ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกรัฐมนตรี พร้อม รมว.สาธารณสุข ติดตามดำเนินงานโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ จ.สระแก้ว มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ จัดตั้งคลินิกหมอครอบครัว Smart PCC นำเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI  มาอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ พร้อมตั้ง “สถานีสุขภาพ” ในชุมชน 340  เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 14 กรกฎาคม ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคณะร่วมด้วย

นางรัดเกล้า อินวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางถึงโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ได้ทักทายประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่รอให้การต้อนรับ จากนั้น นายกฯ เปิดกรวยกระทงดอกไม้ถวายคำนับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับรับชมวิดีทัศน์โครงการยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง รวมถึงรับฟังวัตถุประสงค์ของโครงการ จากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

ทั้งนี้ นายเศรษฐา  กล่าวรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานพิธีเปิดโครงการยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในวันนี้ รัฐบาลได้ดำเนินโครงการนี้ขึ้น ซึ่งเป็น 1 ใน 10 โครงการของรัฐบาลที่น้อมนำแนวพระราชดำริ เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงห่วงใยคุณภาพชีวิต ความกินดีอยู่ดี สุขภาพของพสกนิกร โดยรัฐบาลได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว อันจะส่งผลให้ประชาชนลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการ ลดความแออัด และระยะเวลารอคอย

นายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ สนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง 36 แห่งทั่วประเทศ ด้วยการยกระดับคุณภาพการให้บริการ การบริการการแพทย์ปฐมภูมิ โดยยกระดับบริการดูแลผู้สูงอายุ ฟื้นฟูสภาพและประคับประคองแบบบูรณาการ 17 แห่ง ยกระดับการดูแลสุขภาพชุมชน 15 แห่ง การบริการการแพทย์ทุติยภูมิ โดยยกระดับบริการอุบัติเหตุ - ฉุกเฉิน และผู้ป่วยใน 4 แห่ง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เป็นหนึ่งในโครงการยกระดับการดูแลสุขภาพชุมชนเพื่อพัฒนางานด้านการยกระดับคุณภาพการให้บริการ และการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุข ลดความแออัด ลดระยะในการรอคอยการเข้ารับการบริการของประชาชน รวมถึงมีสถานที่ที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน 

ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลได้จัด 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข คือ การยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง เพื่อขยายบริการทางการแพทย์ เพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนและลดการส่งต่อ

โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว  เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายดูแลสุขภาพชาวสระแก้ว ประมาณ 562,000 คน ได้พัฒนาระบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยจัดตั้ง “ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง” หรือคลินิกหมอครอบครัว Smart PCC ให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการ ทั้งลงทะเบียนผ่านตู้ Kiosk ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง อุณหภูมิร่างกาย ผ่านเครื่องอัตโนมัติ ตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอตาด้วย AI ที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง ทำให้คัดกรองผู้ป่วยและรักษาได้เร็วขึ้น ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนจักษุแพทย์ใช้เครื่องไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) ตรวจวัดความเครียดและสุขภาพหลอดเลือด เป็นต้น

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จ.สระแก้ว ยังเพิ่มช่องทางการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ โดยจัดตั้ง “สถานีสุขภาพ” (Health Station) ที่ศาลากลางประจำหมู่บ้านหรือร้านค้าในชุมชน เพื่อเป็นจุดบริการสุขภาพเบื้องต้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกขึ้น ทั้งวัดความดันโลหิต เจาะวัดน้ำตาลในเลือด ชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว วัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด ตลอดจนให้ความรู้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับโรงพยาบาล ซึ่งบางแห่งยังมีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อตรวจรักษากับแพทย์ประจำโรงพยาบาล รวมถึงบริการรับยาโรคเรื้อรังต่อเนื่องในผู้ป่วยที่อาการคงที่ด้วย

การดำเนินการดังกล่าว ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย โดยในปี 2566 ได้มีนโยบาย “1 ตำบล 1 สถานีสุขภาพ” ส่งผลให้ปัจจุบันมีสถานีสุขภาพรวม 340 สถานี นอกจากนี้ ยังนำระบบ Telemedicine มาใช้ในในเรือนจำ ทำให้ผู้ต้องขังที่ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล