สะท้อนบทบาท "นักกายภาพบำบัด" พร้อมเสนอผู้บริหาร สธ. 7 ประเด็นสำคัญทั้ง การผลิตนักกายภาพ-สวัสดิการและความก้าวหน้าในวิชาชีพให้เหมาะสมกับภาระงาน - เพิ่มค่าตอบแทน - การบรรจุข้าราชการ - พัฒนาหลักสูตรให้ครอบคลุม เพื่อตอบสนองการดูแลปชช.อย่างมีประสิทธิภาพ
"นักกายภาพบำบัด" ถือเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในให้การรักษาผู้ป่วยระบบต่างๆ และยังเป็นหนึ่งในทีมผู้ให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิจะได้รับบริการสุขภาพจากนักกายภาพบำบัด ให้บริการทั้งผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจและทรวงอก รวมถึงผู้ป่วยเด็ก จากสถานการณ์ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและรวมถึงแผนกกายภาพบำบัดมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้นักกายภาพบำบัดในโรงพยาบาล
ทั้งนี้สำนักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นางพิมพ์ชนก ปานทอง นักกายภาพบำบัดชำนาญการพิเศษและประธานชมรมนักกายภาพบำบัด รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป เกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยปฐมภูมิ ภาระงาน ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ฯลฯ
นางพิมพ์ชนก ปานทอง ให้ข้อมูลว่า การปฏิบัติงานของวิชาชีพกายภาพบำบัด มีรูปแบบการให้บริการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละปี โดยเฉพาะการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อบูรณาการดูแลสุขภาพของคนไทยตั้งแต่แรกเกิด นักเรียน วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ตลอดจนถึงวาระท้ายของชีวิต ปัจจุบันในขณะที่สังคม เทคโนโลยีและเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง นักกายภาพบำบัด มีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยในทุกระดับของระบบบริการสาธารณสุข ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับปฐมภูมิ การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเรื้อรังในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพและดูแลต่อเนื่องในชุมชนและที่บ้าน การทำงานของนักกายภาพบำบัดในลักษณะเชื่อมโยงเครือข่ายบริการสุขภาพทุกระดับนี้ สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิและระบบส่งต่อที่ไร้รอยต่อ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการฟื้นฟูสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และส่งเสริมการดูแลแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม
นอกจากนี้ นักกายภาพบำบัดยังมีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสาธารณสุข เช่น นโยบายสถานชีวาภิบาล ที่มุ่งส่งเสริมการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะท้าย ให้ได้รับการดูแลอย่างสมศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีจนวาระสุดท้าย โดยนักกายภาพบำบัดจะมีบทบาทในการประเมินและจัดการอาการปวด อาการไม่สุขสบาย ส่งเสริมความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างปลอดภัย การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแลในการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ อย่างมีความหมายและสงบสุข ท่ามกลางครอบครัวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นางพิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า นักกายภาพบำบัดยังมีส่วนร่วมในโครงการตามพระราชดำริต่างๆ เช่น โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง พร้อมกลับสู่สังคม โดยเข้าไปให้บริการส่งเสริมสุขภาพ การออกกำลังกายที่เหมาะสม ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยหรือพิการ รวมถึงเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวให้สามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พัฒนาทักษะชีวิตและมีสุขภาวะที่ดี สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุขภายหลังพ้นโทษ
ในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนเฉพาะด้าน เช่น ผู้ป่วยระบบประสาทที่มีภาวะอัมพาตหรือมีความผิดปกติในการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยออร์โธปิดิกส์ที่มีปัญหาข้อและกระดูก ผู้ป่วยที่มีภาวะปอดและหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการทรงตัวจากระบบประสาทส่วนกลางหรือส่วนปลาย รวมถึงผู้ที่มีภาวะความผิดปกติของระบบเส้นประสาทส่วนปลาย นักกายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญในการประเมิน วินิจฉัย กำหนดแผนการรักษาและให้การรักษาฟื้นฟูโดยใช้ศาสตร์และศิลปะเฉพาะทางกายภาพบำบัด ร่วมกับการทำงานเป็นทีมกับสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างครบวงจร ผู้ป่วยสามารถกลับสู่สภาพการทำงานที่ดี มีความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันได้อย่างอิสระ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล
นักกายภาพบำบัดยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ บทบาทของนักกายภาพบำบัดในการดูแลกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ ทั้งในด้านการป้องกันภาวะแทรกซ้อน การชะลอความเสื่อมของร่างกาย การฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อลดภาวะพึ่งพิงและเพิ่มความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงการจัดการสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี ล้วนสอดรับกับยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพปฐมภูมิและนโยบายการดูแลระยะยาว (Long-term Care) ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยง และส่งเสริมการดูแลอย่างต่อเนื่องแบบผสมผสานทางสังคม การเพิ่มขีดความสามารถของนักกายภาพบำบัดให้สามารถดูแลประชากรทุกกลุ่มวัย ทุกระดับความรุนแรงของปัญหาสุขภาพ จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการฟื้นฟูสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดภาวะพึ่งพา ความพิการ ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว และช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพไทยท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในอนาคต
"นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายของผู้ป่วยที่มีความเปราะบาง และความพิการ โดยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการใช้ ระบบการดูแลผู้ป่วย แบบ TELEMED เพื่อเพิ่มการเข้าถึงในกระบวนการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง การเปิดคลินิกบริการกายภาพบำบัดในชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการบริการกายภาพบำบัดและลดความแออัดในโรงพยาบาล ด้วยการบูรณาการร่วมดูแลผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน ( Intermediate care) ระหว่างภาครัฐ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเอกชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นางพิมพ์ชนก กล่าว
เมื่อถามว่าบทบาทนักกายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างไรในการดูแลผู้ป่วยปฐมภูมิ...
นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า ตามนโยบายสร้างภาคีเครือข่ายกำลังคนด้านสุขภาพให้เข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยนักกายภาพบำบัดที่ปฏิบัติงานในระบบทุติยภูมิ และตติยภูมิ มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ณ ปัจจุบัน ในการให้บริการกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นวิชาชีพเฉพาะมีการตรวจประเมิน วางแผนการรักษา การออกแบบกระบวนการรักษา และการส่งเสริมป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละราย ที่มีความต้องการแตกต่างกัน จึงส่งผลต่อภาระงานค่อนข้างหนัก และการดูแลในระดับโรงพยาบาล ส่วนใหญ่นักกายภาพบำบัดจะมีบทบาทในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายก่อนจำหน่ายกลับบ้าน ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างบ้านกับโรงพยาบาล ดังนั้นการออกแบบวิธีการดูแลสุขภาพของตนเองที่บ้านในระยะแรกมีความสำคัญเป็นอย่างมาก คนที่เป็นผู้ดูแลหลักจะต้องได้รับการสอนจากนักกายภาพบำบัดเพื่อดูแลต่อเนื่องจนกว่าผู้ป่วยจะดีขึ้น เสมือนเป็นผู้ช่วยนักกายภาพบำบัดคนหนึ่ง
นอกจากนี้ การบริหารจัดการข้อมูลมีส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนจะได้รับการสะท้อนข้อมูลกลับจากโรงพยาบาล โดยนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยแก่ชุมชนเพื่อสร้างภาคีเครือข่ายในการมีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยแต่ละราย หากจำเป็นต้องมีการลงพื้นที่ นักกายภาพบำบัด เป็นวิชาชีพหนึ่งที่ที่มีส่วนสำคัญ ในอันดับต้นๆ นักกายภาพบำบัดมีบทบาทหลายประการในงานบริการสุขภาพปฐมภูมิด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคแก่ประชาชน เรามักจะพบนักกายภาพบำบัดที่ปฏิบัติงานอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพต่างๆ ศูนย์บริการผู้สูงอายุที่ตั้งอยู่ในชุมชนทั้งในเขตเมืองและชนบท โรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งในนักกายภาพบำบัดที่ปฏิบัติงานเชิงรุกร่วมกับสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิในชุมชนต่างๆ เช่น ศูนย์แพทย์ชุมชน หน่วยบริการปฐมภูมิ สถานีอนามัย เป็นต้น
