ศิริราชจัดเวที “สูงวัยเทรนด์ใหม่..ใส่ใจดูแลตัวเอง” ด้านนายกสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย เผยหลายประเทศทั่วโลกจัดระบบประกันสุขภาพระยะยาว รองรับสังคมผู้สูงวัย ป้องกันระบบสุขภาพล่มสลาย แต่ไทยไม่ทำ! ตั้งคำถามจะมีรัฐบาลไหนกล้า! ให้ประชาชนร่วมจ่ายตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อออมเงินไว้ยามชรา
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวในพิธีเปิดงาน "สูงวัยเทรนด์ใหม่...ใส่ใจดูแลตนเอง” ว่า เป็นสิ่งสำคัญที่ศิริราชต้องให้ความรู้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย รวมถึงภาคเอกชนต่างๆมาร่วมจัดกิจกรรมให้ความรู้กับผู้สูงอายุ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ทั้งผู้สูงอายุรวมทั้งผู้ที่ยังไม่สูงอายุมีสุขภาพและสุขภาวะดี แข็งแรง สมบูรณ์ มีความรู้ในการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลตนเอง มีทักษะที่สามารถประเมินศักยภาพส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อที่แข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขาที่ยังเดินไปมาได้
นอกจากนี้ ยังต้องมีสายตาดี หูดี และปากที่ต้องรับประทานได้เพื่อส่งต่อไปยังระบบย่อยต่างๆ และระบบสมองที่ยังจำได้ และที่สำคัญคือ มีความสุข ขณะเดียวกันสมาชิกในครอบครัวก็มีส่วนสำคัญที่จะดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี ไม่เป็นภาระ ซึ่งยังส่งผลไปถึงสังคมที่เข้มแข็งด้วย
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย นายกสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา "ทิศทาง และเส้นทางการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุของประเทศไทย" ว่า ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบาย "สูงวัย สุขภาพดี" ซึ่งเน้นใน 3 เรื่องคือ
1. ปรับระบบสุขภาพให้เอื้อกับผู้สูงอายุ ถามว่าประเทศไทยเอื้อหรือยัง ยังต้องทำงานเชิงรุก อย่ารอให้ป่วยก่อน โดยเฉพาะการคัดกรอง ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมี1.07 ล้านคนลงพื้นที่ไปคัดกรองสุขภาพประชาชน ขณะที่กรมอนามัยก็มีแขนขาลงไปร่วมคัดกรองทั้งภาวะซึมเศร้า สมองเสื่อม ภาวะการหกล้ม หรือกรมการแแพทย์ก็มีการคัดกรอง 9 ด้าน แต่ปัญหา คือกรองแล้วก็ไปกอง ไม่ทำอะไรต่อ ต้องปรับระบบให้มีการดำเนินการต่อเนื่องแบบบูรณาการ ซึ่งทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องร่วมดำเนินการ แต่มีข่าวดีที่สธ.ประกาศให้ทุกรพ.ในสังกัดมีคลินิกดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม
2.สิ่งที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ดำเนินการคือ การจัดระบบ Long Term Care หรือการดูแลระยะยาว ตรงนี้เรายังเน้นดูแลให้บริการฟรี แต่ทุกอย่างไม่มีฟรีในโลกยกเว้นอากาศหายใจ หลายประเทศมองว่าหากรัฐจ่ายฝ่ายเดียวจะล่มสลายแน่ เพราะจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น จึงริเริ่มระบบประกันสุขภาพระยะยาว ซึ่งทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ทำแล้ว แต่ไทยยังไม่เริ่มเลย เป็นเรื่องที่เราต้องทำ ไม่เช่นนั้นเราอยู่ไม่รอด แต่ไม่รู้รัฐบาลไหนจะกล้าทำเพราะจะต้องให้ประชาชนร่วมจ่ายตั้งแต่วัยทำงานเหมือนเป็นการออมเพื่อยามชรา ลดการพึ่งพิง
3. การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับผู้สูงอายุ รวมไปถึงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ
ศ.คลินิก นพ.วิศิษฏ์ วามวาณิชย์ รองคณบดีฝ่ายพันธกิจบริการทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และประธานศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช กล่าวว่า เทรนด์ใหม่ที่อยากสนับสนุนให้เกิดขึ้นคือ "แก่ช้า แข็งแรงนาน ตายอย่างเหมาะสมและมีความสุข" ทั้งนี้ศิริราชเตรียมการผลิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2532 มีหลักสูตรและศาสตร์การแพทย์ด้านสุขภาพผู้สูงอายุเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย เปิดบริการคลินิกผู้สูงอายุแห่งแรกในไทย และมีผลงานวิจัยด้านสุขภาพผู้สูงอายุที่รับทุนจากหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี ศิริราชนอกเหนือจากการรักษาพยาบาลยังเป็นสถาบันวิชาการสุขภาพที่พร้อมสนับสนุนขับเคลื่อนงานสาธารณสุขในผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมาทีมจากศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชได้มีการพูดคุยกับคณะจาก WHO ถึงเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ
“มองว่าระบบการดูแลสุขภาพของไทยหรือ Health Care ดูแข็งแรง เห็นจากผลงานการจัดการโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่เรื่องสุขภาพผู้สูงอายุยังมีช่องว่าง โดยเฉพาะระบบสาธารณสุขและระบบสนับสนุนทางสังคม อย่างไรก็ตามเป็นประเด็นที่หลายกระทรวงต้องร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งรวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม นวัตกรรม เทคโนโลยีที่เอื้อต่อผู้สูงอายุด้วย”ศ.คลินิก นพ.วิศิษฏ์ กล่าว
- 6187 views