ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"โอชิษฐ์ - ชญาภา" สส.พรรคเพื่อไทย หวังงบฯ 68 ยกระดับสาธารณสุขไทย เพิ่มการกระจายตัวของแพทย์ช่วยเพิ่มโอกาศรอดชีวิตผู้ป่วยได้ ด้าน ชญาภา ชี้ "30 บ.รักษาทุกที่" ไม่ใช่การสงเคราะห์แต่ช่วยปชช.เข้าถึงบริการสะดวก มั่นใจ "นายกเศรษฐา" ใช้งบทุกบาทอย่างคุ้มค่า

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567  ที่ประชุมรัฐสภา น.ส. ชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่างงบประมาณประจำปี 2568 ว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเผชิญปัญหาโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย จากรายงานกรมกิจการผู้สูงอายุค พบว่าประชากรสูงวัยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวกว่า 1.3 ล้านคน หรืออาจเปรียบได้ว่าในทุกหมู่บ้านจะมีบ้านที่มีผู้สูงอายุเสียชีวิตลําพังอย่างน้อยหนึ่งคน

ประเทศไทยในตอนนี้กําลังเป็นสังคมผู้สูงวัยเต็มตัวแล้วเรามีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือประมาณ 13 ล้านคน ของจํานวนประชากร โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้มีจํานวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เพิ่มมากขึ้นและทําให้แรงงานลดลง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ถดถอย ในขณะเดียวกันความต้องการสวัสดิการและบริการด้านสาธารณสุขของผู้สูงอายุมีจํานวนเพิ่มมากขึ้น ปัญหาที่ 2 ประชาชนยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายบางส่วนทางการแพทย์อยู่ เช่น การรักษาโรคมะเร็ง การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลําใส้ใหญ่ การตรวจเต้านมด้วยเมมโมแกรม ภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้นํามาสู่ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น หรือหากมีการปฏิเสธการรักษาค่าใช้จ่ายก็จะสูงไปเท่าทวีคูณ นําไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง โรคก็มีความซับซ้อนมากขึ้นตามมาด้วยต้นทุนและการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น

ผู้มีรายได้น้อยนั้นนอกจากจะต้องแบกรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายทางตรงแล้ว ยังต้องเผชิญกับความยากลําบากในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ส่วนใหญ่สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเรามีแพทย์ประจําในเขตชนบทเพียง 1.3 คนต่อประชากร 1000 คน ในขณะที่เขตเมืองมีถึง 5 คนต่อประชากร 1000 คน ความห่างไกลนี้หมายถึงค่าใช้จ่ายแฝงที่ตามมา ทั้งค่าเดินทางก็ดีหรือแม้คนที่อยู่ในตัวเมืองเจ็บป่วยทีก็ต้องลางานไปหาหมอนั่นเท่ากับต้องสูญเสียรายได้ไปหนึ่งวัน น.ส. ชญาภา กล่าว

มุ่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้

ชญาภา กล่าวต่อว่า ดังนั้นในการจัดทําร่างพรบงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2568 นี้ รัฐบาลนําโดยท่าน "นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีศิลป์" จึงคํานึงถึงความจําเป็นและให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการดูแลคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตที่ดีมีสวัสดิการที่เหมาะสมตามนโยบายสําคัญของรัฐบาลทั้งระยะสั้นระยะยาวและระยะกลาง ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มุ่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ดํารงชีวิตประจําวันได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสําหรับผู้สูงอายุและบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง

เพราะผู้สูงอายุไม่ต้องการเพียงแค่การดูแลเรื่องความเจ็บป่วยให้หายไปเท่านั้น แต่ต้องการที่จะมีสุขภาพที่แข็งแรงมีความมั่นคงปลอดภัยและมีส่วนร่วม สังคม จึงมีการขับเคลื่อนเรื่องสถานชีวาภิบาลในระดับอําเภอ ซึ่งจะทํางานด้านการดูแลผู้สูงอายุและบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิงผู้ป่วยติดเตียงตลอดจนบริการดูแลประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งมีงบประมาณรองรับสถานชีวาภิบาลจํานวน 1,426 ล้านบาท ครอบคลุมการดําเนินการในกลุ่มเป้าหมาย 352,000 ราย สําหรับผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลในสถานชีวาภิบาลจะได้รับค่าบริการรายหัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 6,000 บาทเป็น 10,442 บาทต่อคนต่อปี

ในครั้งนี้ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคสู่ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จะเป็นการขยายสิทธิประโยชน์ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจาก 30 บาทรักษาทุกโรคสู่ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งก่อนอื่นเราต้องทําความเข้าใจให้ถูกต้องร่วมกันก่อนว่านโยบาย 30 บาทไม่ใช่การสงเคราะห์แต่เป็นสิทธิพื้นฐานและการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ อย่างทั่วถึงเท่าเทียมให้แก่พี่น้องประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการเชื่อมโยงระบบข้อมูลด้านสุขภาพประวัติการรักษาข้อมูลการบริการและข้อมูลการเบิกจ่ายผ่านระบบศูนย์กลางข้อมูลอย่างรวดเร็ว ลดความแออัดของโรงพยาบาล ลดการรอคอยนานๆของพี่น้องประชาชนและอํานวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนมีความสะดวกสบายมากขึ้น

เชื่อว่าประชาชนที่แข็งแรงคือรากฐานของรัฐที่แข็งแกร่ง ดิฉันจึงเห็นชอบและรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี 2568 นี้ เพื่อให้รัฐบาลได้ดําเนินการขับเคลื่อนนโยบายตามแนวที่วางไว้และ ดิฉันเชื่อมั่นว่ารัฐบาลที่นําโดย นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์จากภาษีของพี่น้องประชาชนให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ ชญาภา กล่าวทิ้งท้าย

 

ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น

นพโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย สส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เชื่อว่าหมอในชนบท 1 คนมีอัจฉริยภาพมาก หากมีการกระจายของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดี โดยรัฐบาลชุดนี้จะทําให้ 30 บาทรักษาทุกที่รักษาที่ไหนก็เหมือนกันคุณภาพเท่ากัน ขณะที่ความต้องการแพทย์ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆการผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต้องใช้งบประมาณและเวลา แต่งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่ขอรับการจัดสรรผ่านสํานักงบประมาณที่ผ่านมากลับถูกปรับลด 30% เป็นแบบนี้ทุกๆปี ส่งผลทําให้เราไม่อาจจะผลิตแพทย์ได้ทันต่อความต้องการ แต่ถ้าการจัดสรรงบประมาณบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอไม่ได้ทําให้งานของแพทย์และพยาบาลลดลงตามงบประมาณที่ลดลง แต่การจัดสรรงบประมาณที่ลดลงกลับทําให้ภาระงานของแพทย์และพยาบาลหนักขึ้น บวกกับประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็ยิ่งทําให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะ 3 ยิ่ง คือ "ยิ่งแก่ ยิ่งยาก ยิ่งแพง"

เพราะฉะนั้นคําตอบในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของไทยโดยนําหลักคิดยกระดับสาธารณสุขไทยทั้งระบบซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยและวิสัยทัศน์ศูนย์กลางทางด้านการแพทย์ของนโยบายรัฐบาลท่านเศรษฐามาบูรณาการเท่ากัน และหากมาบูรณาการเท่ากันด้วยการยกระดับสาธารณสุขไทยทั้งระบบด้วยการใช้เทคโนโลยีและเอไอในการวินิจฉัยและรักษาโรค เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการของคนไข้ เพื่อช่วยลดภาระงานของแพทย์และพยาบาลลดภาระและระยะเวลาการรอคอยของคนไข้ ยกระดับการแพทย์ฉุกเฉิน ทําให้ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและอยู่ในภาวะฉุกเฉินได้รับการรักษาที่เร็วขึ้น ช่วยลดความรุนแรงของโรคและช่วยลดภาระงานและชั่วโมงการทํางานของแพทย์และพยาบาล อีกทั้งยกระดับการแพทย์ปฐมภูมิ เพื่อเสริมสร้างให้ระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็งพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นพโอชิษฐ์ กล่าว

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาชั่วโมงการทํางานที่สูงเกินไปของบุคลากรทางการแพทย์ อย่างที่ทราบกันดีว่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องแบกรับหน้าที่และความรับผิดชอบมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น หมอและพยาบาลต้องควงเวรติดต่อกันมากกว่า 32 ชั่วโมงต่อเนื่อง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเพิ่มงบประมาณเติมหมอและพยาบาลเข้าสู่ระบบเพื่อลดภาระบุคลากร ป้อนคนเพิ่มเสริมประสิทธิภาพการทํางานและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีและเอไอ ใช้เอไอครับในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ใช้เทคโนโลยีเสริมเข้าไปในการรักษา เช่น เทเลเมซีน เจาะเลือดใกล้บ้าน นัดหมายออนไลน์ รับยาใกล้บ้าน ส่งยาทางไปรษณีย์ เพื่อลดภาระของบุคลากรและเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ยกระดับการแพทย์ฉุกเฉินทั้งทางบกอากาศและทางน้ําเพื่อทําให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้น

 

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

- ก้าวไกล เสนอเปลี่ยนอาสากู้ภัยเป็น "อาชีพ" เพิ่มค่าตอบแทน-สวัสดิการ

- “สมศักดิ์” แจงงบ68ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ดูแลปชช.-บุคลากร ทำกม. 3 ฉบับแยกตัวจาก ก.พ

- ‘ก้าวไกล’ จวกรัฐเป็นหนี้ผู้ประกันตนกว่า 6 หมื่นล้าน จี้จ่ายดอกเบี้ย 5% เพิ่มสิทธิประโยชน์

- รัฐบาลยันให้ความสำคัญงบสาธารณสุข เฉพาะยกระดับ 30บาทฯทุ่มงบกว่า 2.35 แสนล้าน