สสส.ลุยขยาย รร.ปอเนาะ-ศาสนสถานปลอดบุหรี่ เหล้า พนัน หวังหยุดสถิติ "ภาคใต้" หลังผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบภาคใต้สูบบุหรี่ 22.4% สูงกว่าอัตราสูบทั้งประเทศ โดยเฉพาะ 5 จังหวัด กระบี่ สตูล พังงา นครศรีธรรมราช และระนอง พร้อมจัดเวทีแลกเปลี่ยนบทเรียนลดปัจจัยเสี่ยง "พหุวัฒนธรรม" หลังขับเคลื่อนแล้ว 14 จังหวัดรวม 163 พื้นที่  

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 ที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค จ.ตรัง  นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถอดบทเรียนกระบวนการทำงานโครงการ "พหุวัฒนธรรมลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคมและปอเนาะปลอดบุหรี่พื้นที่ภาคใต้" โดยมีผู้นำศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ผู้บริหารและครูโรงเรียนปอเนาะ ผู้นำสตรีมุสลิม และแกนนำในพื้นที่ภาคใต้ครอบคลุม 14 จังหวัดเข้าร่วมกว่า 130 คน 

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ปัญหายาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสิ่งเสพติด ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้และในกลุ่มเยาวชน เนื่องจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดทุกรอบการสำรวจ โดยปี 2564 อยู่ที่ 22.4% สูงกว่าอัตราสูบทั้งประเทศคือ 17.4% โดย 5 จังหวัดที่มีอัตราสูบบุหรี่สูงสุดของไทยก็อยู่ที่ภาคใต้ คือ กระบี่ สตูล พังงา นครศรีธรรมราช และระนอง มีการสูบในศาสนสถาน (ทุกนิกาย) ถึง 21%

ขณะที่เยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงตลอดเวลา และน่าเป็นห่วงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.3% เป็น 17.6% หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ พบนักดื่มหน้าใหม่อายุ 15-19 ปี อยู่ที่ 30.8% อายุ 20-24 ปี อยู่มี 53.3% ปัจจัยสำคัญมาจากการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ การใช้ Influencer แข่งขันกีฬา คอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี และซีรีย์ต่าง ๆ ขณะที่พบนักพนันหน้าใหม่เกือบ 8 แสนคน เด็กอายุ 15-18 ปี เล่นการพนันราว 29.5% 

“สสส. มุ่งทำงานควบคุมปัจจัยเสี่ยงโดยคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันของพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย จึงได้สนับสนุนโครงการพหุวัฒนธรรมลดปัจจัยเสี่ยงฯ ภายใต้ความรับผิดชอบของมูลนิธิคนเห็นคนตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรม ความเชื่อ และบริบทในพื้นที่ภาคใต้ สานพลังพหุวัฒนธรรม 3 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ร่วมกันขยายพื้นที่และพัฒนาศักยภาพให้เกิดศาสนสถานปลอดปัจจัยเสี่ยง ต้นแบบมัสยิดลดปัจจัยเสี่ยง และโรงเรียนปอเนาะปลอดบุหรี่ โดยความร่วมมือจากผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนและชาวบ้านทำข้อตกลงร่วมกัน โดยเวทีนี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางดำเนินงานที่จะนำไปสู่สังคมภาคใต้ปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

นางสาวณกัญญา วัฒนกุล ผู้จัดการโครงการพหุวัฒนธรรมลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคมและปอเนาะปลอดบุหรี่พื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า โครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. 2566 - 15 ต.ค. 2567 ใช้วิธีการเชื่อมคนแนวราบ “คนเห็นคน” และเครื่องมือ "Mind Storming" ระดมจิตใจเชื่อมพลังแกนนำกลุ่มต่าง ๆ ให้แกนนำเดิมไปชักชวนแกนนำใหม่ ทำให้เกิดผลลัพธ์พหุวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ แอลกอฮอล์และการพนัน ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ รวม 163 พื้นที่ แบ่งเป็น โรงเรียนปอเนาะ 70 แห่ง วัด 20 แห่ง คริสตจักร 10 แห่ง มุสลิมะห์ 6 แห่ง มัสยิด 33 แห่ง และพื้นที่อื่น ๆ 24 พื้นที่ อาทิ อบต. อปท. หน่วยงานราชการ มีการดำเนินงาน

1.วัดติดป้าย “วัดปลอดบุหรี่” “วัดเป็นเขตปลอดการพนัน” ทำข้อตกลงบุคคลที่จะบวชต้องไม่มีประวัติเกี่ยวกับยาเสพติด เหล้า บุหรี่

2.มีข้อตกลงห้ามสูบบุหรี่ในมัสยิด สอดแทรกภัยยาสูบให้แก่ผู้ละหมาด

3.โรงเรียนปอเนาะมี 7 มาตรการโรงเรียนปลอดบุหรี่

4.คริสตจักร มีการรณรงค์เรื่องบุหรี่ในการสวดมนต์ที่โบสถ์ทุกวันอาทิตย์ จัดกิจกรรมค่ายและสันทนาการที่ป้องกันพิษภัยของบุหรี่ รวมถึงเกิดผลการศึกษาพฤติกรรมการสูบบุหรี่ 

“กรณีโรงเรียนปอเนาะ พบว่า ส่วนใหญ่ 88% เริ่มสูบครั้งแรกอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยตัดสินใจสูบครั้งแรกจากตนเอง 56.3% และใช้ยาเส้นมวนเอง 61.3% แนวทางลดละเลิกสูบคือ ผู้นำ โต๊ะอิหม่ามต้องนำหลักศาสนามาเป็นแรงหนุนเสริมและเป็นแบบอย่างที่ดี พ่อแม่พี่น้องต้องดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด โรงเรียนทำงานเชิงรุก จัดกิจกรรมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่หรือสิ่งเสพติดและบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน” นางสาวณกัญญา กล่าว 

ด้าน นายการานี แดงหรา ครูโรงเรียนเอกภาพศาสนวิชญ์ จ.กระบี่ กล่าวว่า โรงเรียนเอกภาพศาสนวิชญ์เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญ ตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นถึงตอนปลาย มีนักเรียน 724 คน การดำเนินงานใช้ 7  มาตรการโรงเรียนปลอดบุหรี่ คือ 

1.กำหนดนโยบาย โดยทำข้อตกลงร่วมกับผู้ปกครองให้โรงเรียนเป็นผู้ดูแลและลงโทษด้านการครอบครองบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด ตรวจสัมภาระก่อนเข้าหอพักทุกครั้ง 

2.บริหารจัดการ สำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่ของนักเรียนทุกภาคเรียน และนำเข้าสู่กระบวนการช่วยเลิกโดยศาสนบำบัด เดือน ก.ย. 2566 พบนักเรียนสูบบุหรี่ 10 คน ช่วยเลิกบุหรี่ได้ 5 คน 

3.จัดสภาพแวดล้อมตามกฎหมาย 

4.สอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการเรียนรู้ โดยให้ความรู้หน้าเสาธงทุกวัน 5-10 นาที และหลังละหมาด 5 ครั้ง/วัน  

5.นักเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อน เช่น ประกวดร้องเพลงอนาชีด แข่งขันกีฬา ความรู้ทางวิชาการ ให้ความรู้เรื่องบุหรี่เป็นสิ่งฮารอม

6.ดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่ โดยใช้ “พี่ดูแลน้อง” คือสารวัตรนักเรียนและครูดูแลหอพักช่วยสอดส่อง 

7.มีกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนและชุมชน