“หมิว สิริลภัส” สส.ก้าวไกล โวยรัฐหั่นงบฯ กรมสุขภาพจิตเหลือแค่ 1.8%ของงบประมาณ สธ. ขอไป 4.4 พันล้านได้เพียง 3,038 ล้าน ไม่สอดคล้องปัญหาสุขภาพจิตคนไทย 10 ล้านคน แม้กรมจิตฯเดินถูกทาง ผุดโครงการดูแลสุขภาพจิตทุกช่วงวัย แต่ไร้เงินหนุนเต็มที่ สุดท้ายส่งผลการเข้าถึงบริการ ชี้ “ตำรวจ ทหาร ครู บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล นักศึกษาแพทย์” เครียดหมด ใครดูแล

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน น.ส.สิริลภัส กองตระการ หรือ หมิว  สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568   เกี่ยวกับสถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนคนไทย โดยก่อนเริ่มอภิปรายได้พูดถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า น่าเสียดาย ไม่ได้อยู่ฟัง เพราะปีที่แล้วพูดให้อีกท่าน แต่ปีนี้เป็นรมว.สธ.ท่านใหม่ ซึ่งก็อยากพูดให้ท่านฟังอีกครั้ง

โวยรัฐตัดงบฯ ไม่ให้ความสำคัญปัญหาสุขภาพจิต  

น.ส.สิริลภัส อภิปรายเนื้อหาหลักๆ คือ  ปีนี้กรมสุขภาพจิต ของบไป 4,400 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรแค่ 3,038 ล้านบาท คิดเป็นแค่ 1.8% ของงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันที่คนไทยมีปัญหาด้านสุขสภาพจิตมากถึง 10 ล้านคน แต่เข้ารับการรักษาแค่ 3 ล้านคน  รัฐช่วยยื่นมือให้ลึกพอ คว้ามือคนกลุ่มนี้ให้เห็นแสงสว่าง โรคจิตเวชไม่ได้เลือกคน ไม่ว่าจะประชาชนหาเช้ากินค่ำ หรือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเกิดขึ้นได้หมด  เมื่อรัฐบาลมีอำนาจตัดสินใจในการแก้ปัญหา ก็ต้องทำ อย่ารอให้สายเกินไป

ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว

โดยได้อธิบายเพิ่มเติม ว่า   ในโลกออนไลน์ 1 ปีที่ผ่านมา มีคนพูดถึงภาวะซึมเศร้า และคำที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ถึง 764,179 ข้อความ และมีการเข้าถึงข้อมูลเกือบ 200 ล้านครั้ง นี่เป็นปัญหาสุขภาพจิตของประเทศ การแก้ไขมี 3 ระยะ คือ ระยะสั้น แก้ไขอย่างเร่งด่วนในทุกช่วงวัย  ระยะกลาง กระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภ าพ และระยะยาว สู่สังคมสุขภาพจิตดีอย่างยั่งยืน

โดยระยะสั้น จากสถิติความรุนแรงมีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวกว่า 2.7 พันราย เกิดในเด็ก 995 ราย ทั้งถูกทำร้ายร่างกาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกกระทำอนาจาร ทารกถูกทอดทิ้ง ทั้งนี้ การเติบโตมากับครอบครัวรุนแรงจะทำให้เสี่ยงเติบโตเป็นโรคจิตเพธ และเป็นหนึ่งในปัจจัยก่อให้พวกเขาเติบโตเป็นอาชญากรได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น พบว่า วัยรุ่นจำนวนแสนกว่าราย เสี่ยงเป็นซึมเศร้ากว่า 1.1 หมื่นราย และเสี่ยงฆ่าตัวตายอีกเกือบ 2 หมื่นราย

