"หมอบุรินทร์" ให้ความรู้ทีม MIT ถึงการวัดระดับความเสี่ยงของข่าว ระบบการรายงานสถานการณ์วิกฤตสุขภาพจิต ย้ำการสื่อสารในภาวะวิกฤตต้องไว ถูกต้อง ช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตลงในระยะยาว โอกาสทอง 24-48 ชั่วโมง ข่าวต้องออก! ด้าน สสส.ย้ำความสำคัญ "สื่อสารผ่านจิตวิทยาเชิงบวก" ปรับมาตรฐานสื่อ ส่งเสริมข่าวดีให้ประชาชนมีพลังใจต่อสู้กับปัญหา
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาภาคีเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพจิต หรือ MIT (Mental Influence Team) เขตสุขภาพที่ 1 ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ ภายในงานมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลไกการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ มีการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ สร้างสังคมนักสื่อสาร นำไปสู่การพัฒนาเชิงนโยบายในการสื่อสารสุขภาพจิต
นพ.บุรินทร์ สุรอรณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กล่าวถึงการวัดระดับความเสี่ยงของข่าว ระบบการรายงานสถานการณ์วิกฤตสุขภาพจิต ว่า ประเด็นของการตอบสนองต่อข่าวที่จะทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนได้เร็วที่สุด คือ ช่วงเวลาวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นข่าววิกฤตสุขภาพจิตต่าง ๆ ความรุนแรง การเสียชีวิต หรือเหตุภัยพิบัติ เมื่อเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ คนจะต้องการข้อมูล จะเปิดใจต่อการเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการในการสื่อสารช่วงวิกฤต ทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน มีทีมที่คอยดูแลภัยพิบัติหรือวิกฤตทางจิตใจด้วย
นพ.บุรินทร์ กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤต ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) จะมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพจิต ช่วยเยียวยาผู้ประสบเหตุ ทำการประเมิน คัดกรอง เฝ้าระวัง ดูแลทำให้ความเครียดที่รุนแรงของประชาชนลดลง และกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น ถ้ามีก็ส่งต่อตามระบบ จะเป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้ โดยออกไปพร้อมกับทีมแพทย์ฉุกเฉิน ทำงานร่วมกับทีม MIT เพื่อเป็นการบูรณาการดูแลสภานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข ทีม MCATT จะปฏิบัติการดูแลและเยียวยาจิตใจ ส่วนทีม MIT จะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการสื่อสาร ให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน ซึ่งโอกาสทองในภาวะวิกฤตจะอยู่ที่ 24-48 ชั่วโมง ข่าวต้องออก ข้อมูลต่าง ๆ ทางทีม MIT จะสื่อสารอย่างรวดเร็วและถูกต้อง ให้ประชาชนมีความรอบรู้เรื่องสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น นำเสนอว่า เชื่อมโยงกับการดูแลสุขภาพจิตตนเองได้อย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องพิจารณาการนำเสนอข้อมูล เพื่อสื่อสารกับสาธารณชนอย่างเหมาะสม
"ปัจจุบันทีม MIT เป็นนักสื่อสารสุขภาพจิต สื่อท้องถิ่น นักประชาสัมพันธ์จังหวัด ในอนาคต อาจให้ประชาชนเป็นสื่อช่วยการสื่อสารทางออนไลน์" นพ.บุรินทร์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า ทีม MIT จะมีภาคีเครือข่ายที่เป็นนักสื่อสารทั้งหมด เช่น สื่อสารจังหวัด สื่อสารประชาสัมพันธ์ในโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลจิตเวชในกระทรวงสาธารณสุข ส่วนภาคึเครือข่ายการสื่อสารที่นอกระบบของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สื่อท้องถิ่น วิทยุชุมชน และสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น จะช่วยในการกระจายข่าวให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพจิต เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมาจะทำงานร่วมกัน ให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนจัดการสุขภาพจิตของตัวเอง โดยใช้กลไกการสื่อสารทำให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต จัดการตัวเองในภาวะต่าง ๆ รวมทั้งภาวะวิกฤต และยังสามารถอธิบายการเข้าถึงกลไกการให้บริการว่าสามารถไปที่ไหนได้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น ลดปัญหาหรือความกังวลใจ ช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตลงในระยะยาว
