ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ปิยชาติ" ชี้เคสผู้ป่วยฉุกเฉินมี 2 ล้านครั้งต่อปี พึ่งพาอาสาถึง 70% ของระบบ แนะเปลี่ยนงาน "อาสา" เป็น "อาชีพ" จ้างนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ให้ได้รับค่าตอบแทน ที่เป็นธรรมและมั่นคง เพิ่มศักยภาพใน 5 ปี ให้ได้รับประกาศนียบัตรเฉพาะด้าน ภาครัฐอุดหนุนการศึกษาให้กับมูลนิธิ  

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภา นายปิยชาติ รุจิพรวศิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) นครราชสีมา พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณปี 2568 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ขอเป็นตัวแทนอภิปราย ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาชีพกู้ภัยเปลี่ยนอาสาให้เป็นอาชีพ ขอกล่าวถึงปีที่ผ่านมา มีเคสผู้ป่วยฉุกเฉินประมาณ 2 ล้านครั้งต่อปี 31% การเสียชีวิตในประเทศไทย เกิดจากโรคฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุยานยนต์ ชัก หายใจติดขัด แต่อัตราเข้าถึง EMS Emergency Medical Sevices หน่วยบริการฉุกเฉินที่ให้การดูแลรักษาอาการป่วยนอกโรงพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บเฉียบพลัน ไม่ให้เคลื่อนย้ายด้วยตนเองเพียงแค่ 18% โดยมีหน่วยครอบคลุม หน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์รวมกันเพียง 54% 

  • มีแพทย์ฉุกเฉินยัง active ประมาณ 800 คน
  • นักฉุกเฉินการแพทย์ เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ พนักงานฉุกเฉินการแพทย์รวมกัน 10,000 คน
  • บุคลากรหน้าด่านหลักที่คอยเข้าชาร์จผู้ป่วยฉุกเฉิน กลับเป็นเหล่าอาสาสมัครราว 45,000 คน 
  • การพึ่งพาอาสาเหล่านี้อยู่ที่ 70% ของระบบ

จากเหตุการณ์สายการบินลงจอดฉุกเฉินในประเทศไทย เหตุการณ์นี้ได้รับความร่วมมือจากกู้ภัยในการรับส่งโรงพยาบาล จนได้รับคำชมจากต่างประเทศ 

นายปิยชาติ ยังกล่าวถึงปัญหา 3 ด้านที่พบ ได้แก่

1.รายได้ไม่เพียงพอ โดยค่าตอบแทนกู้ภัยประมาณ 300-500 บาทต่อรอบ เฉลี่ยวิ่งเดือนละ 300 รอบ จำนวนกู้ภัยประจำจุด 10 คน และมักจะเจอกับคำถามว่า รักษาได้จริงหรือไม่ "ภาครัฐแทบจะให้ค่าอาชีพนี้เป็นอันดับท้าย ไม่มีเงินเดือน ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีประกันสังคม"

จากข่าวในปี 2566 ที่ผ่านมา สพฉ.จ่ายค่าตอบแทนให้กู้ภัยล่าช้าเป็นเวลาถึง 8 เดือน จำนวนเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้กู้ภัยจำนวนมากต้องหยุดวิ่ง เพราะไม่มีเงินทุน โดย สพฉ.ให้เหตุผลว่า ได้พัฒนาระบบเว็บไซต์เป็นสาเหตุให้ข้อมูลของกู้ภัยหายหมด และเรียกขอข้อมูลกู้ภัยใหม่อีกรอบ นอกจากนี้ สพฉ.ยังได้ชี้แจงเร็ว ๆ นี้ว่า ได้จ่ายเงินให้กับกู้ภัยครบแล้วตามจำนวนที่กำหนด 

"ผมเข้าไปดูหลักฐานการโอนเงิน สพฉ. ในเว็บไซต์ ยังพบว่าเป็นการจ่ายแบบ 2 เดือนครั้ง จะดีกว่าไหม ถ้าจะจ่ายแบบเดือนต่อเดือนให้กับกู้ภัย พร้อมกับสวัสดิการให้"

2.คุณภาพของผู้ให้บริการ บุคลากรที่ทำงานกู้ชีพฉุกเฉินมาจากอาสาสมัคร ยังไม่มีหลักเกณฑ์ และยังมีกู้ภัยอีกจำนวนมากอบรมไม่ครบหลักสูตรที่ สพฉ. มี

3.เครื่องมือรองรับสภาวะฉุกเฉินไม่เพียงพอ จึงอยากเสนอแนะให้ตั้งกิจกรรมเพิ่มเติมขึ้นมา ขอเสนองบในกิจกรรมนี้ 35 ล้านบาท เพื่อนำงบฯในส่วนนี้ ไปซื้ออุปกรณ์ที่สำคัญ กับการช่วยเหลือชีวิตคนให้ รถกู้ภัย คือ เครื่อง AED สำหรับราคาที่เหมาะกับรถกู้ภัย อยู่ที่ 6-7 หมื่นบาท จึงเสนอให้เฟสแรก กระจายเครื่องไปยังรถกู้ภัยทั่วประเทศ 500 คัน ให้กับรถกู้ภัยที่ได้มาตรฐานเป็นรถกู้ภัยจากมูลนิธิเท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องผ่านการอบรมเครื่อง AED จนมีความชำนาญ 

สำหรับข้อเสนอแนะจากพรรคก้าวไกล เพื่อเปลี่ยนงาน "อาสา" ให้เป็น "อาชีพ"

  1. เพิ่มงบประมาณและข้อกำหนดของท้องถิ่น ในการจ้างนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้รับค่าตอบแทน ที่เป็นธรรมและมั่นคง เช่น จ้างเป็นบุคลากรประจำ จ้างเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ โดยมีข้อตกลง การปฏิบัติงานชัดเจน ซึ่งพรรคก้าวไกล สนับสนุนให้กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่น และท้องถิ่นสามารถ สนับสนุน ให้กับกู้ภัยและมูลนิธิต่าง ๆ 
  2. เพิ่มศักยภาพของระบบอาสากู้ภัยให้ได้รับประกาศนียบัตรเฉพาะด้าน เช่น EMT EMR ให้ครบ 100% ของจำนวนกู้ภัยทั้งประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี
  3. ตั้งเป้าให้มี Paramedic หรือ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ 
  • ระดับปริญญาตรี อย่างน้อย 1 คน ทุกมูลนิธิ
  • ระดับประกาศนียบัตร 100% ประจำทุกจุดของหน่วยกู้ภัย ภายใน 5 ปี โดยภาครัฐอุดหนุนการศึกษาให้กับมูลนิธิ

"ผมอยากเสนอแนะให้เพิ่มงบประมาณกิจกรรมหลักที่ 8 และกิจกรรมหลักที่ 2 เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีข้อสงสัยกิจกรรมหลักที่ 10 พัฒนาระบบดิจิทัลการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ รองรับการปฏิบัติการฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพสูง วงเงิน 13.6300 ล้านบาท สาเหตุที่ สพฉ.จ่ายกู้ภัยล่าช้า เพราะพัฒนาระบบเว็บไซต์ แต่จากที่ได้เข้าไปยังติดขัดหลายรายการ บางรายการเปิดดูไม่ได้ บางรายการอัปเดตถึงปี 2566 จึงสงสัยว่า สพฉ.พัฒนาเว็บไซต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่" นายปิยชาติ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

"โอชิษฐ์ - ชญาภา" หวังงบฯ 68 ยกระดับสาธารณสุขไทย ชี้ "30 บ.รักษาทุกที่" ไม่ใช่การสงเคราะห์

- “สมศักดิ์” แจงงบ68ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ดูแลปชช.-บุคลากร ทำกม. 3 ฉบับแยกตัวจาก ก.พ

- ‘ก้าวไกล’ จวกรัฐเป็นหนี้ผู้ประกันตนกว่า 6 หมื่นล้าน จี้จ่ายดอกเบี้ย 5% เพิ่มสิทธิประโยชน์

- รัฐบาลยันให้ความสำคัญงบสาธารณสุข เฉพาะยกระดับ 30บาทฯทุ่มงบกว่า 2.35 แสนล้าน

- "ภูริวรรธก์" จวก รบ. หั่นงบฯพัฒนา อสส.-อสม. ฟันเฟืองสำคัญดูแลผู้ป่วยในภาวะพึ่งพิง