยากจนให้กับผู้คนด้วย ที่กู้ออกมาไม่จำเป็นต้องกู้เป็นแสน อาจจะกู้ไปลงทุน ไปทำปศุสัตว์ เป็นต้น