นายกฯอบจ. "เชียงใหม่-ลำปาง" เปิดความสำเร็จหลังถ่ายโอนรพ.สต.ไป อบจ. ลุย "ตั้งศูนย์ฟอกไต-ยกระดับแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก" รองรับ "ระบบสุขภาพปฐมภูมิ" ในอนาคต หวังปชช.เข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว และมีมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่  และ นางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง เข้าร่วมเวทีสาธารณะ “จากปฏิบัติการพื้นที่ สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย : ความท้าทายระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่น” ซึ่งเสวนาในหัวข้อ "บทบาทใหม่ของ อบจ. กับการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ" 

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในบางช่วงว่า ปัจจุบัน อบจ.เชียงใหม่สามารถจัดตั้ง CUP หรือ Contracted Unit for Primary care คือ หน่วยบริการประจำที่เป็นคู่สัญญาในการจัดบริการปฐมภูมิกับสานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร็จเสร็จ 10 แห่ง โดยดำเนินการได้ปีกว่าแล้ว อีกทั้งมีหมอที่จ้างเองหรือแพทย์ที่เกษียณอายุราชการทั้งหมดมาช่วย อบจ.เชียงใหม่ ประมาณ 60 กว่าคน หลายสิ่งหลายอย่างที่เราทําได้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และโรงพยาบาลนครพิงค์ ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกัน

นอกจากนี้ที่อยู่ในแผนการตั้งเป้าอยากจะตั้งศูนย์ฟอกเลือดในการที่จะทําไตเทียมทั้ง 3 รพ.สต. คือ อำเภอสันป่าตอง อำเภอพร้าว อำเภอฝาง เนื่องจาก อบจ.มีแพทย์เฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็น แพทย์เฉพาะทางด้านกระ แพทย์เฉพาะทางด้านไต ฯลฯ หลายๆส่วนที่มาช่วยกัน ในส่วนของจะจัดศูนย์ทําศูนย์ฟอกไต อาจใช้งบประมาณของอบจ. 7 ล้านบาท จะทําประมาณ 1-2 เดือนนี้ อีกทั้งมีโครงการจะสร้างโรงพยาบาลของอบจ.ที่อําเภอฝาง โดยขณะนี้กําลังดําเนินการที่จัดซื้อที่ดินในการสร้าง เนื่องจากในจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งอําเภอแม่ริม อำเภอเมือง ไม่มีโรงพยาบาลประจําชุมชนไม่มีโรงพยาบาลประจําอําเภอ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีโรงพยาบาล 200 เตียงอีก 1 โรงพยาบาล ตนจึงเกิดความคิดว่าเนื่องจากอบจ.เชียงใหม่มีที่ดินจํานวน 116 ไร่อยู่ในตัวเมืองซึ่งเดิมทีมีโครงการที่จะทําเป็นสวนสุขภาพแล้วก็เป็นในสนามกีฬา ตอนนี้ตนเปลี่ยนจะดําเนินการสร้างโรงพยาบาลชุมชน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนเชียงใหม่ได้ 

ด้านนางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  การทํางานที่ผ่านมา ถือเป็นนโยบายของอบจ.อยู่แล้ว โดยจะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างสุขภาวะให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงเน้นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะเรื่องสุขภาพถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สุดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน ฉะนั้นเมื่อมีการทำภารกิจถ่ายโอนฯเกิดขึ้น จึงเน้นเรื่องของการสร้างสุขภาวะให้กับประชาชนแบบองค์รวม จังหวัดลําปางเป็นจังหวัดที่มีอัตราผู้สูงอายุสูงที่สุดในประเทศไทย ตอนนี้ในบางอําเภอสูงถึงเกือบ 30% นี่จึงเป็นโจทย์ที่เราต้องการจะดําเนินการเรื่องพัฒนาคุณภาพประชากรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ให้สามารถดูแลป้องกันสุขภาพได้ ซึ่งเป็นการสร้างก่อนซ่อมเรื่องผู้สูงอายุเราเน้นการสร้างกิจกรรมที่ครอบคลุมทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องการออกกําลังกาย การทําเรื่องอาหารเป็นยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการใช้สมุนไพร และการพัฒนาเรื่องของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อันนี้ก็เป็นนโยบายที่เราดําเนินการ 

