ศ.นพ.ยง รับรางวัลขุนประเมินวิมลเวชช์ ประจำปี 2567 เล่าถึงบทบาทการค้นพบไวรัสก่อโรคระบาดแต่ละยุค ทั้งไวรัสตับอักเสบบี ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่2009 กระทั่งวิกฤตโควิด19 สู่บทบาทการศึกษาวัคซีน-ชุดตรวจโควิด ที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายประเทศ
ภายในงานประชุมวิชาการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ประจำปี 2567 Shaping the Future of Public Health 2030 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งยังมอบ “รางวัลขุนประเมินวิมลเวชช์” ประจำปี 2567 ให้แก่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“หมอยง” กับประสบการณ์ป้องกันวิกฤตโรคระบาด
ศ.นพ.ยง กล่าวในเวทีหลังรับรางวัลฯ ว่า ในเรื่องการศึกษาด้านไวรัสตับอับเสบเริ่มตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา ขณะนั้นเป็นหมอเด็ก แต่ยังได้ดูแลคนไข้มะเร็งจากไวรัสตับอักเสบปีละ 1-2 คน ขณะนั้นทราบว่ามาจากไวรัสตับอับเสบบี ซึ่งสาเหตุมาจากตอนคลอด หากแม่เป็น ลูกก็จะเป็น จึงนำมาสู่การคัดกรองคนท้อง และฉีดวัคซีนป้องกันให้เด็กโดยเร็วที่สุด ปัญหาคือ แม่ที่ฝากท้อง เมื่อพบเชื้อจะไม่กลับมาฉีดวัคซีน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด ตอนเช้าให้พยาบาลตรวจคัดกรองและพัฒนาแลปที่ได้ผลเร็วภายใน 3-4 ชั่วโมง เมื่อรู้ผล และคลอดเมื่อไหร่จะไปฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นวิธีได้ผลดีที่สุด ตอนนั้น รพ.จุฬาฯ คลอดเดือนละ 2 พันคน ตอนนั้นทราบทันทีว่า หากทำแบบนี้ให้วัคซีนภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด จะป้องกันอย่างรวดเร็ว โดยวัคซีนอย่างเดียวป้องกันได้ 94% ซึ่งจากการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ทั้งนี้ ยังติดตามข้อมูลไปถึง 20 ปี ซึ่งไม่มีการติดเชื้อแต่อย่างใด ถือเป็นการศึกษาระยะยาวของไทย
นอกจากนี้ ยังศึกษาว่า หากชะนีที่มีไวรัสตับอักเสบบีมากัดคน จะติดหรือไม่ จึงได้ศึกษา ตับคนไปฝากไว้ในหนู และฉีดไวรัสตับอักเสบบีไว้ในหนูแทน ซึ่งปรากฎว่าติดเชื้อจริง จึงต้องป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในชะนี
“เมื่อเกิดการระบาดของไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งตอนนั้นมีประเด็นความโปร่งใส จริงๆขณะนั้นระบาดก่อนหน้านั้น ตั้งแต่พบเสือตาย 4 ตัวจากบึงฉวาก ซึ่งผมพบว่า เสือตายจากหวัดนก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2003 แต่ขณะนั้นรัฐบาลไม่ให้ประกาศ แต่ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ นักวิจัยไวรัสวิทยา เก่งกว่าประกาศเลยในเดือนมกราคม 2004 เพราะพบในคน ปัญหาตอนนั้นเห็นชัดว่า ถูกปิดปากไว้ จากนั้นเราถอดรหัสพันธุกรรมของหวัดนก และจากนั้นก็จะพบเรื่อยๆ คนตายจากหวัดนก ผมขอเลือดและนำมาตรวจรหัสพันธุกรรมจนพบว่าเป็นเชื้อ H5N1” ศ.นพ.ยง กล่าว
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ขณะนั้นเสือตายเยอะมาก เมื่อฆ่าเสือที่ติดเชื้อ ต้องเอาแมคโครขุดดินฝัง และใช้คอนกรีตเท ป้องกันคนขุดขึ้นมา และตอนนั้นยังให้ยาโอเซลทามิเวียร์ให้เสือกิน แต่ก็ไม่รอด ต่อมาก็เจอในแมว แมวตายเพราะกินนกพิราบ ต่อมาเจอในหมาอีก แสดงว่าติดได้ทุกชนิดติดหวัดนกได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากหวัดนกก็มีการพัฒนาห้องปฏิบัติการนิรภัยชีวภาพระดับ 3 ขึ้น ซึ่งตอนเกิดไข้หวัดนกยังไม่มีห้องนิรภัยฯ ต่อมาก็พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009
ประสบการณ์สู่การเรียนการสอนหมอรุ่นใหม่
จากประสบการณ์ดังกล่าว ศ.นพ.ยง ยังได้นำประสบการณ์ อย่างช่วงโควิด การศึกษาชุดตรวจ และวัคซีนป้องกันโควิด มาสอนให้แก่นักศึกษาแพทย์ เพื่อให้ศึกษาเรื่องนี้ สอนถึงส่วนประกอบวัคซีน ที่มาที่ไปต่างๆ เป็นต้น
ความเชี่ยวชาญไวรัสวิทยา สู่รางวัลจำนวนมาก
สำหรับประวัติความเชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาโดยสังเขปของ ศ.นพ.ยง ขณะเป็นแพทย์ใช้ทุนที่รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เรียนต่อเฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์ รับราชการตำแหน่งอาจารย์หลังจากเรียนจบ และมีความสนใจศึกษาโรคตับอักเสบเป็นพิเศษ เนื่องจากช่วงเวลานั้นในหวอดผู้ป่วยเด็ก เต็มไปด้วยเด็กป่วยที่มีตัวเหลืองจำนวนมาก และเมื่อได้ไปอบรมที่ประเทศอังกฤษจึงตระหนักว่าประเทศไทยขาดแคลนงานวิจัยและการสร้างความรู้ด้วยตนเอง
หลังกลับมาได้ริเริ่มโครงการวิจัยจากปัญหาหน้างานที่เป็นปัญหาใหญ่ของทั้งประเทศ คือ ปัญหาเด็กเกิดใหม่ได้รับไวรัสตับอักเสบจากแม่สู่ลูกในอัตราที่สูงมาก เริ่มจากการเจาะเลือดแม่ทุกคนที่มาคลอดที่รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีปีละราว 2,000 คน เตรียมแล็ปที่รู้ผลภายใน 4 ชั่วโมง หากพบผลเลือดแม่เป็นบวก จะฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบให้ลูกทันที ด้วยวิธีนี้สามารถตัดวงจรการส่งต่อเชื้อจากแม่สู่ลูกได้อย่างได้ผล และพบว่าการให้วัคซีนแก่ทารกภายใน 12 ชั่วโมงสามารถป้องกันโรคได้ดีที่สุด
โครงการวิจัยชิ้นนี้มีการติดตามผลของวัคซีนในเด็กอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงอายุ 20 ปี จำนวน 400 คน ได้ข้อค้นพบว่าวัคซีนไวรัสตับอักเสบสามารถป้องกันได้ยาวนานถึง 20 ปี วัคซีนคุ้มกันได้ 94 % โดยไม่ต้องฉีดกระตุ้นซ้ำทุก 5,10ปีอีกตามคำแนะนำของบริษัทยา
ปี2528-2547 งานวิจัยการดูแลทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาะหะไวรัสตับอักเสบบี ติดตามต่อเนื่อง 20 ปี ได้รับการยอมรับในระดับโลก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย และมาตรการในการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีครั้งใหญ่ในประเทศไทยและนานาชาติ
อาจารย์ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญไวรัสตับอักเสบ เอ ซี และอี และเป็นกำลังสำคัญด้านวิชาการในการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก(WHO)ที่จะลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลง 90 % ลดการเสียชีวิตลง 65 % ภายในปี 2573
นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้ร่วมทำการศึกษาวิจัย พัฒนาแนวทางการให้วัคซีนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูง ทั้งไวรัสตับอักเสบ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หัดเยอรมัน คางทูม ทำให้การป้องกันโรคมีความก้าวหน้า สถิติการติดเชื้อต่างๆลดลงอย่างต่อเนื่อง และในฐานะหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก และหัวหน้าหน่วยวิจัยอนูชีววิทยาทางคการแพทย์ ภาควิชากุมรเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่และนักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่านงานวิจัยจำนวนมาก
ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ อาจารย์และศูนย์เชี่ยวชาญจะลงไปศึกษาถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสชนิดใหม่ เพื่อหาวิธีรับมือให้เร็วที่สุดเสมอ เช่น ช่วงการระบาดโรคไข้หวัดนก และโรคไข้หวัดใหญ่ 2009
ผลการศึกษาวิจัยชุดตรวจ-ความปลอดภัยวัคซีนโควิด 19
ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19ที่ผ่านมา อาจารย์ได้ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไวนรัสและวัคซีน เพื่อหาแนวทางป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มกำลัง ทำการติดตาม ศึกษา จนสามารถพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยสายพันธุ์ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ทำงานวิจัยเรื่องความปลอดภัยและผลภูมิต้านทานของการให้วัคซีนโควิดแต่ละสูตร ซึ่งเป็นการทำงานในสถานการณ์ยากลำบาก และเร่งด่วนท่ามกลางความไม่รู้ เพื่อให้การตัดสินใจเชิงนโยบายยืนอยู่บนฐานของความรู้
ตลอดการทำงานกว่า 40 ปี ผลงานของศ.นพ.ยง ได้รับรางวัลจากผลงานวิชาการมากมายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ในฐานะนักวิจัยที่พร้อมบุกเบิกความรู้ใหม่ ได้สร้างองค์ความรู้ที่ช่วยปกป้องชีวิตคนไทย และกล้ายืนยันความถูกต้องขององค์ความรู้ที่พิสูจน์ได้
โดยผลงานวิจัยของศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ อยู่บนฐานข้อมูลPubmed มากกว่า 750 เรื่อง ถูกนำไปอ้างอิงมากกว่า 25,000 ครั้ง โดยมี H-index= 74 บานฐานข้อมูล Google scholar
ตัวอย่างผลงานวิชาการศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ปี 2528 งานวิจัยการดูแลทารกทึ่คลอดจากมารดาที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบ
ปี 2534 ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปี2528-2547 งานวิจัยการดูแลทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาะหะไวรัสตับอักเสบบี ติดตามต่อเนื่อง 20 ปี
ปี 2547 ผลงานวิจัยดีเยี่ยมไข้หวัดนก จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ปี 2556 งานวิจัยดีเยี่ยมไข้หวัดนกจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย :เชื้อไวรัสไข้หวัดนกและเชื้อไข้หวัดใหญ่สุกร
ปี 2565 ชุดการตรวจคัดกรอง โควิด-สแกน ได้รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นระดับดีมาก จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ปี 2565 ผลงานวิจัยดีมาก เรื่องความปลอดภัยและผลภูมิต้านทานของการให้วัคซีนโควิด 19 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
- 167 views