ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์ จัดโครงการตรวจยีน NAT2  ผู้ป่วยวัณโรคหายีนเพื่อปรับระดับยาให้เหมาะสม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เริ่ม 28 ก.ค. 67  ตั้งเป้าตรวจผู้ป่วยรายใหม่ 1 หมื่นราย ด้าน รมว.สธ.เตรียมดันเข้าชุดสิทธิประโยชน์บัตรทอง  หวังอนาคตยุติวัณโรคได้ตามเป้า หลังองค์การอนามัยโลกระบุไทยพบโรคติด 1 ใน 30

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม  ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดโครงการตรวจวิเคราะห์แนททู ไดโพลทัยป์ (NAT2 diplotype) ด้วยเทคนิคเรียลไทม์พีซีอาร์ (Real-time PCR) เพื่อใช้ประกอบการปรับระดับยาต้านวัณโรค Isoniazid  (ไอโซไนอะซิด) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีนพ.ยงยศ  ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยผู้บริหาร ร่วมงาน

ผู้ป่วยวัณโรค 8 หมื่น เสียชีวิตปีละ 7.8 พันคน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทย เป็น 1 ใน 30 ประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำกว่า 80,000 คนต่อปี และเสียชีวิตประมาณ 7,800 รายต่อปี การรักษาวัณโรคจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยได้รับยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งผลข้างเคียงของยาต้านวัณโรคทำให้มีอาการตับอักเสบ ผู้ป่วยบางรายจึงต้องหยุดยา การรักษาจึงไม่มีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุข จึงนำเทคโนโลยีนวัตกรรมการตรวจ NAT2 diplotype (แนททู ไดโพลทัยป์) มาใช้ มีเป้าหมายเพื่อตรวจหายีนย่อยยาวัณโรคในผู้ป่วย ให้แพทย์ผู้รักษามีข้อมูลไว้ใช้ปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ลดการเกิดตับอักเสบจากยาต้านวัณโรคทำให้รับยาได้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายในการยุติวัณโรค

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า บางคน NAT2 diplotype ทำงานดี ยาที่ให้เข้าไปจะถูกย่อยสลายเร็ว ก็มีผลต่อการรักษา หรือบางคน NAT2ไม่ค่อยทำงาน ทำให้เกิดโรคซ้อนขึ้นมา เช่น ตับอักเสบ ดังนั้น การตรวจหา NAT2 ในผู้ป่วยวัณโรคจึงเป็นประโยชน์ต่อการรักษา จะทำให้แพทย์ทราบว่าต้องให้ยาอย่างไรจึงเกิดประสิทธิภาพขึ้น จะช่วยลดอัตราการตายได้ โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ไทยยังมีวัณโรค 1  ใน 30 ซึ่งเราต้องจัดการโรคนี้ให้ได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจดีเอ็นเอใช้เงินเยอะ 5-6 พันบาท แต่ครั้งนี้ไม่ต้องใช้เงินมาก เราตรวจเฉพาะตัว NAT2 diplotype ซึ่งไม่แพงมาก

 

เตรียมผลักดันเข้าชุดสิทธิประโยชน์ฟรี

“ ปัจจุบันการตรวจนี้ยังไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ แต่ผมในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) จะผลักดันเรื่องนี้ให้เข้าสู่สิทธิประโยชน์ต่อไป เพราะดูแล้วค่าใช้จ่ายไม่สูง และเป็นประโยชน์ นายสมศักดิ์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผู้ป่วยวัณโรค ส่วนหนึ่งพบมากในเรือนจำ ก็อยากทำตรงนี้เพื่อให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นจากการรักษาที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดทำโครงการตรวจวิเคราะห์ NAT2 diplotype ด้วยเทคนิค Real-time PCR เพื่อใช้ประกอบการปรับระดับยาต้านวัณโรค Isoniazid ในผู้ป่วยวัณโรค จำนวน 10,000 ราย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้การแพทย์จีโนมิกส์หรือการแพทย์แม่นยำเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคตามยุทธศาสตร์ที่ 2 ของแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ในการยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาตามมาตรฐานสากล

