ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแพทยสภา เรื่อง การโฆษณาเกี่ยวกับการเสริมสวย หรือการเสริมความงามของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2567 อาทิ  ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โฆษณาว่าตนเป็นผู้มีความชำนาญ  ประสบการณ์ หรือเชี่ยวชาญกรณีดังกล่าว หรือสามารถส่งโฆษณาให้แพทยสภาตรวจสอบก่อน แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมตามประกาศของคณะกรรมการแพทยสภา เป็นต้น

 

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแพทยสภา ที่ 39/2567 เรื่อง การโฆษณาเกี่ยวกับการเสริมสวย หรือการเสริมความงามของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2567 เนื้อหาดังนี้

โดยที่เป็นการสมควรควบคุมการโฆษณาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวยหรือการเสริมความงามให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม  และให้ผู้รับการเสริมสวยหรือการเสริมความงาม ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเท่าที่จำเป็นตามประกาศและข้อบังคับที่ใช้อยู่แล้ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 นายกแพทยสภาโดยมติของคณะกรรมการแพทยสภาในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567  จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า  "ประกาศแพทยสภา เรื่อง การโฆษณาเกี่ยวกับการเสริมสวย หรือการเสริมความงามของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2567"

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในประกาศนี้

"วิชาชีพเวชกรรม"  หมายความว่า วิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม

"การโฆษณา"  หมายความว่า การเผยแพร่หรือการสื่อสารข้อมูลข่าวสารการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวยหรือการเสริมความงามทุกรูปแบบในสถานพยาบาล สื่อสาธารณะสื่อออนไลน์ สื่อเฉพาะกลุ่ม หรือสาธารณสถาน

"การเสริมสวยหรือการเสริมความงาม" หมายความว่า การประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อการเสริมสวยหรือการเสริมความงาม ซึ่งรวมถึงการทำให้ผู้มารับการดำเนินการมีรูปลักษณ์ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตามความประสงค์ของผู้มาขอรับการดำเนินการ ไม่ว่าทำโดยการผ่าตัด การฉีดยาหรือสสารเข้าร่างกาย การทำหัตถการด้วยอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ การสอดใส่วัสดุใด ๆเข้าไปในร่างกาย การให้ยารักษาหรือวิธีการอื่นใดทางการแพทย์เพื่อการเสริมสวยหรือการเสริมความงาม ทั้งนี้ มิให้หมายรวมถึงการกระทำที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อแก้ไขความพิการทางใบหน้าหรือร่างกาย

"สถานพยาบาล" หมายความว่า  สถานพยาบาลของรัฐบาลและสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

ข้อ 4 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ จากแพทยสภา มีสิทธิโฆษณาตามวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติที่ได้รับดังกล่าวได้

ข้อ 5 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติตามข้อ 4 มีสิทธิโฆษณาคุณวุฒิได้เฉพาะปริญญาบัตรแพทยศาสตรบัณฑิต

ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามข้อ 4 และข้อ 5 ต้องใช้ชื่อและนามสกุลจริง พร้อมเลขที่ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม และแสดงชื่อหัตถการหรือการผ่าตัดเกี่ยวกับการเสริมสวยหรือการเสริมความงามในการโฆษณาได้

ข้อ 7 ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามข้อ 4 และข้อ 5 โฆษณาว่าตนเป็นผู้มีความชำนาญ  ประสบการณ์ หรือเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเสริมสวยหรือการเสริมความงาม

ข้อ 8 ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามข้อ4 และข้อ 5 ต้องการตรวจสอบการโฆษณาของตน สามารถส่งโฆษณาดังกล่าวให้แพทยสภาตรวจสอบก่อนจะทำการโฆษณาก็ได้ โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบตามประกาศของคณะกรรมการแพทยสภา

ข้อ 9 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามข้อ 4 และข้อ 5 ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2565 หมวด 2  ข้อ 19  และข้อ 20

ข้อ 10 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ถือว่ากระทำผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม และจะมีโทษตามที่แพทยสภาประกาศกำหนด

ข้อ 11 บรรดาการโฆษณาที่ได้ดำเนินการก่อนประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้

ข้อ 12 ให้นายกแพทยสภาเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการแพทยสภาวินิจฉัยชี้ขาด

ประกาศ ณ วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ศาสตราจารย์เกียรติคุณสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา