ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สมศักดิ์” แจงยิบ! งบ68 ประชุมสภา หลังสส.ก้าวไกลมองใช้งบสาธารณสุขน้อย เผยทุ่มงบดูแลประชาชนขยายสิทธิบริการสุขภาพ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เพิ่มเหมาจ่ายรายหัว ให้ความสำคัญบุคลากร เตรียมแผนกำลังคน เร่งทำกฎหมาย 3 ฉบับ แยกตัวออกจาก ก.พ.  ดันพรบ.อสม.ให้พวกเขามีที่ยืน เดินหน้าระบบการแพทย์ปฐมภูมิ

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภา มีการอภิปรายงบประมาณ2568 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) พรรคก้าวไกล ทักท้วงงบประมาณสาธารณสุขในประเด็นต่างๆ 

(ข่าวเกี่ยวข้อง: “กัลยพัชร” ซัดสธ. จัดงบไม่เพียงพอ! ทำรพ.สต.ขาดกำลังคน ถามนโยบายผลิตแพทย์ ครม.ไม่เอาแล้วหรือ?)

ต่อมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ชี้แจงในการอภิปรายงบประมาณปี 2568 ภายหลังมี สส.พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามเรื่องงบประมาณที่น้อยเกินไป ว่า   เรื่องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการใช้งบประมาณ มีการอภิปรายหลายประเด็น จากการทำงานในกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 1 เดือนเศษ ก็มีประเด็นส่วนใหญ่ที่เข้าใจและตอบได้  อย่างกรณีการแก้ญหายาเสพติดนั้น

ต้องเรียนว่า มารับหน้าที่ตรงนี้ได้เปลี่ยนและออกประกาศ ยาเสพติด เรื่องการถือครอง “ยาบ้า 1 เม็ด” เป็นผู้เสพ แต่มติ ครม.ระบุว่า ต้องสอบสวนก่อนว่าเป็นผู้เสพ จึงจะสามารถบำบัดได้ ซึ่งตามหลักการของประมวลกฎหมายยาเสพติดก็ให้มีการสอบสวนด้วย นำไปสู่ผู้ค้า เพื่อจัดการอย่างครบวงจร นี่คือการให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติด ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญการบำบัดผู้ป่วยแบ่งออกเป็น 4 สี คือ  สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง โดยสีส้มและแดง เป็นผู้ป่วยรุนแรง ทางกระทรวงสาธารณสุขมีเตียงรองรับเพียงพอ โดยเฉลี่ยผู้ป่วยเข้าบำบัดปีละ 1.1 แสนราย ดังนั้น หากใช้กระบวนการกฎหมายครบถ้วนก็จะเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์ ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ หากทำให้ครบ และคนชี้เบาะแส จะได้ส่วนแบ่ง 5% สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนทำคดี อัยการได้ถึง 25%

ส่วนประเด็นการแพทย์ฉุกเฉิน รถกู้ภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) อย่างรถกู้ภัยยังไม่ครบในทุกตำบล แต่ส่วนหนึ่งจะเป็นความร่วมมือของ สพฉ.และอบต. ที่มีความพร้อมก็จัดแนวทางแพทย์ฉุกเฉินอยู่ จากการติดตามช่วง 2 สัปดาห์ ตนพบว่า มีรถปลอม ซึ่งกำลังแก้ไข โดยจะขอให้ขนส่งทางบก ทำทะเบียนพิเศษในส่วนรถกู้ภัยต่างๆ ส่วนการอบรมมาตรฐานต่างๆ ที่ให้คำแนะนำมา ก็จะรับมาพิจารณาดำเนินการต่อไป

ส่วนการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เราทำแผนแล้ว อย่างแพทย์ต้องเพิ่มให้เข้าสู่เป้าหมายว่าในอีก 10 ข้างหน้า หรือปี 2577  ควรเพิ่มแพทย์อีกกว่า 4.1 หมื่นคน ทันตแพทย์อีกกว่า 4.1 พันคน และพยาบาลอีก 57,809 คน โดยสถาบันพระบรมราชชนก กำลังดำเนินการตรงนี้

