ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 ใช้ "School Health HERO" เฝ้าระวังเด็กที่มีพฤติกรรม "สมาธิสั้น-ซึมเศร้า-บูลลี่" เน้นส่งเสริมสุขภาพจิตตั้งแต่ปฐมวัย พร้อมขับเคลื่อนชุมชนสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต ชี้ไทยมีปัญหาสุขภาพจิต-การใช้สารเสพติด 12% ของโลก ปชช.ยังขาดโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคจิตเวช
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเดอะ พาราดิโซ เจเค ดีไซน์ จ.นครสวรรค์ กรมสุขภาพจิต ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต : Mental Influence Team (ทีม MIT) เขตสุขภาพที่ 3,4 และ 13 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดกลไกการสื่อสาร ลดปัญหาวิกฤติสุขภาพจิต โดย นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดงาน โดยภายในงาน นางเดือนเพ็ญ ชาญณรงค์ ผู้อำนวยศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 นครสวรรค์ ยังเผยถึงสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพจิตในพื้นที่และให้ความรู้ด้านการสื่อสารสุขภาพจิตด้วย
นางเดือนเพ็ญ กล่าวว่า นโยบายการพัฒนางานสุขภาพจิตแบ่งเป็น 3 มิติ เริ่มจาก 1. เรื่องส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ส่งเสริม คือ คนที่สุขภาพจิตดีอยู่แล้วทำให้ดีตลอดตลอดไปและป้องกันไม่ให้กลายเป็นคนป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง มิติที่ 2 คือการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งเมื่อป่วยแล้วก็ต้องมีระบบบริการในการดูแลเพื่อที่จะได้รับการรักษาฟื้นฟูสภาพร่างกายและส่งคืนกลับสู่ครอบครัวด้วยชุมชน ส่วนมิติที่ 3 คือเรื่องการสนับสนุนในการทำงานเพื่อจะขับเคลื่อนการทำงานสุขภาพจิตได้ดียิ่งขึ้นถือเป็นส่วนสำคัญ สำหรับในส่วนการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยจะเน้นเด็กนักเรียน การที่เราจะสร้างเด็กให้เป็นเด็กที่มีคุณภาพ เก่ง ดี และมีความสุขเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นกรมสุขภาพจิตก็ให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กให้มีทักษะชีวิตที่จำเป็นที่เรียกว่า 7Qs รวมถึงส่งเสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั้งเชิงรับและเชิงรุก คือ เมื่อพบความเสี่ยงแล้วต้องได้รับการดูแล โดยมีระบบการบูรณาการร่วมกับชุมชนในการดูแลสุขภาพจิตอีกด้วย อย่างเช่น เก้าเลี้ยวโมเดล
ประชาชนขาดโอกาสในการรักษาโรคจิตเวช
ปัญหาสถานการณ์สุขภาพจิตระดับโลกในขณะนี้ พบว่า 1 ใน 7 คนหรือประมาณ 15% มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและปัญหาการใช้สารเสพติด แต่ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 12% ของโลก สำหรับอัตราการเข้าถึงบริการจิตเวช คือ ป่วยและรู้ว่าตัวเองป่วยและเข้ามารับการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงมากที่สุดคือโรคซึมเศร้า ประมาณ 88.01 % รองลงมา จิตเภทเข้าถึงบริการต่อเนื่อง 43.31 % เด็กออทิสติก สังเกตอาการเช่น ไม่สบตา ไม่ชี้นิ้ว เข้าถึงบริการ 56.90 % และ เด็กสมาธิสั้น เช่น ซนเกินไป ใจลอย รอคอยไม่ได้ ซนมากกว่าเด็กในอายุเท่ากันอยู่นิ่งไม่ได้นั่งกินข้าวที่โต๊ะไม่ได้ลุกไปลุกมา เข้าถึงบริการ 34.52 % อาจเนื่องจากผู้ปกครองยังไม่มีความรู้เรื่องนี้อาจคิดว่าโตขึ้นเดี๋ยวก็หายเอง แต่ในทางกลับถือเป็นการขาดโอกาสของเด็กที่จะเข้าถึงการรักษา เพราะเด็กกลุ่มนี้หากเป็นแล้วอาจจะมีผลการเรียนได้ดีไม่เท่ากับเด็กกลุ่มอื่น
