ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.ระดมภาคีถกข้อเสนอแก้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เล็งใช้ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ ชงแนวทางเข้าเวทีสมัชชาสุขภาพฯ 5 ส.ค.นี้

 

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ” เพื่อปรับปรุงเอกสารหลักและร่างมติสมัชชาสุขภาพฯ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ เป็นประธาน

นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือเอ็นซีดี ถือเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพที่สำคัญ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบทั้งกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมาแม้หน่วยงานที่มีบทบาทอย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ แต่ปัญหากลับไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ซึ่งต้องยอมรับว่า สธ. ทำงานฝ่ายเดียวก็คงจะไม่ได้ เพราะปัญหา NCDs มีปัจจัยที่มาจากพฤติกรรมส่วนบุคคล และสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“สภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพ และทางสังคม คือปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยป้องกันควบคุมโรค NCDs ได้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้นทุกภาคส่วนจึงต้องเข้ามาร่วมมีบทบาท ดูว่าจะสามารถเข้ามาช่วยกันในส่วนไหนได้บ้าง จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะในเรื่องนี้ขึ้น ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพ มาวันนี้เราจึงระดมทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ประชาชน เข้ามาร่วมกันปรับปรุงนโยบายสาธารณะนี้ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมแนวทางกลยุทธ์ใหม่ๆ” นพ.โสภณ กล่าว

สำหรับเนื้อหาของ (ร่าง) มติ “การสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ” มีกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) ที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนในการสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เพื่อการมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ส่งผลให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ โดยใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เน้นการใช้กลไกการคลังสร้างแรงจูงใจ และระบบเครดิตทางสังคม

ทั้งนี้ โดยผ่านระบบและกลไกหนุนเสริมการจัดการและการดำเนินการมาตรการทุกระดับ ได้แก่

1. การพัฒนาเครื่องมือนโยบายและมาตรฐาน

2. การออกแบบ พัฒนานวัตกรรม โมเดล และขยายผลเชิงระบบ

3. การสนับสนุนการเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคม

4. การพัฒนาระบบกำกับติดตามและประเมินผลลัพธ์

5. การพัฒนาระบบตัดสินใจ บริหาร และสนับสนุนการลงทุน

 

ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า จากการศึกษาภาพรวมสถานการณ์การดำเนินงานด้านโรค NCDs ของไทยที่ผ่านมา พบว่ายังมีช่องว่างทางนโยบาย ขาดมาตรฐานการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ในขณะที่การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่เข้มแข็ง ขาดกลไกในภาพรวม การบริหารงานยังแยกส่วน ภายใต้ปัจจัยคุกคามใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัย ความเสี่ยงของวิถีชีวิตแบบดิจิทัล วิถีชีวิตเนือยนิ่ง การเข้าถึงสื่อการตลาดของสินค้าทำลายสุขภาพ ฯลฯ

ดร.ภญ.อรทัย กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพฯ นี้ ในเบื้องต้นจึงได้กำหนด 5 มาตรการหลักเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่ลดโรค NCDs ประกอบด้วย 1. จัดระเบียบและลดการเข้าถึงสินค้าทำลายสุขภาพ 2. ส่งเสริมการผลิต กระจายพัฒนามาตรฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงวัตถุดิบ สินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพ 3. สร้างสภาวะแวดล้อมสรรค์สร้าง (built environments) และพื้นที่สุขภาวะ (healthy spaces) 4. สร้างความรอบรู้การส่งเสริมสุขภาพที่ถูกต้อง และการพัฒนาต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจ 5. ส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาพดี รวมถึงการใช้กลยุทธ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ขณะที่ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะฯ กล่าวว่า หนึ่งในหลักการสำคัญที่ถูกพูดถึงในมตินี้คือเรื่องของ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ ที่จะนำเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมป้องกันและลดโรค NCDs ในทางหนึ่งคือการใช้กลไกการคลังสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการทางภาษีเพื่อจำกัดการเข้าถึงอาหารที่ทำลายสุขภาพ กับอีกส่วนคือระบบเครดิตทางสังคม ที่จะสนับสนุนกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย ให้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่า คล้ายกับคาร์บอนเครดิตที่ช่วยส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเรื่องของการกระจายอำนาจหน้าที่ ในเรื่องของการลดโรค NCDs ให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาร่วมมีบทบาทในการสนับสนุนและดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อม ส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะ การออกกำลังกาย ฯลฯ ตลอดจนการสร้างความรอบรู้และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ระดับชุมชน ครอบครัว ปัจเจกบุคคล ฉะนั้นในวันนี้จึงเป็นการมองถึงภาพรวมของระบบนิเวศทั้งสังคมในการเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน และช่วยให้ปัญหาโรค NCDs ลดลงได้

ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ในส่วนของความคิดเห็นและข้อเสนออันเป็นประโยชน์ ที่ได้รับจากภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ จะถูกนำไปวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงเอกสารหลักและร่างมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ” ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อให้ฉันทมติร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 5 ส.ค. 2567

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า สำหรับเส้นทางของมติฯ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ภายหลังที่ได้รับฉันทมติจากเวทีสมัชชาสุขภาพฯ แล้ว ก็จะถูกนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คสช. ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีมติขับเคลื่อนและดำเนินการในเรื่องของการสร้างระบบนิเวศเพื่อลดโรค NCDs นี้ ไปสู่การปฏิบัติของทุกภาคส่วนต่อไป