ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์ผู้ป่วยวัณโรคในไทยปี 66 พบผู้ป่วยรายใหม่ 111,000 คน เสียชีวิตปีละ 13,700 คน รพ.เมตตาฯ เผยผู้ป่วยต้องกินยาต่อเนื่อง ใช้ยาหลายขนานในการรักษา อาจส่งผลต่อเส้นประสาทตา โดยเฉพาะภาวะเส้นประสาทตาเสื่อมจากยาอีแทมบูทอล แนะผู้ที่รับยาต้านวัณโรคต้องตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรควัณโรค ถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลก โดยเป็นหนึ่งใน 3 โรค อันเป็นเหตุทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตมากที่สุด หากนับรวมโรคเอดส์ และโรคมาลาเรีย ในวันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็น “วันวัณโรคโลก (WORLD TUBERCULOSIS DAY)” เพื่อให้ความร่วมมือป้องกันควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเล็งเห็นและตระหนักถึงอันตรายจากวัณโรค โดยในปี 2566 สถานการณ์ผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยประมาณการจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 คน แต่มีการรายงานการขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 72,274 คน และเสียชีวิตจากวัณโรค ปีละ 13,700 คน

นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากคนสู่คนผ่านอากาศ โดยเมื่อผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากทำให้เกิดละอองฝอย ผู้อยู่ใกล้สูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายจึงทำให้เกิดการติดเชื้อและป่วยได้ อาการสำคัญของ วัณโรคปอด คือ ไอแห้ง ๆ ติดต่อเกิน 2 สัปดาห์ ไอมีเสมหะปนเลือด อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เจ็บหน้าอก ไข้ต่ำ ๆ วิธีการตรวจวินิจฉัยโรค โดยการเอ็กซเรย์ปอด และตรวจเสมหะหาเชื้อวัณโรค วัณโรคสามารถรักษาหายได้ด้วยยารักษาที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ยาอีแทมบูทอล เนื่องจากการใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลข้างเคียงต่อเส้นประสาทตา จำเป็นต้องได้รับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ 

พญ.ปิยวดี ชัยมงคลตระกูล หัวหน้าหน่วยประสาทจักษุ เสริมว่า ภาวะเส้นประสาทตาเสื่อมจากยาอีแทมบูทอล มักเกิดขึ้นที่ตาทั้งสองข้างโดยมีลักษณะตามัวตรงกลางภาพและมัวลงแบบช้า ๆ โดยไม่มีอาการปวดร่วมด้วย มักเกิดภายหลังได้รับยาอีแทมบูทอลประมาณ 2-8 เดือน โดยในระยะแรกอาจ พบมีการมองเห็นภาพสีผิดปกติ (color vision deficiency) หรือมีความสามารถในการแยกความต่างของความมืดและสว่าง (contrast sensitivity) ลดลง ในระยะต่อมาผู้ป่วยจะมีระดับการมองเห็นลดลงและมีความผิดปกติของลานสายตา 

ในระยะเริ่มแรกของโรคอาจตรวจไม่พบความผิดปกติของขั้วประสาทตา โดยสามารถตรวจพบลักษณะขั้วประสาทฝ่อได้ในระยะต่อมา และอาจตรวจพบลานสายตาผิดปกติแบบตาบอดครึ่งซีกคู่นอกได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถอธิบายถึงกลไกการเกิดเส้นประสาทเสื่อมจากยาอีแทมบูทอลได้อย่างชัดเจน เชื่อว่าเกิดจากยาอีแทมบูทอลแย่งจับกับธาตุทองแดง ทำให้การทำงานของเส้นประสาทตาลดลงและทำให้เกิดการฝ่อของเส้นประสาทตา (optic atrophy) ตามมา เพราะการเกิดภาวะข้างเคียงจากยาอีแทมบูทอลสัมพันธ์กับปริมาณยาอีแทมบูทอลที่ผู้ป่วยได้รับโดย พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาอีแทมบูทอล น้อยกว่าหรือเท่ากับ 15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน พบภาวะเส้นประสาทตาเสื่อมได้ 1% และพบได้สูงถึง ประมาณ 30% ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับยาอีแทมบูทอล 35 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ผู้ที่เกิดภาวะข้างเคียงต่อเส้นประสาทตาจากยาอีแทมบูทอลควรหยุดยาอีแทมบูทอลโดยการพิจรณาของอายุรแพทย์ 

อย่างไรก็ตาม ภาวะข้างเคียงต่อเส้นประสาทตาจากยาอีแทมบูทอลอาจมีความรุนแรงมากขึ้นภายหลังหยุดยาอีแทมบูทอลแล้ว 1-2 เดือน ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางในการตรวจติดตามผู้ที่ได้รับยาอีแทมบูทอลอย่างชัดเจน ผู้มีความจำเป็นต้องใช้ยาอีแทมบูทอลควรตรวจคัดกรองภาวะข้างเคียงเป็นระยะหรือเมื่อมีอาการผิดปกติทางการมองเห็น เช่น ตามัวลง ควรพบจักษุแพทย์