อีกทั้ง วัยนี้ยังถูกกลั่นแกล้ง ทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิต และยังเสี่ยงทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น จึงไม่แปลกใจว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีคำปรากฎในโซเชียลฯเกี่ยวกับบูลลี่อยู่ถึง 1 แสนกว่าข้อความ โรงเรียนในสังกัดสพฐ. มีนักจิตวิทยา 1 คนต่อ 1 เขตการศึกษา หมายความว่า หากเขตการศึกษามีนักเรียน 1 แสนคน อัตรานักจิตวิทยาจะเท่ากับ 1 คนต่อ1 แสนประชากร ซึ่งไม่สามารถทำงานได้

ส่วนวัยทำงาน จากการสำรวจโดย MENTAL HEALTH CHECK IN ของกรมสุขภาพจิต พบว่าวัยทำงานกว่า 1 ล้านคน เสี่ยงเป็นซึมเศร้า 6 หมื่นกว่าคน ภาวะหมดไฟถึง 5 หมื่นคน และความเครียดสูง 5 หมื่นกว่าคน และใน 3 เดือนที่ผ่านมา บนโซเชียลฯมีคำพูดทั้งหมดไฟ เครียดสูงมากเช่นกัน

ตำรวจ ทหาร ครู บุคลากรทางการแพทย์ล้วนมีปัญหาสุขภาพจิต

“ยกตัวอย่าง บุคลากรภาครัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร ครู บุคลากรทางการแพทย์ ล้วนมีภาระงานที่หนักเหมือนกัน หากท่านไม่ดูแลพวกเขา พวกเขาจะดูแลประชาชนอย่างไร ไม่ว่าจะอาชีพตรวจ พบอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไป 3 เท่า ที่สำคัญอาชีพนี้มีโอกาสเข้าถึงอาวุธมากกว่าคนทั่วไป เราจะเห็นตามปรากฎในหน้าข่าว ภาระงานครูก็ยังกดดันเช่นกัน หมดไฟจนเป็นภาวะซึมเศร้า รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล แพทย์จบใหม่ ไม่สามารถรับมือภาวะซึมเศร้า จนต้องฆ่าตัวตาย”

ผู้สูงวัยก็เช่นกัน ทั้งความโดดเดียว โรคประจำตัว ผู้สูงวัยที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งมีสถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จใน 6 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2560-2566) สูงตลอด ในแต่ละปีจะมีผู้สูงวัย 1 ล้านคนฆ่าตัวตายสำเร็จปีละ 100 คน  ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตต้องเร่งแก้ไข แต่ปรากฎว่า กรมสุขภาพจิตกลับได้งบประมาณไม่แตกต่างจากเดิม

ถามรัฐจัดงบแก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างไร ได้เฉลี่ยหัวละ 3 บาท  

ทั้งนี้ มีหลายโครงการที่จะช่วยเข้าไปแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตแต่ละช่วงวัย แต่ได้รับงบฯน้อยกว่าปีที่แล้ว อย่าง โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กที่พัฒนาการล่าช้าเข้าถึงบริการพัฒนาการและสุขภาพจิตที่ดีได้ 26,000 คน ขอไป 31 ล้านบาท โดนตัดเหลือ 11.86  ล้านบาท คิดเป็นรายหัวจาก 1 พันกว่าบาท เหลือเพียงคนละ 400 กว่าบาท โครงการเสริมสร้างสุขภาพจิตวัยสูงอายุ ที่มีกลุ่มเป้าหมาย 1.5 แสนคน ขอไป 5 ล้านบาท โดนตัดเหลือ 4.3 ล้าน คิดค่าเฉลี่ยหัวละ 22 บาท จะมีเพียง โครงการสร้างเสริมสุขภาพจิตวัยทำงาน เพื่อให้ประชากรวัยทำงานได้รับการส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นเป้าหมายสะสม 1,320,000 คน ขอไป 10.3 ล้าน ปีนี้ดีหน่อยได้มา 4 ล้าน ซึ่งคิดค่าเฉลี่ยต่อหัวตกคนละ 3 บาท

