สถาบันยุวทัศน์ฯ สสส. ผนึกกำลัง กทม. ประกาศเจตนารมณ์โรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ปล่อยขบวนรถรับจ้างสาธารณะร่วมรณรงค์ เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ปี 2567 เผยผลสำรวจจากศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่ง เคยสูบบุหรี่มวน 95.4% เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3%
วันที่ 20 มิ.ย. 2567 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ประกาศเจตนารมณ์โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครปลอดบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติด พร้อมปล่อยขบวนรถรับจ้างสาธารณะร่วมรณรงค์กรุงเทพมหานครปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2567 โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนแกนนำจากโรงเรียน 109 โรง รวมกว่า 400 คน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ หวังลดจำนวนอัตราการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน พร้อมสนับสนุนแกนนำนักเรียนร่วมกันสร้างสุขภาวะที่ดีในกลุ่มนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม.
สสส.รณรงค์เลิกสูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า ลดปัญหาใช้ยาเสพติดในอนาคต
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งด่วนเพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะ 1 ปี โดยออก 10 มาตรการเร่งด่วน ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญที่เป็นการทำงานต้นน้ำ คือ มาตรการที่ 5 การป้องกันยาเสพติดไม่ให้เกิดผู้เสพติดรายใหม่ เพราะแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่หากปล่อยให้เกิดผู้ใช้ยาเสพติดรายใหม่อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายมีความยากลำบาก ขณะที่ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณสำหรับบำบัดรักษาหรือการฟื้นฟู ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่ จึงเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งต้องถอยหลังไปให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจากสิ่งเสพติดที่จำหน่ายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ ซึ่งก็คือ “บุหรี่” รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ที่ลักลอบจำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย เพราะงานวิจัยทางการแพทย์หลากหลายประเทศได้ยืนยันตรงกันว่า “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นประตูบานแรกสู่ยาเสพติด” หากสมองของเด็กและเยาวชนคุ้นเคยกับสิ่งเสพติดเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมมีโอกาสพัฒนาไปใช้ยาเสพติดอื่น ๆ ได้เช่นกัน
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ ยท. สำรวจพฤติกรรมทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 300 คน ปี 2566 พบมีอายุเฉลี่ย 17 ปี เคยสูบบุหรี่มวน 95.4% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 84.5% และเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 30.5% เมื่อจัดลำดับสารเสพติดที่ใช้ พบว่า 80.7% เริ่มใช้ “บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก” และในจำนวนนี้ 76¬% พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่น ๆ โดยยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดคือ ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กัญชา กระท่อม 45.1% รองลงมาคือ ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ยาบ้า (แอมเฟตามีน) ไอซ์ ยาอี 40.5% ยาเสพติดประเภทกดประสาท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สาระเหย 8.9% และยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี (LSD) เห็ดขี้ควาย สารระเหย 5.5%
“เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกปีนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย อยากให้เป็นจุดเริ่มต้นของหน่วยงานทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมรณรงค์และขับเคลื่อนให้เกิดการเลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนชาวไทยได้แล้ว ยังสามารถลดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเสพติดในอนาคตได้อีกด้วย” ผจก. กองทุน สสส. กล่าว
5 มาตรการคุมเข้ม รร.สังกัด กทม. ตรวจกระเป๋าเด็ก-ห้ามขายรอบสถานศึกษา
นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ฯ กทม. ได้มีนโยบายประกาศให้โรงเรียนในสังกัด 437 โรง มีแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยสถานศึกษาและสำนักงานเขตทุกแห่งจะต้องดำเนินการ 5 มาตรการ ได้แก่
1.สถานศึกษาทุกแห่งต้องเป็นสถานศึกษาปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งต้องจัดให้มีการติดป้ายประกาศหรือประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน
2.ให้สถานศึกษาตรวจสอบสิ่งของที่นักเรียนนำมาใช้ในสถานศึกษา รวมถึงบริเวณโดยรอบ เพื่อป้องกันการพกพาบุหรี่ไฟฟ้ามาใช้ในสถานศึกษา
3.ให้สำนักงานเขตตรวจตราเข้มงวดไม่ให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษา ชุมชน และในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล บูรณาการร่วมกันบังคับใช้กฎหมาย
4.ให้โรงเรียนจัดทำกล่องสำหรับใส่บุหรี่ไฟฟ้า (Dropbox) ที่ตรวจยึดได้จากนักเรียน และจัดทำบัญชีรายชื่อพร้อมส่งมอบบุหรี่ไฟฟ้าให้สำนักงานเขต
5.ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นผู้ให้ความรู้หรือคำปรึกษา ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา พร้อมให้การช่วยเหลือบำบัดรักษาการติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียน
กทม. มีความร่วมมือที่ดีกับ สสส. และ ยท. ในการผลักดันให้นักเรียนในโรงเรียนมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะต้องยอมรับว่าการพัฒนาให้แกนนำนักเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา จะมีความเข้าใจที่ดีกับกลุ่มเพื่อน และได้รับความสนใจจากกลุ่มเพื่อนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แม้ว่ากลุ่มเพื่อนจะไม่เลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าในทันที แต่การสื่อสารเชิงบวกเหล่านี้จะมีส่วนทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการลดนักสูบหน้าใหม่ เพราะเป็นความหวังดีจากเพื่อนหรือคนรุ่นเดียวกัน โดยต้องยอมรับว่าปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนมีความรุนแรงอย่างมาก กทม. ก็ต้องดำเนินการทุกมาตรการเพื่อยกระดับสุขภาพของเด็กและเยาวชนให้แข็งแรง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายจริงจังที่ กทม. มีอำนาจโดยรอบสถานศึกษาและการคงไว้ซึ่งมาตรการการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าต่อเด็กและเยาวชน
สถานการณ์ "บุหรี่ไฟฟ้า" กทม. เยาวชนสูบถึง 32.3%
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการ ยท. กล่าวว่า จากข้อมูลจากการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประเด็นพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ปี 2566 (สำรวจระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566) ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ยท. สำรวจเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี 61,688 คน พบว่าภาพรวมของเยาวชนทั่วประเทศ 25% เป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ข้อมูลเชิงลึกรายเขตสุขภาพ พบ 5 เขตสุขภาพที่เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าภาพรวมระดับประเทศ ได้แก่ เขต 9 ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34.58% เขต 3 กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34.45% เขต 4 สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34.2% เขต 8 อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สูบบุหรี่ไฟฟ้า 34% และเขต 13 กรุงเทพฯ สูบบุหรี่ไฟฟ้า 32.3% ทั้งนี้ แม้กรุงเทพฯ จะอยู่ในลำดับที่ 5 แต่เขตสุขภาพที่ 13 มีเพียงกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดเดียว สถานการณ์ของ กทม.จึงน่าเป็นห่วง
การประกาศเจตนารมณ์โรงเรียนสังกัด กทม. ปลอดบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติด มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการให้สถานศึกษาร่วมกับประกาศเจตนารมณ์แล้ว จะยังมีการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพให้เกิดแกนนำบุคลากรทางการศึกษาและแกนนำนักเรียน 400 คน ที่จะร่วมกันสื่อสารภัยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยจะสนับสนุนมาตรการโรงเรียนปลอดบุหรี่ของกระทรวงสาธารณสุข และตามประกาศแนวทางปฏิบัติของกทม. และได้จัดให้มีพิธีปล่อยขบวนรถรับจ้างสาธารณะ 50 คัน ที่จะร่วมวิ่งรณรงค์สร้างการรับรู้ รวมถึงจัด Road Show นิทรรศการ “บุหรี่ไฟฟ้า ฟิน จน ตาย” ในโรงเรียนของ กทม. นำร่อง 10 โรง เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนตื่นรู้ถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย ทั้งนี้ผู้ที่สนใจอยากเลิกสูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายเลิกบุหรี่ 1600 หรือศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วทั้ง 50 เขต ของกทม.
- 330 views