นับถอยหลัง “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ” 3-7 ก.ค.นี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี “สมศักดิ์” ชูแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรฯ ดันตลาดเติบโตกว่า 2 เท่า คาดสร้างมูลค่า 104,000 ล้านบาทในปี 2570 ด้านปลัด สธ.ชูศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย 5 ประเภท “ที่พักนทท. -ร้านอาหาร-นวดเพื่อสุขภาพ-สปา-สถานพยาบาล” ผ่านการรับรอง 73 แห่งทั่วประเทศ รพ.อภัยภูเบศรเตรียมสมุนไพรสู้เบาหวานแจกในงาน ส่วน อภ.ชูผลิตภัณฑ์ 3 หมวด
วันที่ 27 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 21 The 21th Thailand Herbal Expo 2024 ภายใต้รูปแบบการจัดงาน “นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทยสู่เวทีโลก” ระหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2567 ที่อิมแพค เมืองทองธานี
ดันตลาดสมุนไพรไทยเติบโต 104,000 ล้านบาทในปี 2570
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ Medical and Wellness Hub ที่มุ่งยกระดับ ไม่เพียงแต่การให้บริการทางการแพทย์ทั่วไป แต่ยังหมายรวมถึงการแพทย์แผนไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีศักยภาพ ในการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยปัจจุบัน สมุนไพรเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจาก ยูโร มอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย มีมูลค่าค้าปลีกสูงที่สุด เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน อันดับที่ 4 ของเอเชีย และอันดับ 8 ของโลก
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสร้างรายได้กว่า 2.4 พันล้าน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 คาดการณ์ว่า ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย จะมีมูลค่าเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า จากที่มีมูลค่าราว 52,000 ล้านบาท จะเติบโตเป็น 104,000 ล้านบาท ในปี 2570 เพราะทัศนคติและค่านิยมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนแปลงไป มีแนวโน้มเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถสร้างรายได้กว่า 2,467 ล้านบาท มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผ่านการรับรอง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวนกว่า 17,300 รายการ และได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ กว่า 2,000 รายการ รวมถึงมีการขยายผลการปลูกสมุนไพรต้นน้ำ จาก 18,000 ไร่ เป็น 1,059,818 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกร เข้าถึงการปลูกสมุนไพรได้มากขึ้น จากเดิม 5,400 ราย เป็นกว่า 360,000 ราย
มหกรรมสมุนไพรเงินสะพัดตลอดงานกว่า 300 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยังมีโรงงานภาคเอกชน ที่ผลิตยาสมุนไพร 1,000 แห่ง มีโรงงานสกัด 11 แห่ง และมีโรงพยาบาลที่สามารถผลิตสมุนไพร ที่ได้รับมาตรฐาน GMP 46 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้มูลค่าการใช้ยาสมุนไพร ในหน่วยบริการสุขภาพทั่วประเทศ มีมูลค่าเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละกว่า 1.5 พันล้านบาท และสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ รวมกว่า 56,944 ล้านบาท ในปี 2566 ที่ผ่านมา ส่วนการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ก็มีการพัฒนาต่อยอดสมุนไพรแชมเปี้ยน จำนวน 12 รายการ มีผลงานวิจัยมากกว่า 141 โครงการ เพิ่มมูลค่าการส่งออก กว่า 6,604 ล้านบาท มีการลงทุน เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร เพิ่มขึ้นเป็น 3,631 ล้านบาท จำนวน กว่า 1,295 โครงการ โดยการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสมุนไพร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตนคาดว่า จะมีเงินสะพัดตลอดทั้ง 5 วัน กว่า 300 ล้านบาท
สธ.ชูศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย ผ่านรับรอง 73 แห่งทั่วประเทศ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังส่งเสริมให้มี “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย” (Thainess Wellness Destination) ที่นำอัตลักษณ์ความเป็นไทย อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น องค์ความรู้การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพรและการแพทย์ทางเลือก มาเชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ 5 ประเภท ได้แก่ 1)ที่พักนักท่องเที่ยว 2) ภัตตาคารหรือร้านอาหาร 3) นวดเพื่อสุขภาพ 4) สปาเพื่อสุขภาพ และ 5) สถานพยาบาล โดยปัจจุบันมีศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทยที่ผ่านการรับรองทั่วประเทศแล้ว 73 แห่ง
หนุนท่องเที่ยวสมุนไพรผ่านเกณฑ์ 94 แห่งสู่ชุมชนสุขภาพดี
ในปี 2567 นี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ขับเคลื่อนโครงการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก เดินหน้าให้มีแหล่งท่องเที่ยวที่ผ่านการประเมินครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ และสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรที่ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 94 แห่ง ไปสู่ชุมชนสุขภาพดี เพื่อให้เป็นที่รู้จักและรองรับนักท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 21 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 7 กรกฎาคม 2567 ที่ ฮอลล์ 11 – 12 อิมแพค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทย สู่เวทีโลก” เพื่อแสดงคุณค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ ให้คนไทยและคนทั่วโลกมั่นใจในผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น.
6 โซนกิจกรรมในงานมหกรรมสมุนไพรฯ
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 6 โซน ได้แก่ โซนวิชาการ มีการประชุมและการประกวดผลงานด้านแพทย์แผนไทยฯ โซน Service มีคลินิกให้คำปรึกษา ตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยฯ และคลินิกบำบัดยาเสพติด โซน Wisdom พบหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ หมอพื้นบ้าน 4 ภูมิภาค การนวดอัตลักษณ์ไทยและสมุนไพรอัตลักษณ์จาก 76 จังหวัด โซน Product ให้คำปรึกษาเรื่องการส่งออกและภาพรวมตลาดสมุนไพร โซน Wellness ให้บริการนวดไทย โชว์โมเดลสปาเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพกว่า 300 ร้านค้า และโซน Innovation ให้คำปรึกษา นวัตกรรมและวิจัยพัฒนา การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมต้นแบบ ตลอดจนการอบรมหลักสูตรระยะสั้นและตลาดความรู้ แจกต้นพันธุ์และเมล็ดพันธุ์สมุนไพรฟรีวันละ 1,000 ชิ้น และการเรียนรู้สวนสมุนไพรและสมุนไพรหายากภายในงาน เป็นต้น ซึ่งตลอด 5 วันของการจัดงานคาดว่าจะมีเงินสะพัดมากกว่า 300 ล้านบาท
อภัยภูเบศรชูไฮไลท์ “สมุนไพรลดเบาหวาน”
พญ.ชนิดา สยุมภูรุจินันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าร่วมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ โดยในปีนี้เราได้นำกิจกรรมไฮไลท์ คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลโรคเบาหวาน ซึ่งในเมืองไทยมีความชุกของโรคสูงมาก ประมาณ 5.2 ล้านคนป่วยเป็นเบาหวานอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 3 แสนคน และ มีผู้เสียชีวิตจากเบาหวานวันละประมาณ 200 คน ทางรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงนำองค์ความรู้ด้านสมุนไพรในแง่อาหารเป็นยา และมีคำแนะนำต่างๆภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นมะระขี้นก มะขามเทศ หว้า ฝรั่งขี้นก กำแพงเจ็ดชั้น และหญ้าหวาน ทั้งนี้ภายในงาน ทางอภัยภูเบศร ยังได้นำต้นพันธุ์ไปแจกให้ประชาชนฟรี และยังแจกหนังสือบันทึกแผ่นดิน 14 สมุนไพรควรรู้ สู้เบาหวาน เพื่อเป็นความรู้ในการพึ่งตนเองวันละ 200 เล่ม
องค์การเภสัชฯขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ 3 หมวดย่อย
ด้านพญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การภสัชกรรม กล่าวว่า ภายในบูธขององค์การเภสัชกรรม มีการจัดนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด GPO PLANT BASED MEDICINE มีการจัดแสดงภาพวาดของสมุนไพรไทย การจัดแสดง“ขมิ้นชัน สุดยอดสมุนไพร ป้องกัน บำรุง รักษา” ที่ผลักดันสู่เวทีโลก นำเสนอผลิตภัณฑ์ครีมบำรุง ภายใต้ Brand GPO Curmin นำเสนอผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ เป็นต้น รวมถึงมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ PLANTXGPO โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรขององค์การเภสัชกรรม และร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน และภาคการศึกษา
ทั้งนี้ แบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 หมวดย่อย ประกอบด้วย
1. หมวดยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารสำคัญจากพืชเป็นหลัก (Plant based drugs and supplements) ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ด้านการกีฬา(sport medicine) อาทิ สเปรย์พ่นและบาล์มเพื่อคลายกล้ามเนื้อ (spray and balm for muscle relaxing ), ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสารสกัดขมิ้นชันสูตรเสริมความแข็งแรงของกระดูกและข้อ (Ca-Curmin) , ผลิตภัณฑ์สมุนไพรบำรุงร่างกาย, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสารสกัดจากกะหล่ำปลีและหม่อนที่มีสารสำคัญที่ช่วยในการชะลอวัย (plant based NAD+Reserverato supplements) และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเม็ดเคี้ยวเพื่อให้เกิดความสดชื่น (BAT-Bio activating tablets) เป็นต้น
2. Plant based Cosmetics - Hair serum ซึ่งใช้สารสกัดจากจมูกข้าว และแก่นมะหาด ซึ่งมีสารสำคัญที่ช่วยบำรุงหนังศีรษะและเพิ่มการเจริญเติบโตของ hair follicle keratinocytes, ผลิตภัณฑ์ Luminous Botanic oilets serum ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ใช้สารสกัดสำคัญจากเกสรดอกบัวหลวง และ exosome ของดอกกุหลาบ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการบำรุงผิวและชะลอวัย
3. Spa herbal preparations ซึ่งได้แก่ผลิตภัณฑ์ลูกประคบ และน้ำมันหอมระเหย
สำหรับงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 วันที่ 3-7 กรกฎาคม 2567 อิมแพคเมืองทองธานี ฮอลล์ 11-12 เวลา 10.00-20.00 น.
- 803 views