ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เห็นควรให้ “ฉลาก - คำเตือน”  บนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ใช้ตามกฎหมายที่มีการออกมาก่อนล่วงหน้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ผู้ประกอบการยังสามารถใช้ฉลากเดิมต่อไป อธิบดีคร.ย้ำปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนทำเรื่องภาพและคำเตือนที่เป็นภาพสดเหมือนภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จึงมอบหมายให้ไปติดตามการดำเนินของประเทศต่างๆเป็นข้อมูลประกอบ

 

ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมรับทราบผลการศึกษาข้อเท็จจริงกรณีการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ หลังจากมีการประกาศขยายเวลาเปิดผับบาร์ จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงตี 4 ใน 5 พื้นที่นำร่อง กทม. ,ชลบุรี ,เชียงใหม่ ภูเก็ต และ เกาะสมุย พบว่า มีผลทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นนั้น

(ข่าว : กรมควบคุมโรค เปิดผลศึกษา "ขยายเวลาขายเหล้าเบียร์" ทำอุบัติเหตุ เสียชีวิตเพิ่ม!!(คลิป))

 

ทั้งนี้  ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังเห็นชอบเรื่องอื่นๆ

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค  เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาร่างอนุบัญญัติเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตและนำเข้า พ.ศ.... เป็นกฎหมายลูกต้องทำให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้  ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ให้ใช้ตามกฎหมายที่มีการออกมาก่อนล่วงหน้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ยังสามารถใช้ฉลากเดิมต่อไป

ผู้สื่อข่าวย้ำว่า หมายถึงคณะกรรมการฯไม่ผ่านร่างอนุบัญญัติเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลากพร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตและนำเข้า พ.ศ.... นพ.ธงชัย กล่าวว่า  ผ่าน โดยคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการมีอีกร่าง ซึ่งเป็นร่างที่กำหนดให้ตอนนี้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจะต้องแจ้งไปที่องค์การการค้าโลก(WTO) เนื่องจากมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพันธกรณีในข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade Agreement : TBT Agreement) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องแจ้ง (Notification) กฎระเบียบ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการค้าของประเทศสมาชิกอื่น จึงต้องมีการแจ้งเวียนร่างประกาศดังกล่าวให้กับประเทศสมาชิก WTOเพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในWTOด้วย

ดังนั้น อนุบัญญัตินี้อาจจะดำเนินการไม่ทัน เนื่องจากต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 จึงร่างอนุบัญญัติโดยเอาของเก่าที่มีกฎหมายอยู่แล้วมารวบรวมไว้ในร่างฉบับนี้ คือ  กฎหมายเรื่องบรรจุภัณฑ์ของสรรพสามิต และเรื่องฉลากและคำเตือนของอย. เช่น ห้ามจำหน่ายสุราแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ,การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง ,บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่ควรดื่ม เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรา 26 ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551  ที่ระบุเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ฉลากพร้อมทั้งข้อความคำเตือนยังคงอยู่ต่อไป   จากนั้นหากจะมาเปลี่ยนแปลงร่างอนุบัญญัติในภายหลังจะยังสามารถทำได้ WTO จะไม่เห็นด้วยและมีการสอบถามกลับมา จนมาตรา 26นี้ต้องหลุดออกไป ไม่ถูกบังคับใช้แล้ว เพราะไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จทันภายในพ.ย.2567  ก็จะทำให้มาตรานี้ต้องหลุดไม่สามารถทำอะไรได้เลย จะไปออกประกาศบรรจุภัณฑ์ ฉลากคำเตือนไม่ได้อีก เพราะถือว่ามาตรานี้เลิกใช้ไปโดยอัตโนมัติ

“ตอนนี้บรรจุภัณฑ์ ฉลากพร้อมข้อความคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะฉะนั้น ผู้ผลิตยังไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนฉลาก ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนทำเรื่องภาพและคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นภาพสดเหมือนภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จะมีคำเตือนเป็นภาพแบบฮีสโตแกรม เช่น ภาพหญิงตั้งครรภ์ หรืออายุ 18 ปีแล้วเป็นเครื่องหมายกากบาท หากประเทศไทยจะไปกำหนดฉลากคำเตือนรูปแบบที่เป็นเจ้าแรกของโลกต้องระวัง จึงได้มอบหมายให้ไปติดตามการดำเนินของประเทศต่างๆ จะได้มีบรรทัดฐานนำมาปรับใช้ในไทย ตอนนี้จึงให้ใช้ตามกฎหมายเดิมที่มีอยู่ไปก่อน”นพ.ธงชัยกล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ มีการยกร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .... โดยมีสาระกำหนดแตกต่างจากเดิม คือ ให้ ภาพมีคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพอยู่บนฉลากเครื่องดื่มแอลกฮอล์ คล้ายกับภาพคำเตือนบนซองผลิตภัณฑ์บุหรี่ หรือ Graphic Health Warnings เพื่อให้รับรู้ถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ข่าวอื่นๆ : กรมควบคุมโรค เผยร้อยละ 87 ไม่เห็นด้วย! ติดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบใหม่

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง