“เลขาฯ สปสช.” เดินหน้านำความเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการแก้ปัญหาในเชิงระบบ ชี้ "ปมใบส่งตัวในกทม." ขณะนี้เร่งเชื่อมข้อมูลผู้ป่วยในหน่วยบริการข้ามสังกัดเพื่อไม่ต้องใช้ใบส่งตัว คาดเสร็จในเดือน ก.ค.นี้  ย้ำหากคลินิกรักษาไม่ได้ เช่น โรคมะเร็ง,โรคหัวใจ แต่ไม่ยอมส่งตัวมีความผิดทางกฎหมาย

เมื่อวันที่ 26  มิถุนายน 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  เปิดเผยบนเวทีการประชุม "สรุปผลและข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567" ว่า ในปีนี้จะเน้นเรื่อง 30 บาทรักษาทุกที่ ตั้งแต่เรื่องหน่วยบริการที่ยังอาจมีความเข้าใจน้อยหรือว่าต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น หรือว่าอัตราการสนับสนุนงบประมาณของสปสช. ยังไม่เพียงพอ นอกจากนั้นในตัวผู้รับบริการก็จะมีเรื่องของยาต่างๆ เห็นว่าปีนี้ยาราคาแพงต่างๆถูกเสนอเข้ามาเยอะ หรือแม้กระทั่งกลไกการเข้ารับบริการ ซึ่งทั้งหมดจะได้รวบรวมเพื่อแก้ปัญหาในเชิงระบบต่อไป

หากการเชื่อมข้อมูลถึงกันทุกหน่วยบริการแล้วก็ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

เมื่อถามว่าความคืบหน้าปมใบส่งตัวคลินิกบัตรทองใน กทม.  นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีกระบวนการส่งใบส่งตัวมี 2 ลักษณะ คือ 1. ให้ข้อมูลของผู้ป่วย  และ 2. ต้องมีใบส่งตัวถึงจะมั่นใจได้ว่าสปสช.ไปจ่าย โดยลักษณะแรกจะแก้ปัญหาโดยการเชื่อมข้อมูลบริการของหน่วยบริการทุกระบบในเฟสต่อไปที่เราจะดําเนินการของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะประกาศในราชกิจจาฯ เป็นระยะๆออกมา ซึ่งตรงนี้จะทําให้พี่น้องมั่นใจว่าเมื่อมีการเชื่อมข้อมูลในหน่วยต่างๆแล้ว ถ้าจะต้องไปเอาใบส่งตัวเพื่อดูประวัตินั้นไม่จําเป็น ส่วนประเด็นที่สองจะออกมาตรการในเรื่องการเงินออกมา ว่าถ้ามีพี่น้องประชาชนที่ไปยังหน่วยที่ไม่มีใบส่งตัวไป แล้วประสงค์จะเข้ามาเบิกกับสปสช.ไม่จําเป็นต้องมีใบส่งตัวนั้น  ดังนั้น 30 บาทรักษาทุกที่ในกรุงเทพมหานครที่จะเริ่ม ขอแก้ปัญหาตรงนี้อย่างเบ็ดเสร็จก่อน

ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการได้กําหนดตั้งแต่เดือนพฤษภา และขณะนี้สปสช.กําลังทยอยรับหน่วยนวัตกรรมเข้ามาเพื่อรองรับบริการที่พี่น้องประชาชนอาจจะเจ็บป่วยเล็กน้อยก่อน แล้วตอนนี้ที่ออกประกาศในราชกิจจาฯไป ก็เพื่อยืนยันว่าหน่วยที่สมัครเข้ามาในช่วงนี้ ท่านมีงบประมาณแล้ว ซึ่งเราตั้งไว้จํานวนหนึ่ง แต่ว่าการขยายต่อไปจะมีขั้นตอนต่างๆที่จะต้องออกมา ซึ่งทั้งหมดในส่วนสปสช.ที่รับผิดชอบเราเตรียมไว้หมดแล้ว แต่เราจะดูเรื่องกลไกที่จะขับเคลื่อนต่ออีกเพื่อให้เข้าสู่ระบบ อาจจะต้องมีการซักซ้อมกับบอร์ด ซักซ้อมกับหน่วยบริการจากนั้นจะทยอยประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบ คาดว่าไม่เกินเดือนหน้าเป็นต้นไปจะเริ่มทยอยประกาศออกมาในราชกิจจานุเบกษาเป็นระยะๆ นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของความกังวลเรื่องโรงพยาบาลไม่รับส่งต่อ ตอนนี้กําลังดูหน่วยบริการที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนจํานวนหนึ่งเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล จะเห็นว่าถ้าให้พี่น้องประชาชนจากหน่วยบริการปฐมภูมิแล้วข้ามไปอยู่หน่วยบริการตติยภูมิเลยอาจมีปัญหา ขณะนี้กำลังเร่งเชื่อมข้อมูลผู้ป่วย ในหน่วยบริการข้ามสังกัดให้เข้าถึงกันได้หมด และออกแบบรูปแบบการเบิกจ่ายใหม่ ไม่ให้เป็นปัญหาอุปสรรคต่อประชาชน โดยอาจจะทำสัญลักษณ์ กับหน่วยบริการ ที่เชื่อมข้อมูลแล้ว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว คาดว่าจะทยอยทำได้ตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไปคาดสิ้นปีจะเปิดตัวรักษาทุกที่ในกทม. อย่างเป็นทางการ 

เมื่อถามว่ากรณีผู้ป่วยต้องการใบส่งตัวแต่คลินิกไม่ออกใบส่งตัวให้ และบอกเหตุผลว่าสามารถรักษาได้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า  เป็นปัญหาเรื่องความศรัทธาเราก็ต้องทําความเข้าใจกับผู้ป่วยเพราะบางครั้งโรคที่เป็นไม่จําเป็นต้องไปโรงพยาบาล แต่อันนี้เป็นเรื่องของความศรัทธาของผู้ป่วยเราก็ต้องทําความเข้าใจและยังพอรับฟังได้ แต่สิ่งที่เจอคือ โรคที่คลินิกรักษาไม่ได้แต่ไม่ยอมส่งตัวอันนี้ไม่ได้มีความผิดแน่นอน

"จากที่มีการร้องเรียนก็เกิดเหตุที่ว่า รักษาไม่ได้แต่ไม่ยอมส่งตัว เช่น กรณีคนไข้มะเร็งที่ยังไงก็รักษาคลินิกไม่ได้ คนไข้โรคหัวใจรักษาไม่ได้ คนไข้ที่มีการรักษาต่อเนื่องจากโรงพยาบาลเดิมที่ได้ยา อย่าง 3 กรณีนี้ยังไงก็ไม่ควรที่จะเก็บไว้ ซึ่งตอนนี้มี  600 กว่ารายที่ได้รวบรวมทำสำนวนเสร็จเรียบร้อย และได้ส่งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อเข้าสู่ระทางกฎหมายต่อไป"  นพ.จเด็จ กล่าว