ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ก้าวไกล ซัดรัฐบาลให้ความสำคัญผู้ป่วยภาวะพึ่งพิงน้อยลง จี้รัฐมีมาตรการรองรับผู้ป่วยที่ตกหล่นอย่างไร ซ้ำหั่นงบฯ พัฒนาศักยภาพ อสส.-อสม. ทั้งที่เป็นกลุ่มอาสาสำคัญในการดูแล เพราะหมอและพยาบาลมีไม่เพียงพอ

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภา นายภูริวรรธก์ ใจสำราญ (สส.) กรุงเทพมหานคร เขต 12 พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณ 2568 ประเด็นการดูแลผู้ป่วยในภาวะพึ่งพิงระยะยาวและการดูแลแบบประคับประคอง ว่า จากการประเมินผู้ป่วยจากตัวชี้วัดเป้าหมายกองทุนหลักประกันสุขภาพ ประเทศไทยมีผู้ป่วยในระยะพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้น 

จากการประเมินผู้ป่วยแบบพึ่งพิงปี 2568 มี 686,823 คน จำนวนเป้าหมายที่เสนอขอ 334,823 คน อนุมัติงบประมาณ 245,648 คน มีผู้ป่วยตกหล่นรอบ 1 จำนวน 351,996 คน ตกหล่นจากงบประมาณรอบ 2 จำนวน 89,175 คน

งบประมาณดูแลแบบพึ่งพิง ที่เคยได้รับ 2,760.55 ล้านบาท ในงบประมาณปี 2567 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2,900.24 ล้านบาท แต่ข้อเสนอ คือ 3,435.15 ล้านบาท มีผลต่าง 534.9120 ล้านบาท

"จะมีมาตรการรองรับผู้ป่วยที่ตกหล่นอย่างไร การดูแลแบบภาวะพึ่งพิงที่ไม่พร้อม โอกาสที่ผู้ป่วยจะหลุดสู่การดูแลแบบประคับประคองก็ต้องมีมากขึ้น"

นายภูริวรรธก์ กล่าวด้วยว่า ข้อมูลจาก Health Data Center (HDC) งบประมาณการดูแลแบบประคับประคอง มีจำนวนผู้ป่วย 229,817 คน แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการปรึกษาและวางแผนการดูแลประคับประคอง (Advance Care Planning) เพียง 152,935 คน นอกจากนี้ งบประมาณจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการดูแลระยะสุดท้าย การดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน (Home Ward) มีการเบิกจ่ายรายหัว 9,000 บาท ไม่เกิน 6 เดือนต่อราย แต่ในปี 2568 จะอยู่ที่สถานชีวาภิบาล เพิ่มอัตราเหมาจ่ายต่อคนต่อปี 10,442 บาท งบฯเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีผู้ตกหล่นจากระบบ 76,882 บาท 

"เรื่องนี้สะท้อนวิธีคิด วิธีให้ความสำคัญของรัฐบาลในการดูแลภาวะพึ่งพิงและการดูแลแบบประคับประคองนั้นลดน้อยลง ทั้งที่มีความสำคัญกับผู้ป่วย เมื่อมองในมิติของผู้ป่วย มีงานวิจัยบอกว่า การดูแลแบบประคับประคองสามารถทำให้โอกาสการเข้าห้องไอซียูลดลง"

นายภูริวรรธก์ ย้ำว่า บุคลากรในสายงาน Long Term Care และ Palliative Care อัตราประชากรต่อหมอและพยาบาลที่ไม่เหมาะสมประชากร 10,000 คน หมอ 1 คน พยาบาล 1 คน ซึ่งน้อยมาก คนไข้ 200 เตียง ควรมีหมอด้านการดูแลประคับประคอง 3-4 คน และพยาบาล 2.5-4 คน จึงจะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยระยะพึ่งพิงและระยะประคับประคอง 

เมื่อบุคลากรไม่เพียงพอ แต่การรักษาแบบพึ่งพิงระยะยาว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จึงเป็นฟันเฟือง ตัวเชื่อมที่สำคัญ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มักจะนำผู้ป่วยกลับไปรักษาที่บ้าน แต่ในปี 2568 มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพ อสส.และอสม. แต่ถูกปรับลดงบฯ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพและบริการส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยกรมอนามัย ขอ 1,274.21 ล้านบาท ได้ 153.27 ล้านบาท โครงการองค์ความรู้ด้านสุขภาพได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ขอ 7,590.49 ล้านบาท ได้ 2,761.96 ล้านบาท 

"ถ้าลงพื้นที่จะเห็นบางคนนำโซฟามาแทนเตียง ผู้ป่วยมีแผลกดทับ บางคนรับยาไม่ได้ เพราะสิทธิที่มีครอบคลุมไม่ถึง จะเรียกรถพยาบาลก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ผู้ป่วยและญาติ ต้องเผชิญความเจ็บปวด นอกจากทนทุกข์จากตัวโรค ยังต้องทนกับความยากลำบากของสังคมที่ทับซ้อน จะเห็นว่าโรงพยาบาลจำนวนน้อยมากที่วางแผนให้ผู้ป่วยกลับบ้าน ไม่มีบุคลากรให้ข้อมูลเรื่องการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำไมหลายโรงพยาบาลจึงไม่จัดสรรบุคลากรเข้าไปให้ข้อมูล ในเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ผู้ป่วยที่ต้องดูแลพึ่งพิงระยะยาว และดูแลแบบประคับประคองเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้จำกัดแค่ผู้สูงอายุ" นายภูริวรรธก์ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

"โอชิษฐ์ - ชญาภา" หวังงบฯ 68 ยกระดับสาธารณสุขไทย ชี้ "30 บ.รักษาทุกที่" ไม่ใช่การสงเคราะห์

- ก้าวไกล เสนอเปลี่ยนอาสากู้ภัยเป็น "อาชีพ" เพิ่มค่าตอบแทน-สวัสดิการ

- “สมศักดิ์” แจงงบ68ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ดูแลปชช.-บุคลากร ทำกม. 3 ฉบับแยกตัวจาก ก.พ

- ‘ก้าวไกล’ จวกรัฐเป็นหนี้ผู้ประกันตนกว่า 6 หมื่นล้าน จี้จ่ายดอกเบี้ย 5% เพิ่มสิทธิประโยชน์

- รัฐบาลยันให้ความสำคัญงบสาธารณสุข เฉพาะยกระดับ 30บาทฯทุ่มงบกว่า 2.35 แสนล้าน