“จากค่าเฉลี่ยต่อหัวแบบนี้ คิดภาพไม่ออกว่า จะใช้เงินจำนวนนี้แก้ปัญหาอย่างไร คงทำได้ใช้เงินเท่าเดิม ลดกลุ่มเป้าหมายลง แบบนี้ยิ่งทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายน้อยเข้าไปอีก  ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีหลายโครงการถูกตัดงบอีกเยอะ เช่น โครงการแก้ปัญหาจิตเวชคนเมือง โครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ขนาดระยะสั้นยังโดนตัดงบ”

ส่วนระยะกลาง ที่รักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องมาที่การบริการ เมื่อผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น แต่หมอเท่าเดิม เมื่อแพทย์ใช้เวลากับคนไข้น้อยลงในระหว่างการรักษา ย่อมมีผลต่อการวินิจฉัยโรค บางคนรอไม่ไหว ย่อมอาการแย่ลง บางคนอาการดิ่ง ทนไม่ไหว ฆ่าตัวตาย หรือหากคนที่เสี่ยงก่อความรุนแรง และหลุดจากระบบการรักษา ยิ่งก่อความรุนแรงอีก

รัฐอิกนอร์งบฯเพิ่มบุคลากร สวนทางปัญหาจิตเวชคนไทย 10 ล้านคน

“แม้จะมีความพยายามในการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ แต่ภายใต้กรอบวงเงิน 686 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี  จะผลิตได้ 590 คน ซึ่งรวมหลากหลายวิชาชีพ โดยกรมสุขภาพจิตเปิดเผยข้อมูลเอง ว่า คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน แต่มีเพียง 3 ล้านคนที่เข้ารับบริการในระบบสาธารณสุข แทนที่รัฐจะเพิ่มงบฯผลิตบุคลากร แต่กลับอิกนอร์ รอให้คนไข้ล้นมือหมอ คนเข้าถึงบริการไม่ได้ พอจะแก้ไขจริงๆ ก็จะต้องใช้เงินมากขึ้น นี่ยังมียาอีกหลายตัวที่ควรเข้าสู่บัญชียาหลักฯ แต่จากอภิปรายครั้งที่แล้ว ตอนนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้า หากมีงบมากขึ้นก็จะแก้ปัญหาตรงนี้”  น.ส.สิริลภัส กล่าว

ส่วนระยะยาว คือ ทำให้เกิดสังคมสุขภาพจิตดีอย่างยั่งยืน นอกจากผลิตบุคลากร ก็ต้องเพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน เป็นบทบาทที่กรมสุขภาพจิตพยายามขับเคลื่อนหลายโครงการ แสดงให้เห็นว่า กรมฯมาถูกทาง แต่กลับได้งบไม่เพียงพอต่อโครงการที่จะแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นโครงการขยายผลทีมวิกฤตสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน โครงการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน โครงการเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลปัญหาสุขภาพจิตเด็ก และเยาวชนไทย ก็ถูกตัดงบอีก  ซึ่งหลายโครงการจะช่วยลดภาระงานจิตแพทย์ด้วย

  

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

- “สมศักดิ์” แจงงบ68 ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ดูแลปชช.-บุคลากร ทำกม. 3 ฉบับแยกตัวจาก ก.พ

"โอชิษฐ์ - ชญาภา" หวังงบฯ 68 ยกระดับสาธารณสุขไทย ชี้ "30 บ.รักษาทุกที่" ไม่ใช่การสงเคราะห์

- ก้าวไกล เสนอเปลี่ยนอาสากู้ภัยเป็น "อาชีพ" เพิ่มค่าตอบแทน-สวัสดิการ

- ‘ก้าวไกล’ จวกรัฐเป็นหนี้ผู้ประกันตนกว่า 6 หมื่นล้าน จี้จ่ายดอกเบี้ย 5% เพิ่มสิทธิประโยชน์

- รัฐบาลยันให้ความสำคัญงบสาธารณสุข เฉพาะยกระดับ 30บาทฯทุ่มงบกว่า 2.35 แสนล้าน