ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกฯอบจ. 4 แห่ง ถกกลางวงเสวนา ปมการถ่ายโอนรพ.สต. ไป อบจ. ชี้ "คน เงิน ของ" เป็นปัญหาหลัก รพ.สต.บางแห่งยังขาดบุคลากร ระบบภายในล่าช้าไม่เอื้อต่อการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิ พร้อมเสนอเพิ่มทุนการศึกษา-ผลิตแพทย์เพิ่ม เพื่อให้บรรจุอยู่รพ.สต.ถ่ายโอน  

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย จัดเวทีสาธารณะ “จากปฏิบัติการพื้นที่ สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย : ความท้าทายระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่น”  ซึ่งภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ "บทบาทใหม่ของ อบจ. กับการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ" โดยมี นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และ นางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ร่วมเสวนา

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนจบกฎหมายและเป็นทนายความมาก่อนพื้นฐานไม่มีความรู้เรื่องสาธารณสุข ในช่วงที่ได้รับเลือกตั้ง ปี 2563 เกิดเหตุการณ์โควิด ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้ดําเนินการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ในการที่จะฉีดให้ประชาชน หลังจากนั้นมีนโยบายของรัฐบาลในการที่จะกระจายอํานาจเกี่ยวกับการถ่ายโอน รพ.สต.  ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่มี รพ.สต. ทั้งหมด 267 แห่ง สำหรับการถ่ายโอนในปีแรก อบจ.เชียงใหม่ก็ได้มีการตั้งกองสาธารณสุขขึ้นมาในช่วงนั้น ยอมรับว่าตอนแรกเน้นดูในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน อย่าง การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเชียงใหม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว 70% รายได้มาจากการท่องเที่ยว

ตนได้มอบหมายให้รองนายองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ดูในเรื่องภารกิจของการถ่ายโอนรพ.สต. การแพทย์ฉุกเฉิน1669  รวมถึงการตั้งกองทุนฟื้นฟูสำหรับผู้ผู้พิการหรือว่าคนชรา  ปรากฏว่า อบจ.จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประเมินให้สามารถรับได้ทั้งหมดคือ ระดับดีเลิศ พบว่ามีรพ.สต.ทั้งหมด 62 แห่งจาก 267 แห่ง สมัครใจถ่ายโอนมา ซึ่งต่อมาได้มองเห็นปัญหาคือ 1. เรื่องบุคลากร บุคลากรเป็นสิ่งที่สําคัญ บางที่ถ่ายโอนมาเฉพาะ ผอ. แต่พยาบาลเจ้าหน้าที่ไม่มีใครมา ซึ่งต้องไปแก้ปัญหาคือเป็นการเปิดรับสมัครสอบในเมื่อพยาบาลขาดแคลน เพราะถือว่าพยาบาลเป็นวิชาชีพพิเศษที่สามารถเปิดรับสอบโดยไม่ต้องสอบข้อเขียน ปรากฏว่ามีคนมาสมัคร 100 กว่าคน จากนั้นได้ดําเนินการบรรจุข้าราชการเอาเฉพาะพยาบาลก่อน นอกจากนี้ยังมีการเปิดกรอบ แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ เพื่อมาบรรจุเป็นข้าราชการอีกด้วย

ด้านนพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า  เบื้องหลังเป็นหมออยู่แล้ และอยู่ทุกระดับมาตั้งแต่แพทย์ประจำ ผู้อํานวยการโรงพยาบาล รองนายแพทย์สาธารณสุข และก็มาเป็นนายกอบจ. ฉะนั้นจะเห็นทุกการเคลื่อนไหวในเรื่องของระบบสุขภาพ ซึ่งในการถ่ายโอนรพ.สต. อบจ.กาญจนบุรีรับถ่ายโอนมาทั้งหมด 143 แห่ง แต่ 2 ปีที่ผ่านมายังไม่ได้เดินหน้าไปไหน เราตามแก้ปัญหาทุกปัญหาที่มีอยู่ ซึ่งเยอะมาก บอกได้เลยว่าปัญหาเรื่องการถ่ายโอนเยอะมาก แล้วก็มีผู้เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะทําให้เราไม่สามารถพัฒนาได้อย่างตามใจที่เราต้องการได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น "คน เงิน ของ"  

อาทิ เรื่องคน คนในระบบที่ไม่ได้ถ่ายโอนมาหายไปถึง 30% ในขณะที่ปริมาณงานเท่าเดิม จะเอาคนจากไหนมาทํางาน บางรพ.สต.ไม่มีคนเลย บางรพ.สต.ไม่มีพยาบาล ซึ่งวันนี้ก็พอจะแก้ไขปัญหาได้บ้าง ในเรื่องของการบรรจุพยาบาลรับราชการใหม่ การเปลี่ยนสายงานของเจ้าพนักงานต่างๆ ได้เป็นนักวิชาการ เพื่อให้มีขวัญกําลังใจที่จะถ่ายโอนมาอยู่กับเรา น่าจะมีโอกาสที่ดีขึ้น เราก็พยายามทําอันนี้ให้บุคลากรรู้สึกว่ามีโอกาสที่จะเติบโตได้ เรื่องเงิน ก็มีปัญหาทะเลาะกันอยู่ตั้งนาน แต่ว่ากาญจนบุรีสามารถรับ ค่าบริหารจัดการงบเหมาจ่ายรายหัว Basic payment (OP PP IP) มาบริหารงานเองได้ ทั้งหมดเราใช้วิธีการตามจ่ายให้แม่ข่ายซึ่งตัวเลขออกมาแล้วก็ไม่ได้ขาดทุน แต่ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคุยกับทาง สสจ. คุยกับแม่ข่าย ให้ทุกคนได้มีความเห็นร่วมกัน เรื่องของ ของก็หายไปเยอะ ทั้งถอดยูนิตทันตกรรม ถอดแอร์ เอารถกลับไป ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย แต่ตอนนี้ทุก รพ.สต.ในจังหวัดกาญจนบุรีต้องมีหมอออกตรวจ

"ต้องยอมรับว่างานบริการปฐมภูมิศรัทธาไม่ค่อยมี สู้งานทุติยภูมิไม่ได้เพราะสร้างศรัทธาได้ง่ายกว่า เพราะฉะนั้นผมพยายามเอาทุติยภูมิเป็นตัวนําให้ศรัทธามันเกิดใน รพ.สต. ทุกๆที่ เมื่อเกิดศรัทธาขึ้นมาแล้วนั้น งานส่งเสริมป้องกันไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะลุยไป แต่เราไปเลือกที่บริการปฐมภูมิล้วนมันสร้างยากมากที่จะให้คนมารับบริการ มาเชื่อฟังเรา มาศรัทธาเราไม่ใช่ง่าย เพราะฉะนั้นสิ่งที่อบจ.กาญจนบุรีทำ คือ การทําคู่กัน" นพ.ประวัติ กล่าว

นพ.ประวัติ กล่าวช่วงท้ายว่า การทํางานของอบจ.ช้ากว่าที่ตนคิดไว้มาก ไม่ทันใจ มองว่ากฎระเบียบต่างๆหรือว่ากติกาที่เคยบีบบรัดอยู่ อาจจะต้องยอมปลดยอมคลาย เพื่อให้กลไกท้องถิ่นได้ทํางานอย่างจริงจังของหลายอย่างหายออกไปจากระบบ เช่น กระติกใส่วัคซีนโรงพยาบาลยังเอากลับไป มองว่ากระบวนการภายในช้าเกินไปที่จะทําให้ผลงานนั้นเกิดได้รวดเร็ว 

ด้านนายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า  ตนไม่ได้มีความรู้ด้านการแพทย์ เพราะพื้นฐานเป็นวิศวกรทํางานด้านพัฒนาแหล่งน้ำมาโดยตลอด เมื่อมาอยู่ที่องค์การบริหารส่วนจ.สงขลา ตอนแรกยังไม่มีกองสาธารณสุข แต่ว่าเดิมมีศูนย์บรการผู้สูงอายุ มีศูนย์รับแจ้งเหตุสถานการณ์ และกองทุนฟื้นฟูมีสมรรถภาพของจังหวัด โดยภารกิจกองทุนฟื้นฟูมีการทำเติมสุขโมเดล เนื่องจากสงขลาเป็นจังหวัดที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเกิน 20% และต้องมีผู้ป่วยผู้มีภาวะพึ่งพิง กลุ่มเปราะบาง มีความจำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์และที่สําคัญเรามีศูนย์ซ่อมสร้างสุขชุมชน ซึ่งสงขลาอาจจะเป็นแห่งแรกในภาคใต้ที่ตอนนี้เรามีศูนย์ซ่อมสร้างชุมชน มี 3 ที่ คือ วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ วิทยาลัยการอาชีพ และเทศบาลเมืองสะเดา นอกจากนี้ยังมีการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสําหรับผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มีสภาพบ้านที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจําวัน เพื่อที่จะให้การใช้ชีวิตประจําวันในมีความสุขมากยิ่งขึ้น อาทิ การปรับห้องน้ำ ห้องส้วม ทําถนนบ้าน ฯลฯ