เมื่อถามว่าเริ่มต้นตรวจ 10,000 ราย และจะขยายเพิ่มจนถึง 80,000 รายใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ใช่

ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยวัณโรคต้องกินยาอย่างน้อย 6 เดือน  หรือหากมีปัญหาสุขภาพต้องกินนาน 8 เดือน แต่คนไทยครึ่งหนึ่งมีปัญหาในการย่อยยารักษา และซึ่งสาเหตุที่ตายก็เพราะตับอักเสบ และโรคร่วม นี่ถือเป็นปัญหาสำคัญในการรักษา ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยตกตัวชี้วัดหมด การค้นหาผู้ป่วยก็ยังไม่ได้เป้า การรักษาได้ 80,000 คน แต่องค์การอนามัยโลกบอกว่า ประเทศไทยน่าจะมีมากกว่า 1 แสนคน ส่วนคนที่เข้าสู่การรักษาแล้ว แต่ไม่สามารถกินยาจนครบ 6 เดือน หรือ 8 เดือนได้ เนื่องจากการแพ้ยา และการติดตามผู้ป่วยของไทยยังไม่โอเค ผู้ป่วยหายไประกว่างการรักษษก็ทำให้เราตกจริง ที่สำคัญ การตายสูงกว่าทุกๆ ประเทศ นี่เป็นปัญหาที่เราต้องแก้ไข 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งมีปัญหาในการย่อยยาครึ่งหนึ่ง และประมาณร้อยละ 5-10 มีภาวะตับอักเสบจากยาต้านวัณโรค ซึ่งทำให้การรักษาวัณโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก ยีน NAT2 มีหน้าที่ในการย่อยสลายยาต้านวัณโรค Isoniazid ทำให้แต่ละบุคคลมีความสามารถในการย่อยสลายยาแตกต่างกัน ซึ่งหากมียีน NAT2  เป็นแบบย่อยสลายยาช้า จะทำให้มีโอกาสเกิดตับอักเสบสูงกว่าแบบอื่นถึง 8.8 เท่า และประชากรไทยร้อยละ 40 มีการย่อยสลายยาช้า ดังนั้น การตรวจยีน NAT2 จะช่วยให้แพทย์ผู้รักษาสามารถตัดสินใจในการปรับระดับยา Isoniazid ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยวัณโรค

“ที่สำคัญคนไทยรักษาวัณโรคพบอัตราเสียชีวิตมากกว่าหลายประเทศ เพราะสายพันธุ์วัณโรคบ้านเราค่อนข้างรุนแรง  ไม่เหมือนสายพันธุ์ยุโรป ที่ไม่รุนแรงและรักษาง่าย ไม่ค่อยระบาด แต่ไทยเชื่อว่ามาจากจีน เชื่อว่ารักษายาก ที่สำคัญคนที่ป่วยจะเป็นแรงงานเดินทางระหว่างประเทศ และการรักษาไม่ต่อเนื่อง ทำให้เสี่ยงวัณโรคดื้อยา” นพ.ยงยศ กล่าว

เมื่อถามว่าปัจจุบันพื้นที่ไหนวัณโรคน่าห่วงสุด นพ.ยงยศ กล่าวว่า เรือนจำ

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอประชาสัมพันธ์โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าว ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านจีโนมิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหา รักษา ควบคุม และป้องกันวัณโรค ของประเทศไทย เร่งรัดให้ยุติวัณโรคในทุกเขตสุขภาพ และทำให้โรคนี้หมดไปจากประเทศไทย โดยหน่วยบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถส่งตัวอย่างเลือดผู้ป่วยวัณโรค ตรวจ NAT2 diplotype โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2568  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 029510000 ต่อ 98095 หรือ 98096” นพ.ยงยศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการที่ตรวจวิธีนี้ระบุว่า จะใช้เวลาเพียง 1 วันในห้องปฏิบัติการ แต่หากตั้งแต่การส่งตรวจจนถึงรู้ผลจะใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน