กรมสุขภาพจิต เร่งขยายแกนนำนักสื่อสารสุขภาพจิตในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 พร้อมชูกลไกเครือข่ายนักสื่อสาร สานพลัง สร้างสุขภาพจิตดีร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนในระดับพื้นที่ ด้านสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ได้โอกาสเผยแพร่ข้อมูลกลยุทธ์การสื่อสารสุขภาพอย่างมืออาชีพ

 

เมื่อวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา  ที่โรงแรม มาร์ลิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมสุขภาพจิต จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต หรือ Mental Influence Team (ทีม MIT) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 เพื่อสร้างกลไกการสื่อสารสังคมเพื่อชะลอข่าวร้าย และขยายข่าวดีรวมทั้งสร้างสังคมระบบนิเวศเชิงบวก พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อรองรับการส่งเสริมการข้อมูลสุขภาพจิตให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อสร้างความรอบรู้สู่สังคม โดยได้เชิญวิทยากรมาให้ความรู้จำนวนมาก ซึ่งในภายในงาน สำนักข่าว Hfocus โดย น.ส.วารุณี สิทธิรังสรรค์ ผู้สื่อข่าวและผู้ช่วยบก.สำนักข่าว Hfocus เข้าร่วมบรรยายหัวข้อ กลยุทธ์การสื่อสารสุขภาพอย่างมืออาชีพ  อีกทั้ง ภายในงานยังจัดฝึกปฏิบัติ 14 กลุ่ม “การจัดลำดับความสำคัญประเด็นการสื่อสาร” อีกเช่นกัน

นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า กรมสุขภาพจิต เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตคนไทยมาโดยตลอด นอกจากการเฝ้าระวังสถานการณ์วิกฤติสุขภาพจิต การสร้างความรอบรู้ เพื่อให้ประชนได้รับความรู้สุขภาพจิตอย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาการสื่อสารสุขภาพจิตได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในการส่งต่อข้อมูลความรู้สุขภาพจิตไปยังประชาชน การที่จะทำให้ความรู้เหล่านั้นเป็นที่ยอมรับและติดตามและต้องการที่จะให้ความรู้สุขภาพจิตที่ถูกต้องส่งต่อไปยังประชาชนในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อสร้างการจดจำและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ความรุนแรงวิกฤตสุขภาพจิตสามารถแพร่กระจายได้ในวงกว้าง การพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายสื่อสารมวลชน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากมีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามนวทางของการ รู้ อยู่รอด ผ่านการส่งเสริมแกนนำสื่อมวลชนที่จะชะลอเรื่องร้ายและกระจายข่าวดี

การพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต Mental Influence Team (ทีม MIT) ในครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการสร้างข่าวดีและการสื่อสารสถานการณ์วิกฤติในระดับพื้นที่ เพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต และเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตจากการสื่อสารที่เชื่อถือได้และเป็นปัจจุบันเกิดกลไกในการพัฒนาเครือข่ายที่ยั่งยืน

สื่อสารสังคมสร้างความเข้าใจ ลดปัญหาป่วยจิตเวช ไม่ใช่เรื่องอับอาย

ด้าน นพ.อาทิตย์ เล่าสุอังกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะ 3 - 4 ปี ได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนทั้งทางกายและทางใจ ซึ่งการที่ประเทศไทยก้าวผ่านสถานการณ์ต่างๆ มาได้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่บุคลากรทุกระดับมีเป้าหมายในการที่จะช่วยเหลือและดูแลตนเอง พร้อมที่จะเป็นเพื่อน และช่วยเหลือให้ก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากลำบากไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมีความต้องการที่จะเข้าถึงเรื่องของสุขภาพจิตที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อพูดถึงผู้มีปัญหาสุขภาพจิต หลายคนในสังคมอาจยังไม่ค่อยเข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ส่วนหนึ่งมองว่าการเจ็บป่วยเป็นการเสแสร้ง แกล้งทำ เรียกร้องความสนใจและมักถูกเยาะเย้ยหรือซ้ำเติม ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสังคม สร้างความรู้สึกหวาดกลัว รังเกียจ อับอายให้กับครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวช ก่อให้เกิดภาพลบตอกย้ำตราบาปต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชในสังคมมากขึ้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงบริการบำบัดรักษา ซึ่งเครือข่ายสื่อมวลชนจึงเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่จะช่วยสร้างสรรค์สังคมให้มีสุขภาพ จิตดี สร้างความตระหนัก ลดความตระหนก ช่วยลดตราบาป สื่อสารเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ให้กับสังคมได้       