"สงขลามี รพ.สต. 175 แห่ง ถ่ายโอนรวมทั้งหมด 49 แห่ง ยังไม่ถึงครึ่งเราพยายามทําที่ถ่ายโอนมาทั้ง 49 แห่งให้ดีที่สุด มุ่งยกระดับการบริการ รวมทั้งการให้มาทํากิจกรรมต่างๆ บอกจากนี้ยังมีแพทย์แผนไทย มีกายภาพบําบัดที่จะขยายไปโรงพยาบาล และ รพ.สต. เพื่อส่งเสริมให้ทุกรพ.สต. ที่มาอยู่กับเราได้มีหน่วยแพทย์แผนไทย ได้มีหน่วยกายภาพบําบัด แล้วก็เป็นคลินิกของผู้สูงอายุประจําชุมชน อันนี้ก็เป็นภารกิจที่เราตั้งใจที่จะทําให้พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านในชุมชนนั้นมีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะในเรื่องของการคัดกรองสุขภาพ" นายไพเจน กล่าว

นายไพเจน กล่าวช่วงท้ายว่า ส่วนปัญหาเรื่องบุคลากรไม่เต็มตามกรอบอันนี้เราพยายามแก้ปัญหา ทั้งการยืมตัวบ้างหรือเอาเจ้าหน้าที่ไปช่วย ตนมีกรอบความคิดว่า ในอนาคตตําแหน่งต่างๆ ไม่ว่าเป็น พยาบาลทันตกรรม นักวิชาการสาธารณสุข หรือวิชาชีพอื่นๆ เราควรจะให้ทุนการศึกษาคนในพื้นที่ โดยเมื่อเรียนจบมาแล้วก็ให้มาบรรจุที่ท้องถิ่นตัวเองจะได้ไม่มีปัญหาในการย้าย และจะได้ไม่ต้องอ้างว่าจะย้ายไปดูบุพการีหรืออื่นๆ 2. เรื่องอาคารสถานที่ทรัพย์สินต่างๆ ที่ยังไม่เรียบร้อยในการโอนมาให้เป็นทรัพย์สินของอบจ.จึงเกิดปัญหาในการซ่อมแซม บํารุง รักษา อันนี้ก็เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ต่อไป แล้วอีกปัญหาคือ บุคลากรขาดความรู้ในการจัดซื้อจัดจ้าง บางคนบอกเป็นพยาบาลให้มาดูแลเรื่องพัสดุ เพราะบางทีโรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ที่จะดูแล เรื่องนี้มีการแก้ปัญหาในการอบรมโดยให้เจ้าหน้าที่กองคลังกองพัสดุมาให้ความรู้ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่เหมือนกัน

ขณะที่ นางสาวตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง กล่าวว่า  สําหรับเรื่องปัญหาอุปสรรคแทบจะทุกอบจ.คงเข้าใจตรงกัน คือเรื่อง "คน เงิน ของ" เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่เราได้รับตั้งแต่แรก เป็นปัญหาเดิมที่มีมาตั้งแต่ระบบสาธารณะอยู่แล้ว เราพยายามที่จะแก้ปัญหาตรงนี้  ทั้งนี้ เรื่องคน สําหรับอบจ.ลำปางเองก็ได้เติมบุคลากรเข้าไป แต่ก็มีความขาดแคลนเรื่องพยาบาลวิชาชีพเพราะตอนที่รับโอนมาเกือบ 10 แห่ง ไม่มีพยาบาลวิชาชีพ ตอนนี้จริงๆอยากจะเติมนักวิชาการสาธารณสุข แต่ติดปัญหาเรื่องของบุคลากรอาจจะต้องได้รับการสอบบรรจุมาจากศูนย์กลาง เพราะเป็นตําแหน่งที่รับโอนหรือรับเองไม่ได้ส่วนเรื่องเงินอันนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งทุกๆอบจ.ก็อาจได้ประสบปัญหาเหมือนกันหมด แรกที่อบจ.ลำปางรับโอนมาแล้วก็ได้เติมบุคลากรเข้าไป เรายินดีที่จะบริหารจัดการด้วยงบประมาณของอบจ.เอง แม้ว่าจะมีกฎระเบียบท้องถิ่นเป็นกรอบคลุมอยู่ว่า กรอบอัตรากําลังจะต้องไม่เกิน 40% โดยระเบียบ แต่ว่าจริงๆกระทรวงฯให้ไม่เกิน 35% ซึ่งต้องควบคุมให้ดี ปีแรกเรารับโอนก่อน จ่ายเงินของอบจ.ไปก่อน แต่ก็หวังว่าจะได้รับเงินคืนมาแต่น่าเสียดายที่ปีนี้ยังไม่ได้รับคืนมาอันนี้ก็เป็นปัญหาเพราะว่าทําให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความมั่นใจน้อยลง 

 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

- สช.-สวรส.-สมาคม อบจ. ประกาศเจตนารมณ์ ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ

- "หมอปรีดา" ชู 2 โครงการยกระดับสุขภาพปฐมภูมิเชื่อมการถ่ายโอน รพ.สต. ชี้! 4 ปัจจัยความสําเร็จ