“สมศักดิ์” ถก สภาการพยาบาล แก้ปมขาดแคลน หลัง “นายกฯเศรษฐา” สั่งแก้ด่วนพร้อมเสนอครม. อย่างช้าสัปดาห์หน้า ตีกรอบขาดอีก 6.2 หมื่นคน วางแผนผลิตปีละ 15,000 คน เพิ่มผู้ช่วยพยาบาลลดภาระงาน ด้านปลัดสธ.เตรียมประชุมร่วม อว. 16 ก.ค.หารือทุกวิชาชีพ ด้านสภาฯ ชี้ปัญหาหลัก คือ ลาออก ต้องเร่งแก้ความก้าวหน้า ภาระงาน ค่าตอบแทนดึงให้คงอยู่มากขึ้น

 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 15 กรกฎาคม ที่สภาการพยาบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาการพยาบาล เดินทางเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสภาการพยาบาล และมอบนโยบายแก้ปัญหาพยาบาล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล  ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่1  รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง ที่ปรึกษาสภาการพยาบาล และผู้บริการสภาฯ  

นายกฯสั่งแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ตนมาติดตามการแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน และให้รายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างช้าอังคารหน้า ทั้งนี้ จากกรอบปัจจุบันพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศมี 109,942 อัตรา จากที่ต้องมีคือ  172,457 อัตรา ยังขาดอยู่ 62,515 อัตรา แต่หากดูทั้งประเทศจะต้องใช้ถึง 333,745 คน จากขณะนี้มีประมาณ 209,187 คน ซึ่งปัจจุบันสภาการพยาบาลกำหนดเวลาทำงาน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ทำจริง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าอยากลดเวลาการทำงาน ก็ต้องเพิ่มบุคลากรให้มากขี้น เพราะถ้าไม่มีการปรับ พยาบาลก็ต้องเหนื่อย ดังนั้น ต้องช่วยกันทำให้พยาบาลเหนื่อยน้อยลง พร้อมเดินหน้าผลิตผู้ช่วยพยาบาลด้วย

ครูพยาบาลไม่เพียงพอ

รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล  กล่าวรายงานข้อมูลปัญหาพยาบาล ว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาพยาบาล 109 แห่ง ซึ่งในแต่ละปีจะรับนักศึกษาพยาบาลประมาณ 1.2 หมื่นคน พอเป็น 4 ชั้นปีจะมีเกือบ 5 หมื่นคน แต่จำนวนอาจารย์พยาบาลมี 4,625 คน ถือว่ายังขาดแคลน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การขาดแคลนพยาบาลพบว่า ปัจจุบันพยาบาลผดุงครรภ์ปฏิบัติงานในระบบบริการสุขภาพจำนวนประมาณ 170,000 คน หรือ 75% ของผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จากจำนวนพยาบาลที่ต้องการ 300,000 คน คิดเป็นอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากร เท่ากับ 1 ต่อ 250 คน

3 ปัญหาหลัก ภาระงาน ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่1 กล่าวว่า สถานการณ์พยาบาลหลักๆมี 3 ประเด็น คือ 1.ภาระงาน 2.ความก้าวหน้า และ3. ค่าตอบแทน ทั้งหมดเป็นส่วนของการไหลออกด้วย โดยในการผลิตกรอบของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ต้องการ 1.7 แสนอัตรา แต่เป็นกรอบถึงปี 2570 ซึ่งเป็นกรอบที่ยังไม่ได้รวมเรื่องการทำดิจิทัลเฮลธ์ ดังนั้น การผลิตกำลังคนปีละ 1.5 หมื่นคน พยาบาลจะอยู่ในระบบทั้งหมด จริงๆ เราผลิตเกินได้ แต่เป็นความสิ้นเปลือง แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ ต้องรักษาไว้ให้อยู่ในระบบ แต่สิ่งสำคัญสภาฯ เสนอให้เพิ่มผู้ช่วยพยาบาลด้วย เพราะใช้เวลาเพียง 1 ปี และจะลดภาระงานได้ทันทีในระยะเวลาอันสั้น ทำให้คุณภาพชีวิตพยาบาลดีขึ้น แทนจะทำงานสัปดาห์ละ 70 ชั่วโมง เมื่อมีผู้ช่วยพยาบาลมาเสริม ก็อาจเหลืองาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

“กระทรวงฯจะมีผู้เกษียณอายุปีละ 2-3 พันคน แต่ทั้งประเทศจะเข้าวัยเกษียณ 7 พันคน ดังนั้น จึงขอให้กระทรวงฯ กำหนดตำแหน่งการจ้างงานพนักงานราชการเฉพาะกิจ ซึ่งมีสัญญาจ้างเป็นรายปี เพื่อจ้างผู้เกษียณอายุมาทำงานสอนงานเด็กๆน้องใหม่ มาช่วยบริหารความเสี่ยงในรพ. ซึ่งบุคลากรกลุ่มนี้จะมีความสามารถสูงมาก” ดร.กฤษดา กล่าว

16 ก.ค. ปลัดหารือร่วม อว. ถกทุกวิชาชีพภาพใหญ่ทั้งประเทศ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวว่า ในเรื่องการผลิตบุคลากรสาธารณสุขจากหน่วยงานต่างๆ ล่าสุดครม.เห็นว่า หน่วยงานใดจะผลิตบุคลากรสาธารณสุข ไม่ใช่แค่แพทย์ พยาบาล ให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้พูดคุยสรุปมา อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาบุคลากร ไม่ใช่ดูแค่การผลิตอย่างเดียว ต้องดูการไปใช้ พัฒนา ค่าตอบแทน ภาระงาน สวัสดิการต่างๆ ซึ่งในวันที่ 16 กรกฎาคมจะประชุมร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว) ในภาพรวมทุกสาขาวิชาชีพ

“เรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นยุทธศาสตร์บุคลากรของประเทศที่จะเสนอเข้าครม. พร้อมกับเรื่องพยาบาล เพราะพยาบาล เป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมทั้งหมด” นพ.โอภาส กล่าว และว่า ส่วนตัวเลขแต่ละปีผลิตอยู่ 15,000 คนถือว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนจะไปถึงสัดส่วน 1 ต่อ 250 ได้ คาดว่าต้องใช้เวลา 8-10 ปี

 

ย้ำ! ออกนอกกรอบ ก.พ.คือคำตอบ

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า  การประชุมวันนี้ ได้มีการพูดคุยถึงปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลขาดแคลน และพบว่า พยาบาล ต้องทำงานเกินเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งตามที่สภาการพยาบาลกำหนด สัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง แต่ต้องมีการทำงานเกิน เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมาก โดยภาพรวม 5 ปี การขาดแคลนพยาบาลของรัฐประมาณ 6 หมื่นคน ก็มีการหารือแนวทางการเพิ่มบุคลากร และยืนยันการรักษามาตรฐาน รวมถึงต้องมีการเพิ่มครูสอนพยาบาลด้วย ซึ่งการเพิ่มบุคลากรไม่น่ามีปัญหา เพราะเห็นพ้องต้องกัน และวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.)  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การประชุมยังได้หารือการบรรจุตำแหน่งของผู้บริหารพยาบาลด้วย เพราะหลายคนยังไม่ได้บรรจุ โดยตนก็เสนอแนวทางการแก้ปัญหาว่า กระทรวงสาธารณสุข ต้องออกนอกกรอบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) จะได้สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ซึ่งร่างกฎหมายนี้ อยู่ระหว่างตรวจ เมื่อแล้วเสร็จก็จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเว็บไซต์ จากนั้นก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) และเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

แก้ปัญหาพยาบาลลาออก ต้องมีความก้าวหน้าเป็นหลัก ค่าตอบแทนเป็นรอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาพยาบาลคือ ลาออก จะมีนโยบายคงอยู่ในระบบอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ความก้าวหน้าในตำแหน่ง โดยความก้าวหน้าตำแหน่งเป็นหลัก ค่าตอบแทนเป็นรอง ซึ่งถ้าตำแหน่งดีขึ้น ซี 7 ไปซี 8 ค่าตอบแทนก็สูงขึ้น ทั้งหมดอยู่ในร่างกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ซึ่งจะตอบโจทย์ตรงนี้

เมื่อถามถึงปัญหาผลิตจิตแพทย์ชุมชน นพ.โอภาส กล่าวว่า วันนี้ไม่ได้หารือรายละเอียดรายสาขา แต่ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข หรือ ร่างกฎหมาย ก.สธ. จะดูภาพรวมบุคลากรทั้งหมด ซึ่งกระทรวงฯมีถึง 63 สาขาวิชาชีพ ก็จะมีการพิจารณาในนั้น

 

ข้อเสนอสภาการพยาบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมฯ รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล  กล่าวถึงสาเหตุการขาดแคลนพยาบาล หลักๆ คือ 1. ความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้น และปัญหาสุขภาพซับซ้อนขึ้น 2.ในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไม่ได้บรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการ แต่จ้งเป็นลูกจ้างชั่วคราวได้รับเงินเดือนต่ำกว่าเกณฑ์ มีความเหลื่อมล้ำในภาระงาน และค่าตอบแทนต่ำ 3.ภาระงานที่หนัก และต้องปฏิบัติงานหมุนเวียน 24 ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากผู้ทำงานอื่นๆ และสภาพการทำงานในบางแห่งไม่ปลอดภัย และไม่เอื้อต่อการทำงาน และ4.ความก้าวหน้าในงานตามสายงานวิชาชีพ

รศ.ดร.สุจิตรา กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอจากสภาการพยาบาล อย่างมาตรการระยะเร่งด่วน คือ 1. เร่งรัดกระทรวง อว. นําโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2566 - 2570) จำนวน 15,985 คน เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนงบประมาณเพื่อการผลิตพยาบาลเพิ่ม 440,000 บาท ต่อหลักสูตร เป็นเงินทั้งสิ้นจํานวน 7,033.40 ล้านบาท

 2.แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวง อว. และสภาการพยาบาล เพื่อวางแผนการเพิ่มและพัฒนาอาจารย์พยาบาล เพื่อจัดทําแผนพัฒนาศักยภาพการผลิตกําลังคนทางการพยาบาลในภาพรวมของประเทศ  

3.เพื่อการธำรงรักษากำลังคนพยาบาลวิชาชีพไว้ในระบบและลดภาระงานของพยาบาลที่สามารถมอบหมายให้ผู้ช่วยพยาบาลทำได้ด้วยความปลอดภัยตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนนโยบาย 1 ผู้ช่วยพยาบาลต่อ 1 หมู่บ้าน เพื่อรองรับการดูแลประชาชนในพื้นที่ และกระทรวงควรสนับสนุนงบประมาณ และกำกับติดตามการผลิตและกำหนดตำแหน่งจ้างงานผู้ช่วยพยาบาลอย่างน้อย 8,000 อัตราต่อปี

 

อ่านรายละเอียดข้อเสนอได้ในไฟล์แนบ