ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงเรียน 16 แห่ง ใน 12 จังหวัดภาคใต้ ร่วมเป็นเครือข่าย รร. นวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ไฟฟ้า สสส.สานพลัง พัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์สื่อ สร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้ "เด็กไทย" รู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า 
 
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายฮาริส มาศชาย ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกันพัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์สื่อลดปัจจัยเสี่ยง สู่ Youth Creator เพื่อให้เกิดเยาวชนนักสร้างสรรค์สื่อนวัตกรรม Protect New Gen ที่มีความรอบรู้ทางสุขภาพ เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ป้องกันเด็กไทย ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านการบ่มเพาะเสริมทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพ พร้อมร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ 

อกจากนี้ ยังได้ลงนามความร่วมมือ Protect New Gen ร่วมกับโรงเรียน 16 แห่ง ใน 12 จังหวัดภาคใต้ ร่วมเป็นเครือข่ายโรงเรียนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า) “โตไปไม่สูบ” มุ่งเป้าสร้างความตระหนักและความรอบรู้ทางสุขภาพโดยเฉพาะการรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง facebook  youtube และ tiktok เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ โดยได้จับมือกับภาควิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ และภาคีด้านสุขภาพ มาร่วมกันออกแบบสื่อการเรียนรู้ สื่อรณรงค์ผ่านเครือข่ายโรงเรียนนวัตกรรมทางสังคมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า)

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า การเป็นพลเมืองของเครือข่าย Protect New Gen บุหรี่ไฟฟ้า มีความสำคัญกว่าที่คิดที่ขณะนี้สังคมต้องการพลังของคนหนุ่มสาวมาช่วยกันป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ที่พบอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าส่งเสียมากกว่าผลดี ทั้งทำร้ายสุขภาพ ทำร้ายสังคม และทำร้ายสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่มาช่วยสื่อสารประเด็นอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและรวมพลังสนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย อาทิ การคงกฎหมายห้ามนำเข้า การห้ามขายทั้ง online และ onsite การออกกฎระเบียบควบคุมของส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา รวมถึงการมีสมัชชาจังหวัด มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมการจัด Media campaign และการเคลื่อนทางสังคม : เครือข่ายทั้งในประเทศและเครือข่ายนานาชาติร่วมกัน

นายศิริ ศริริรักษ์ ครูโรงเรียนหัวไทรบำรุงราษฎร์ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นสถานการณ์น่าเป็นห่วงในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยบริบทและความก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล การที่ สสส. ได้มีโปรเจกต์ชวนโรงเรียนเข้ามาเป็นเครือข่ายนวัตกรรมทางสังคมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า) ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ยิ่งการได้ร่วมพัฒนาและร่วมออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อนวัตกรรมส่งผลให้เกิดการเข้าถึง เข้าใจ และสร้างการตระหนักในกลุ่มเลี่ยงได้อย่างดีและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายนัควัต สายสอิด นักเรียนแกนนำโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา กล่าวว่า จากการได้ฟังสถานการณ์ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าจาก ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และรศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ ทำให้เห็นถึงความน่ากลัวเบื้องหลังของบริษัทยาสูบที่มุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มลูกค้า และกลยุทธ์ทางการตลาดที่ทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นลูกค้าอย่างง่าย ดังนั้น ตนและเพื่อนจึงคิดว่าการได้มาเพิ่มทักษะสามารถต่อยอดไอเดียในการพัฒนาสื่อนวัตกรรมเพื่อร่วมสร้างความตระหนักในกลุ่มเพื่อน ๆ ในโรงเรียนได้อย่างดี และมีผู้ใหญ่ที่เป็นห่วงและให้ความสำคัญถึงปัญหาในครั้งนี้