“เข้าใจที่ท่านเป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนัก ผมกำลังดำเนินการ ตอนนี้ได้ให้นโยบายแล้วว่า เราจะนำกระทรวงสาธารณสุขออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน  (ก.พ.)  เพื่อปูนบำเหน็จของคนทำงาน และให้ดำเนินการเป็นกฎหมาย ต้องร่างเป็นกฎหมาย กฎเกณฑ์ถึง 3 ฉบับ ถึงจะทำสำเร็จได้ ไม่ใช่ง่ายๆ อย่างการออกกฎหมายก็ต้องพึ่งพาสมาชิกผู้แทนราษฎรของสภานี้ทั้งหมดช่วยกัน” นายสมศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ยังมีอสม. ที่จะผลักดันเป็นกฎหมาย จึงเรียนสมาชิกทุกท่านขอให้พวกเขามีกฎหมายเพื่อความยั่งยืน โดยขณะนี้กำลังดำเนินการร่าง พ.ร.บ.อสม. เพื่อให้พวกเขามีที่ยืน  เนื่องจากพิจารณาแล้วจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นปีละเฉลี่ย 5% เราจึงต้องส่งเสริมสุขภาพให้ลดอัตราการป่วย ลดการเข้ารักษาในรพ. ดังนั้น เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพการแพทย์ปฐมภูมิ มีเครื่องมือให้อสม.ทำงาน มีการใช้ดิจิทัลมาช่วย ซึ่งกระทรวงฯ กำลังดำเนินการ

อย่าง นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ตอนนี้เชื่อมระบบไปทั่วประเทศแล้ว เพียงแต่การทดลองที่จะใช้ ก็ยังต้องทดลองเรื่อยๆ เนื่องจากต้องพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้พร้อม ซึ่งจะสมบูรณ์คือภายในปีนี้

“จากนโยบายเร่งรัด 5 ด้าน อย่างการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ มุ่งเน้นนำเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่การยกระดับขีดความสามารถของรพ. คำนึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ คุ้มครองข้อมูลบุคคล เพิ่มเหมาจ่ายรายหัวจากเดิม 3,472 บาทต่อคนต่อปี เป็น 3,844 บาทต่อคนต่อปี  ยังเพิ่มค่าบริการเฉพาะกลุ่มอีก 1,101 ล้านบาท(ผู้ป่วยเอดส์ ไตวาย โรคเรื้อรัง)  ขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆ อีกมาก เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่ผ่านมาจะเป็น 2 สายพันธุ์ แต่การดำเนินการในงบประมาณนี้ จะพิจารณาขยายสายพันธุ์มากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุม และให้อยู่ในมาตรฐานราคาใกล้เคียง โดยจะยึดใช้บริการของดี ราคาพอประมาณ”  

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ยังลุกขึ้นแจงประเด็นเรื่องงบประมาณปัญหาการตั้งครรภ์ โดยระบุว่า หญิง 1 คนมีบุตรเฉลี่ย 1.2 คน ซึ่งตัวเลขนี้น้อยเกินไปตามสถิติจากการประมาณการณ์ ว่า คนไทยควรมีบุตร 2.1 คน จึงเป็นตัวเลขท้าทาย โดยอภิปรายกันว่า งบประมาณได้น้อย อย่างกรมอนามัยได้ 1.8-2 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่มีเฉพาะกรมอนามัย เพราะการดูแลเรื่องของเด็ก เป็นการบูรณาการหลายกระทรวง ทั้ง พม. มหาดไทย การคลัง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ เกี่ยวกับสปสช.ด้วย มีงบในการให้ดูแลความสมบูรณ์ของนายกฯ วันนี้เด็กเกิด 4.5 แสนคน แต่มาใช้การตรวจ ดูยีน กลับมีเพียง 1.8 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้จะทำให้ทราบว่า เด็กในครรภ์มีความสมบูรณ์แค่ไหนอย่างไร จากสถิตินับหมื่นคน เด็กเกิดมาไม่สมบูรณ์ ทางสปสช.ใช้งบตรงนี้ประมาณ 252 ล้าน หัวละ 1,400 บาทต่อคน แต่สาธารณสุขก็ต้องบูรณาการ

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

- รัฐบาลยันให้ความสำคัญงบสาธารณสุข เฉพาะยกระดับ 30บาทฯทุ่มงบกว่า 2.35 แสนล้าน

ก้าวไกล โวยรัฐตัดงบ68 ดูแลปัญหาสุขภาพจิตคนไทย ขณะที่บุคลากรการแพทย์ ตำรวจ ทหาร เครียดสะสม

"โอชิษฐ์ - ชญาภา" หวังงบฯ 68 ยกระดับสาธารณสุขไทย ชี้ "30 บ.รักษาทุกที่" ไม่ใช่การสงเคราะห์

- ก้าวไกล เสนอเปลี่ยนอาสากู้ภัยเป็น "อาชีพ" เพิ่มค่าตอบแทน-สวัสดิการ

- ‘ก้าวไกล’ จวกรัฐเป็นหนี้ผู้ประกันตนกว่า 6 หมื่นล้าน จี้จ่ายดอกเบี้ย 5% เพิ่มสิทธิประโยชน์

- รัฐบาลยันให้ความสำคัญงบสาธารณสุข เฉพาะยกระดับ 30บาทฯทุ่มงบกว่า 2.35 แสนล้าน