นพ.บุรินทร์ ย้ำด้วยว่า สิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตคนไทย คือ การสื่อสารสุขภาพจิตส่งต่อข้อมูลความรู้สุขภาพจิต การประชุมในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ร่วมประชุมมีความรู้ด้านสุขภาพจิตและมีความสนใจในหลากหลายมุมมอง เรื่องสำคัญที่ต้องระวัง เช่น เรื่องการถูกตีตรา ที่ผ่านมาผู้ป่วยหรือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต จะถูกมองไม่ดี มีความแตกต่างจากคนอื่น รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่น การสื่อสารสุขภาพจิตจะช่วยให้เรื่องนี้ดีขึ้น ทำให้สังคมเข้าใจมากขึ้น
สสส.ย้ำสื่อสร้างสรรค์ ต้องสื่อสารเชิงบวก
ด้าน ดร. ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้บรรยายในหัวข้อ สื่อสร้างสรรค์ สานพลังเครือข่ายสร้างสุข ว่า การทำงานเพื่อการสื่อสารผ่านจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) นั้นสำคัญมาก เป็นการพัฒนาชุดข้อมูล องค์ความรู้ ระบบสื่อ ให้โฟกัสไปที่การใช้มิติเชิงบวกในการสื่อสาร ให้คนเห็นถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง การมองโลกในแง่ดี ล้มแล้วลุกได้ไว เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองว่าทำได้
"การติดอาวุธเรื่องการสื่อสารเชิงบวก เป็นเรื่องที่เร่งทำงานผ่านสื่อ ทุกวันนี้คนเห็นข่าวร้ายแล้วโอบรับด้วยความรู้สึกตื่นเต้น เมื่อไหร่ที่คุ้นชินกับความรุนแรงกับข่าวร้ายที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ สังคมจะผิดปกติมาก จึงชวนคนทำงานเรื่องสื่อ มาสร้างนำซ่อม สร้างระบบแวดล้อมที่เป็นมิตรผ่านสื่อจะช่วยทำให้เกิดความคิดเชิงบวก เติมวัคซีนใจควบคู่กับกระแสข่าวร้าย จะช่วยให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่าง" ดร. ชาติวุฒิ กล่าว
ดร. ชาติวุฒิ เพิ่มเติมว่า เรื่องที่น่ากังวล หากรู้สึกว่า การนำเสนอข่าวร้ายจนคุ้นชินกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิต การสื่อสารยิ่งเข้มข้นจะทำให้คนมีมุมมองทางด้านลบต่อชีวิตมากขึ้น อย่างช่วงที่เกิดการระบาดโควิดใหม่ ๆ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า การเปิดรับสื่อที่พอดีและช่วยให้มีความสุขในการใช้ชีวิต และการจำกัดเวลาการรับสื่อจะเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ การเปิดรับสื่อจรรโลงใจ จะช่วยให้แก้ปัญหาในชีวิตได้ดี หลายครั้งที่คนพูดถึงการออกกำลังกาย ไม่ค่อยพูดถึงการออกกำลังใจ แต่การเติมพลังเชิงบวกต่าง ๆ ในชีวิต จะช่วยให้มีพละกำลังไปต่อสู้กับวันที่ไม่ดี การใช้ระบบสื่อที่เป็นมิตรจะช่วยบูสต์ให้รับมือปัญหารอบข้างได้ดีขึ้น
"หัวใจสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้สื่อสารมวลชนหยิบยกสิ่งดี ๆ ใกล้ตัวมานำเสนอ ท่ามกลางข่าวร้าย ผลกระทบเชิงลบที่มีมากมาย หากเราเติมข่าวเชิงบวกลงไป เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านดี จะช่วยปรับมาตรฐานสังคม ปรับมาตรฐานสื่อให้สื่อสารข่าวดี ๆ เพราะสื่อสารจิตวิทยาเชิงบวก เรื่องสุขภาพจิต เรื่องสุขภาพทางปัญญา เป็นเรื่องซับซ้อนมาก ทำงานผ่านระบบสื่ออย่างเดียวไม่ได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรมาสื่อสารในมิติเชิงบวกเพิ่มมากขึ้นด้วย" ดร. ชาติวุฒิ ทิ้งท้าย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"หมอบุญศิริ" แนะสื่อสารข่าวภาวะวิกฤต ไม่เชื่อข้อมูลง่าย ไม่เผยแพร่ภาพสะเทือนใจ
กรมสุขภาพจิต สร้าง MIT นักสื่อสารสุขภาพจิต ดึง Hfocus ร่วมนักสื่อสารหลายภาคส่วนให้ความรู้เพียบ
- 329 views