ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการ รพ.แม่สอด แจงข้อเท็จริง หลังแชร์ว่อนไลน์ อ้างผอ.รพ.เตือน “วัณโรคระบาด” ฝั่งชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ขอให้ชาวบ้านป้องกันตนเอง ยืนยันยังไม่มีข้อมูลระบาด อยู่ระหว่างตรวจสอบ ตัวเลขไม่แตกต่างจากเดิม พร้อมแนะวิธีสังเกตอาการแบบใด ควรพบแพทย์

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีการส่งไลน์ข้อความระบุเตือนการระบาดของ “วัณโรค”  บริเวณชายแดนอ.แม่สอด จ.ตาก ระบุว่า

“ เรียน นายด่านฯ.,ผอ.สบศ., หน.ฝ่าย ทุกฝ่าย.,และเจ้าหน้าที่ด่านฯ ทุกท่าน  นายแพทย์รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผอ.โรงพยาบาลแม่สอด ฝากเตือนมา ว่าช่วงนี้ ฝั่งเมียนมา (ชเว โก๊กโก) มีการระบาดวัณโรค (เอกซเรย์ประชากร 100 คน  พบ 50 คน) จึงขอให้พวกเราสวมใส่แมสเพื่อป้องกันการระบาด..”

ล่าสุดวันที่ 25 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้โทรศัพท์สอบถาม นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผอ.โรงพยาบาลแม่สอด  จ.ตาก ถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่า สืบเนื่องจากวันก่อนมีการประชุมร่วมเครือข่าย และมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการติดตามการดำเนินงานต่างๆ โดยหนึ่งในข้อมูลที่มีการรายงาน คือ การพบการติดเชื้อวัณโรคในชุมชนจีน ซึ่งทุกปีมีการติดเชื้ออยู่แล้ว เพียงแต่การรายงาน เพื่อติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังป้องกันการระบาด

“ปีนี้อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ตัวเลขไม่ได้บ่งบอกว่า เกิดการระบาดเป็นหลักพันคน แต่เป็นข้อมูลจากกลุ่มเสี่ยงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ยังไม่ยืนยันว่าเกิดการระบาดแล้ว แต่เข้าใจว่าในที่ประชุมอาจเอาข้อมูลไปเตือนกัน จนทำให้ตื่นตระหนกไปก่อน” นพ.รเมศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากข้อมูลในไลน์ที่ส่งต่อกัน ระบุว่า เอกซเรย์ 100 คน พบวัณโรค 50 คน ใช่หรือไม่ นพ.รเมศ กล่าวว่า ใช่ แต่ทางระบาดวิทยายังตอบไม่ได้ว่า ในกลุ่ม 100 คนเป็นกลุ่มไหนอย่างไร มีปัจจัยเสี่ยงอะไร แต่จากการรายงานในที่ประชุม ทางหน่วยงานเกี่ยวข้อง กำลังติดตามข้อมูลเพิ่มเติม

“สิ่งสำคัญคือ อย่าตื่นตระหนก แต่การระมัดระวังตัวก็เป็นสิ่งที่ควรทำ  โดยหมั่นสังเกตอาการต่อไปนี้ หากมีควรรีบพบแพทย์ใกล้บ้านเพื่อตรวจวินิจฉัย เช่น ไอเรื้อรังนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้เรื้อรัง มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรค เป็นต้น” ผอ.รพ.แม่สอด กล่าว  

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เผยแพร่ข้อมูลวัณโรคยังคงระบาดและยังเป็นปัญหาในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2566 ประมาณการว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 300 กว่ารายต่อวัน และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 40 รายต่อวัน และประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรไทย ติดเชื้อวัณโรคแล้ว   แต่จะมีแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ป่วยเป็นวัณโรค อันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลงจากโรคประจำตัว หรือเป็นผู้สูงอายุ   

วัณโรคเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ติดต่อจากผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากปิดจมูก อาการสำคัญของผู้ป่วยวัณโรคที่เห็นได้ชัด คือ ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ น้ำหนักลด มีเหงื่อออกผิดปกติในเวลากลางคืน เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ซึ่งถ้าหากมีอาการไอมีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้อง ป้องกันภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิต

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคมากกว่าประชากรทั่วไป ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ต้องขังหรือผู้อาศัยในสถานคุ้มครอง และคนพิการ ผู้ใช้สารเสพติด ผู้ติดสุราเรื้อรัง บุคลากรสาธารณสุข กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรคและกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค มีโอกาสที่จะติดเชื้อวัณโรคได้ หากสงสัยว่าตนเองสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค (เช่นกรณี อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย) ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว  

ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร. 02 211 2224 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422