สื่อสารดี ลดวิกฤตสื่อสารสุขภาพจิต

ด้าน นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี และน่าชื่นชมในความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ด้านสุขภาพจิตที่ทำงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันเติมพลังในมิติต่างๆ ให้ประชาชนในการช่วยเหลือและดูแลตนเองและคนรอบข้างได้นำไปสู่ “การพัฒนาผู้นำการสื่อสารส่งเสริมสุขภาพจิตเพื่อคนไทย” เพื่อให้การทำงานเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และเกิดกลไกการสื่อสาร เพื่อลดปัญหาวิกฤตสุขภาพจิต โดยวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าอบรมมีทักษะในการคัดเลือก เข้าถึง และสร้างสรรค์สื่อเพื่อการสื่อสารและส่งเสริมสุขภาพจิตมีทักษะการสื่อสารในสถานการณ์วิกฤติในระดับพื้นที่และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสื่อสารสุขภาพจิต โดยความร่วมมือของการดำเนินงานครั้งนี้ ประกอบด้วยพื้นที่จาก 2 เขตสุขภาพรวมทั้งสิ้น 14 จังหวัด ซึ่งการพบกันในครั้งนี้ยังถือเป็นโอกาสที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปสู่การพัฒนากลไกการสื่อสารสุขภาพจิตที่ชัดเจนมากขึ้นไปอีกด้วย

ความสำคัญชุมชนท้องถิ่น

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. (สำนัก 2) กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นมีความสำคัญมากในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน การมุ่งส่งเสริมและสร้างศักยภาพให้คนในชุมชน เป็นบุคลากร ด้านสุขภาพจิตรวมไปถึงการสร้างสารและสื่อสารเพื่อร่วมช่วยเหลือทางสังคม การสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ต้องเริ่มจากการสนับสนุนการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคคล สังคม สิ่งแวดล้อมและนโยบาย ด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม โดยสอดประสานการใช้องค์ความรู้จิตวิทยาเชิงบวก นอกจากนี้ ยังผลักดันร่วมกับการเคลื่อนนโยบาย รวมทั้งสื่อสารสาธารณะควบคู่การดำเนินการในพื้นที่ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้ประชาชนทุกช่วงวัย สามารถเข้าใจตนเองและบุคคลรอบข้าง มีความเข้มแข็งทางใจ ทักษะเชิงบวก สามารถจัดการอารมณ์ ความเครียด สามารถรับมือและจัดการปัญหาต่างๆ ได้ต่อไป

เฟคนิวส์ ต้องรีบสื่อสารให้ข้อมูลถูกต้องและรวดเร็ว

น.ส.วารุณี สิทธิรังสรรค์ ผู้สื่อข่าวและผู้ช่วยบก.สำนักข่าว Hfocus กล่าวว่า การสื่อสารข่าวสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริง ยิ่งปัจจุบันข่าวเฟคนิวส์มีมากขึ้น แต่คำว่าข่าวปลอม ข่าวลวง มีหลายแบบ บางข่าวไม่ได้หลอกลวงทั้งหมด มีจริงบ้างไม่จริงบ้าง บางข่าวเป็นข้อคิดเห็น ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ สิ่งเหล่านี้ในฐานะสื่อมวลชนต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รีบตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ข้อมูลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ หรือสุขภาพจิต ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องสื่อสารให้เร็ว แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องถูกต้อง

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมจิตฯ พบวัยรุ่นเสี่ยงทำร้ายตนเองเพิ่มขึ้น! เผยสาเหตุ และแนวทางช่วยเหลือ)