"อันนี้เป็นอัตราการเข้าถึงที่ให้เห็นว่าจริงๆแล้วโรคจิตเวชบางโรคประชาชนเข้าถึงน้อยมาก คนยังขาดโอกาสในการรักษา เพราะฉะนั้นการที่สร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนจะทำให้เขาเห็นความสำคัญและรับรู้ว่านี่คืออาการป่วยและรู้ด้วยว่าจะต้องเข้ารับการรักษาที่ไหน ดังนั้นจะทำให้การเข้าถึงเพิ่มขึ้น" นางเดือนเพ็ญ กล่าว
นางเดือนเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาสุขภาพจิตอย่างเรื่องการฆ่าตัวตายในเขตสุขภาพที่ 13 ไม่ได้อยู่ในระดับสูงสุดของประเทศ ถ้าเรียงลำดับทั้ง 13 เขต เขตสุขภาพที่ 3 จะอยู่อันดับที่ 8 วิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพจิตในเขตสุขภาพที่ 3 ในเรื่องของการส่งเสริมป้องกัน เราเน้นการส่งเสริมสุขภาพจิตตั้งแต่ปฐมวัย ทั้งเรื่องการเลี้ยงดู การส่งเสริมพัฒนา การเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข มีความฉลาดทางสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ โดยเรามีการทำงานร่วมกับโรงเรียน โดยใช้ "School Health HERO" ในการเฝ้าระวังเด็กที่มีพฤติกรรมทางอารมณ์ใน 3 เรื่องคือ สมาธิสั้น ซึมเศร้า บูลลี่ ทั้งการถูกบูลลี่และบูลลี่คนอื่น
กลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง
นอกจากนี้ในเขตสุขภาพที่ 3 พบว่า กลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดเมื่อเทียบกับวัยอื่น ในส่วนของวัยทำงาน เราพบในกลุ่มของผู้ป่วยสุขภาพจิตที่มีโรคเรื้อรัง เช่นความดัน เบาหวาน ซึ่งจะส่งผลให้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นลำดับที่ 2 ลองจากกลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับปัจจัยกระตุ้นในการฆ่าตัวตาย เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การมีปัญหาครอบครัว ทั้งนี้เราพยายามจะแก้ปัญหาโดยการสร้างวัคซีนใจในชุมชน เพื่อให้เกิดการดูแลเรื่องสุขภาพจิตในชุมชน ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปถึงระดับชุมชน ส่วนผู้สูงอายุปัญหาที่พบส่วนมาก เป็นเบาหวาน ความดัน เช่นกันกับวัยทำงาน รวมถึงในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 ประชาชนมีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลักในการหารายได้ ดังนั้นในช่วงที่คนเหล่านี้ไม่ได้ทำการเกษตร ทำให้กลุ่มวัยทำงานหรือแรงงานไปหางานที่อื่นเพื่อจะมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียว ซึ่งทำให้สูงอายุกลุ่มนี้อาจมีความนึกคิดอยากทำร้ายตนเองได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายในชุมชนเรามีกิจกรรมโดยการแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ติดสังคม ติดบ้านและติดเตียง โดยกลุ่มติดสังคมเน้นกิจกรรมผ่านชมรมผู้สูงอายุ โดยใช้กิจกรรมเพื่อสร้างสุขภาพจิตในวัยผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มติดบ้านและติดเตียง จะใช้หน่วยบริการปฐมภูมิคือรพ.สต. ในพื้นที่ให้เข้าไปดูแลและประเมินสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ และหากค้นพบกลุ่มที่มีความเสี่ยง ความเครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย จะนำไปส่งต่อเพื่อดูแลในระบบกรมสุขภาพจิตต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพจิต คือ แบ่งเป็นกลุ่มที่ป่วยทางกายและป่วยทางจิต แต่ส่วนมากก็ไม่เป็นผลจนทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย แต่สิ่งสำคัญคือปัจจัยกระตุ้นมากกว่าที่มีผลต่อการทำให้คิดฆ่าตัวตาย อย่างเช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การเป็นหนี้สิน การเป็นโรคที่รุนแรง ปัญหาในครอบครัว ยาเสพติด ฯลฯ
ข่าวเกี่ยวข้อง
- กรมสุขภาพจิตแนะเสพข่าว "หดหู่" อย่างไรให้ไม่เครียด..
- กรมจิตฯ ลุยนครสวรรค์ พัฒนานักสื่อสารสุขภาพจิต สร้างทีม MIT “3 เขตสุขภาพ”
- 335 views