อบจ.ลำปาง รับถ่ายโอนทั้งหมด 67 แห่งใน 10 อำเภอ ก็ถือว่ามีความครอบคลุมครบทุกอําเภอในจังหวัดลําปาง โดยแต่ละพื้นที่แต่ละอําเภอมีปัญหาด้านสุขภาพไม่เหมือนกันเลย บางแห่งพบปัญหายาเสพติด ปัญหาทางด้านสุขภาพจิต บางแห่งพบปัญหาโรคมะเร็ง ฯลฯ เพราะฉะนั้นเราอยากจะทํางานโดยให้แต่ละพื้นที่ได้มีโอกาสพัฒนาแก้ปัญหาของตัวเองโดยการสร้างแผนสร้างโครงการที่แต่ละพื้นที่ต้องการดําเนินการได้นำเสนอเข้ามา โดยเน้นย้ำเรื่องของการกระจายอํานาจและการกระจายการตัดสินใจ  นางสาวตวงรัตน์ กล่าว

นางสาวตวงรัตน์ กล่าวต่อว่า ช่วงปีแรกเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการแก้ไขปัญหา เนื่องจากว่าการเปลี่ยนจากกระทรวงสาธารณสุขมาอยู่กับท้องถิ่นมีบริบทต่างกัน มีเรื่องของระเบียบท้องถิ่นซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะ ตอนนี้บุคลากรต้องปรับตัวทั้งในส่วนของสํานักงานอบจ.และก็ในส่วนของเจ้าหน้าที่บุคลาก รพ.สต. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทํางานสูงที่สุด นอกจากนี้ยังมีหลายโครงการที่ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย อย่างเช่น เรื่องระบบโทรเวชกรรม หรือ เทเลเมดิซีน ซึ่งร่วมกับทางสช. อีกทั้งทํางานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการจัดสวัสดิการให้เข้าถึงผู้สูงอายุโดยการใช้เทคโนโลยี  คาดหวังว่าถ้าเราได้รับผลวิจัยที่ดีจะสามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติส่งตรงไปยังรัฐบาล และส่วนราชกาลที่เกี่ยวข้องในการนํางานวิจัยที่เราได้หารือร่วมกันและมาทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ อีกแผนงานที่สําคัญมากถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สําคัญของอบจ. คือ เรื่องการพัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เนื่องจากในจังหวัดลําปางมีพื้นที่ปลูกสมุนไพรและปลูกพืชผักออแกนิก รวมทั้งมีปราชญ์ชาวบ้าน หมอพื้นเมืองอยู่เป็นจํานวนมาก คิดว่าถ้าเราสามารถทําเรื่องพัฒนาระบบสุขภาพแพทย์แผนไทยได้ดี จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการทําเรื่องของการป้องกันก่อนที่จะเจ็บป่วย เพราะว่าสมุนไพรก็คืออาหาร 

"มองว่าเรื่องของการเพิ่มมาตรฐานยกระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพของหมอพื้นบ้านต่างๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดลําปาง ให้สามารถมีมาตรฐานที่ดีและประชาชนเข้าไปรับบริการได้อย่างมีความมั่นใจมากขึ้น ทัดเทียมกับระบบการแพทย์ทางเลือก ซึ่งปัจจุบันการแพทย์ทางเลือกมีมาตรฐานในหลากหลายรูปแบบ มองว่าอันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ อบจ.ลำปางต้องการที่จะนํามาผลักดันขับเคลื่อน ตั้งแต่ ต้นน้ำ คือ การทำเรื่องสมุนไพรเรื่องอาหารการกิน กลางน้ำ คือ เรื่องของการแปรรูปอาหารพืชผัก รวมทั้งสมุนไพรต่างๆ และ ปลายน้ำ คือ เรื่องของการให้บริการและปรับปรุงเรื่องของมาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานการพัฒนาสมุนไพรในพื้นที่จังหวัดลำปาง" นางสาวตวงรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

- สช.-สวรส.-สมาคม อบจ. ประกาศเจตนารมณ์ ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ

- "หมอปรีดา" ชู 2 โครงการยกระดับสุขภาพปฐมภูมิเชื่อมการถ่ายโอน รพ.สต. ชี้! 4 ปัจจัยความสําเร็จ

- 4 อบจ. ถกกลางวงเสวนา ปมการถ่ายโอนรพ.สต. ไป อบจ. ชี้ "คน เงิน ของ" เป็นปัญหาหลัก