สาธารณสุขอำเภอเถิน ลำปาง ขอร้อง สธ.เพิ่มอัตรากำลังขาดแคลนนักกายภาพบำบัด หากเป็นไปได้ขอตำบลละ 1 คน หลังพบตัวเลขผู้ป่วยสูงวัยพุ่ง! ขณะที่เสียงสะท้อน “น้องกายภาพบำบัด” ยอมลาออกเอกชนทำงานในพื้นที่ 1 คนวิ่งทำงาน 2 ศูนย์ฟื้นฟูฯ ยืนยันไม่ลาออก แม้ได้ตำแหน่งเพียงลูกจ้างชั่วคราวก็ตาม
เมื่อวันที่ 9-10 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ จ.ลำปาง โดยได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฟื้นฟูสมรรภาพ ซึ่งเป็นศูนย์ที่ให้การดูแลฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้สูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดย นายชุมพล ดวงดีวงค์ สาธารณสุขอำเภอเถิน(สสอ.) จังหวัดลำปาง กล่าวว่า ปัจจุบันในอำเภอเถิน มีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ 2 แห่ง คือ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพเด่นแก้ว และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพสะเลียมหวาน เพื่อดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องฟื้นฟูร่างกาย และผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล(รพ.) เถินได้ โดยศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทั้ง 2 แห่ง เกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยรพ.เถิน และรัฐบาลญี่ปุ่น ประชาชนชาวญี่ปุ่นมีจิตกุศล อยากช่วยเหลือด้วยมิตรภาพที่ดีต่อประชาชนชาวไทย โดยได้รับความช่วยเหลือในเรื่องของครุภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ต่างๆ มูลค่ากว่า 2.2 ล้านบาท โดยศูนย์ทั้ง 2 แห่งเริ่มเปิดบริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 หลังจากนั้นก็ใช้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวมาบริหารจัดการเอง ทำให้มีความจำกัดในเรื่องของบุคลากร อย่างปัจจุบันมีนักกายภาพบำบัดประจำศูนย์ฯ ทั้ง 2 แห่งเพียง 1 คน เท่านั้น และเป็นอัตราลูกจ้าง ยังไม่มีตำแหน่งให้
นายชุมพล กล่าวอีกว่า ปัญหาหลักของที่นี่คือ ขาดแคลนบุคลากร มี 1 คนต้องไปถึง 2 แห่ง น้องเขาเสียสละจริงๆ การเดินทางก็ไม่ใช่ใกล้ๆระยะทางจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งประมาณ 60 กิโลเมตร โดยสัปดาห์หนึ่งจะแบ่งเป็นอยู่ที่นี่ 3 วัน ไปอยู่ที่โน้นอีก 2 วัน และต้องหาเวลาไปลงข้อมูลที่รพ.เถินอีกด้วย เรียกว่ามีภาระงานมากอยู่
ชุมพล ดวงดีวงค์
“การมีนักกายภาพ ประชาชนได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก การดูแลการเข้าถึงบริการก็ดีขึ้น ซึ่งประชาชนดีใจที่มีศูนย์ฟื้นฟูฯ มีนักกายภาพมาดูแล ซึ่งพบว่าอัตราการหายเพิ่มขึ้น อย่างการเข้าถึงบริการไปโรงพยาบาลก็ 100 % ซึ่งก็ส่งมาที่จุดนี้เพื่อทำกายภาพได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปรพ.เถิน เพราะไม่ใช่เคสเร่งด่วน อย่างอาการไหล่ติด นัดมาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง มีการประเมินอาการ ตรวจหาว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ ซึ่งอัตราการหายก็เพิ่มขึ้น อย่างโรคไหล่ติดหายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการเข้าถึงกายภาพสูงขึ้นมาก เนื่องจากในอดีตหากต้องไปกายภาพที่รพ.ใหญ่ ความแออัดก็เยอะ คนไข้ก็ไม่ค่อยอยากมา ทำให้ทิ้งช่วง หรือขาดหายไปเลย โอกาสหายขาดก็น้อยลง แต่เมื่อมีศูนย์ฟื้นฟูฯ มีนักกายภาพมาประจำก็ทำให้เข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อประเมินจากความพอใจของคนไข้ที่มารับบริการล้วนพึงพอใจทั้งหมด ” นายชุมพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าอยากขอร้องให้ผู้บริหารสธ.ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง นายชุมพล กล่าวว่า เรื่องอัตรากำลัง อยากได้สหวิชาชีพมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เนื่องจากปัจจุบันรพ.ใหญ่จะส่งต่อผู้ป่วยที่ผ่านพ้นวิกฤต มายัง รพ.สต.เพื่อให้ได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือ บุคลากรในการดูแลไม่เพียงพอ อย่างนักกายภาพ รพ.สต. มีเพียง 1 คน หรือแม้แต่นักการแพทย์แผนไทยฯก็มีแค่ 1 คนทั้งอำเภอ จริงๆ ในอำเภอเถิน ก็จะมีการบริหารเป็นโซนๆ อย่างโซนหนึ่งมีรพ.สต. 4-5 แห่ง ก็ควรมีนักกายภาพ 1 คน อย่างขณะนี้มีอยู่ 8 ตำบลในอำเภอเถิน ก็ควรจะมีนักกายภาพ 8 คน ขอเพียงตำบลละ 1 คนเท่านั้น จริงๆ ก็เข้าใจเรื่องอัตรากำลัง ทั้งการจำกัดอัตรากำลังของ ก.พ. แต่ก็อยากขอวิงวอนความเห็นใจเรื่องนี้ ยิ่งผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จำเป็นต้องดูแลเพิ่มขึ้น
“ปัจจุบันรพ.ใหญ่ๆก็จะส่งมาให้ รพ.สต.ดูแลต่อ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่ส่งมาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ในรพ.สต.มีเพียง 1-2 คน บางแห่งจะมี 3 คน ซึ่งผู้ป่วยเข้ามาเป็น 100 คน ผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่นี่รับผู้ป่วยประมาณ 60-70% ของผู้ป่วยทั้งอำเภอ ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรมีบุคลากรเพิ่ม เข้าใจว่าทำยาก แต่หากทำได้จะดีมาก เพราะจุดนี้จะใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด อย่างน้อยขอแค่ขั้นต่ำมีเจ้าหน้าที่ 3 คนต่อรพ.สต.ก็ยังดี ซึ่งขณะนี้ที่อำเภอเถินประมาณ 40% มีบุคลากรประจำรพ.สต.แค่แห่งละ 2 คนเท่านั้น ” นายชุมพล กล่าว
ศรสวรรค์ เรืองสวัสดิ์
น.ส.ศรสวรรค์ เรืองสวัสดิ์ นักกายภาพบำบัด กล่าวว่า อย่างตนเองศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยพะเยามาได้ 7 ปี และทำงานเอกชนที่กรุงเทพฯ พอศูนย์ฯนี้เปิดจึงตัดสินใจลาออกมาทำที่ศูนย์แห่งนี้ เนื่องจากใกล้บ้าน และตนเป็นคนอำเภอเถิน การได้มาดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจึงรู้สึกเหมือนญาติพี่น้อง ทำให้อยากมาอยู่แล้ว เพียงแต่ก็ต้องยอมรับว่า การมาเป็นนักกายภาพที่นี่ยังไม่ได้รับการบรรจุ เป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น ซึ่งก็เข้าใจว่าอัตรากำลังคงไม่เพียงพอ เพราะขนาดเพื่อนทำงานมา 7 ปีก็ยังไม่ได้บรรจุเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากทำงานโดยไม่ได้รับการบรรจุตำแหน่ง จะมีโอกาสลาออกหรือไม่ น.ส.ศรสวรรค์ กล่วว่า ไม่ลาออก เพราะดีที่อยู่ในพื้นที่ แม้อยู่ในกรุงเทพฯ เงินเดือนดีกว่า แต่ก็ไม่เหมือนอยู่ใกล้บ้าน อยู่กับชุมชน เพียงแต่หากเป็นไปได้ก็อยากจะขอความเห็นใจกระทรวงสาธารณสุข เพราะตนเข้าใจดีว่า ตำแหน่งจากกระทรวงฯ กว่าจะมาถึงในแต่ละพื้นที่ค่อนข้างยาก ต้องดูลำดับความสำคัญตามเกณฑ์อีก อย่างที่ลำปาง ที่มีการบรรจุล่าสุด คือ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาและได้เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น ยิ่งตำแหน่งนักกายภาพ กว่าจะมาถึงน้อยมาก และพอมีตำแหน่งขึ้นมาก็ต้องแบ่งให้วิชาชีพอื่นที่กำลังคนเยอะกว่า อย่างในอำเภอเถินมี 13 ตำบล มีนักกายภาพแค่ 4 คน ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุมีสูงกว่า 70% จริงๆควรมีประมาณ 6 คนขึ้นไป
- 141 views