บทบาทนักกายภาพบำบัดในการดูแลผู้ป่วยปฐมภูมิ
1. การให้บริการการดูแลผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับการคัดกรอง และมีระบบส่งเสริมป้องกัน ฟื้นฟู และการดูแลรักษาทางกายภาพบำบัด ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี 2. ผู้สูงอายุและผู้มีภาวะทุกพลภาพได้รับการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อป้องกันการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง 3. ผู้สูงอายุและผู้มีภาวะทุกพลภาพที่มีภาวะพึ่งพิง (ติดบ้านและติดเตียง) สามารถเข้าถึงระบบการดูแลรักษาทางกายภาพบำบัดได้อย่างเหมาะสมต่อเนื่อง 4. สนับสนุนการจัดการระบบบริการทางกายภาพบำบัดในชุมชน เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับตติยภูมิ ทุติยภูมิ และปฐมภูมิ 5. การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตแก่กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาการปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและลดความรุนแรงของโรค 6. การให้ความรู้ทางวิชาการด้านกายภาพบำบัด แก่ประชาชนในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ป้องกันภาวะแทรกซ้อน หรือป้องกันความพิการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ถามว่ามองปัจจุบันนักกายภาพบำบัดมีความพอเพียงต่อการดูแลผู้ป่วยหรือไม่...
นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบัน จำนวนนักกายภาพบำบัดในประเทศไทยอาจยังไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง โดยมีเหตุผลสำคัญหลายประการ ดังนี้ 1. จำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว: ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ จำนวนผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ความต้องการบริการกายภาพบำบัดเพิ่มสูงขึ้นตาม แต่จำนวนนักกายภาพบำบัดที่ผลิตได้ในแต่ละปียังตามไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 2. การกระจายตัวของนักกายภาพบำบัดไม่สมดุล: นักกายภาพบำบัดส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่หรือในสถานพยาบาลขนาดใหญ่ ในขณะที่สถานพยาบาลขนาดเล็กหรือพื้นที่ห่างไกลมักประสบปัญหาขาดแคลน ทำให้การเข้าถึงบริการกายภาพบำบัดของประชาชนในบางพื้นที่ยังมีข้อจำกัด
3. ภาระงานที่หนักของนักกายภาพบำบัด: นอกเหนือจากการขาดแคลนในเชิงจำนวนแล้ว นักกายภาพบำบัดที่มีอยู่ก็มักต้องรับภาระงานที่ค่อนข้างหนัก ต้องให้บริการผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวัน ทั้งในโรงพยาบาล ชุมชน และการเยี่ยมบ้าน บางครั้งอาจไม่สามารถใช้เวลากับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเต็มที่ ส่งผลต่อคุณภาพการดูแลโดยรวม 4. ขอบเขตงานที่ขยายตัว: วิชาชีพกายภาพบำบัดมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมงานที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ กีฬา การดูแลสุขภาพคนทำงาน การฟื้นฟูความพิการ เป็นต้น แต่จำนวนและการกระจายตัวของนักกายภาพบำบัดยังไม่สอดรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในวงกว้าง
เมื่อถามว่าอยากเสนอประเด็นไหนต่อผู้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาวิชาชีพ...
นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่อยากเสนอคือ 1. ทบทวนโครงสร้างการปฏิบัติงานและอัตรากำลัง ในโครงสร้างการบริหารราชการส่วนภูมิภาคค่าตอบแทน สวัสดิการ และความก้าวหน้าในวิชาชีพ ให้เหมาะสมกับภาระงานและความรับผิดชอบ โดยพิจารณาค่าตอบแทนพิเศษในกรณีพิเศษ การเพิ่มสัดส่วนตำแหน่งข้าราชการ และการเปิดโอกาสก้าวหน้าในสายงานด้านบริหารหรือวิชาการ 2.เพิ่มการผลิตนักกายภาพบำบัดให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลน เช่น การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในภูมิภาค การให้ทุนการศึกษาเพื่อแลกการชดใช้ทุน เป็นต้น 3.พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการฝึกอบรมให้มีความเข้มข้น ครอบคลุมทักษะที่จำเป็น รองรับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพ
- 1747 views