จุฬาฯ จัดเวทีผลกระทบปลดล็อกกัญชา “หมอบัณฑิต” ชงทางออกดีนำ “กัญชา” กลับเป็นยาเสพติดก่อน และตั้งคณะทำงานร่วมทุกฝ่ายมาควบคุม หากยกร่างพ.ร.บ.ให้ระดมความคิดเห็นรอบด้าน เผยปมกัญชาเป็นทางเลือกให้รัฐบาล จะมีส่วนเป็นจำเลยต้องร่วมรับผิดชอบหรือแก้ไขให้ถูกจุด ด้าน อ.ไพศาล นิติศาสตร์ มธ. แนะรัฐไม่ควรเยียวยา เพราะเงินภาษี ควรไปหาพรรคภท. ขณะที่ม.อ. เครือข่ายแพทย์ YNAC ออกแถลงการณ์ร่วม ส่วนกลุ่มปลดล็อกรุดร่วมงานชี้ขาดไทยไม่เคยเสรี
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด(ศศก.) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาครบรอบ 2 ปีกัญชาเสรี “ผลกระทบของกัญชาเสรี ทงออกที่เหมาะสมของสังคมไทยคืออะไร” โดยมีนักวิชาการ แพทย์ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้เข้าร่วม
ผู้ป่วยนอกและในรักษาเพิ่มขึ้นหลังปลดล็อก
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health แคนาดา วิเคราะห์มาตรการควบคุมกัญชาเสรีของประเทศไทย เพื่อหาทางออก ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงมหาดไทย เคยกล่าวว่า ถ้าจะต้องเปลี่ยนให้กัญชากลับเป็นยาเสพติด ต้องมีข้อมูลใหม่ รวมไปถึงนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยก็ระบุคล้ายกัน ตรงนี้เป็นสัญญาณที่ดีที่ยอมรับข้อมูลใหม่ที่เกิดขึ้น โดยล่าสุดพบจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการพิษจากกัญชาเพิ่มขึ้น 6-7 เท่า หลังปลดล็อกเสรี ซึ่งผู้ป่วยนอกที่เข้ารักษาตัวเพิ่มจาก 52 รายต่อเดือนในปี 2565 เป็น 342 รายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ข้อมูลจะเห็นว่าผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามกราฟด้านล่าง
ผู้ป่วยนอกจากการเสพกัญชาต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหลังปลดล็อก และผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 5 เท่า ขณะที่โรคจิตจากการใช้กัญชาก็เพิ่มสูงเช่นกัน แม้แต่เรื่องการท่องเที่ยว จะพบว่า ผลกระทบจากนักท่องเที่ยวก็เยอะ อย่างดูดกัญชาหลับคาถนน หรือหลอนกัญชากระโดดลงทะเล โดยข้อมูลจาก รพ.แห่งหนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยว พบว่า เคสรักษาตัวมากขึ้น อย่างก.ค.2565 มีคนไข้ 4 รายในเดือนนั้น และขึ้นเรื่อยๆ จนเม.ย.ที่ผ่านมาเป็น 87 ราย เพิ่มขึ้น 22 เท่า ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเข้ามารักษาตัว ตรงนี้อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวได้
“ข้อมูลจากแคนาดา ปลดล็อกกัญชามา 5 ปี มีการสำรวจพฤติกรรมการใช้กัญชาของกระทรวงสาธารณสุขแคนาดา ทุกปี เมื่อเปรียบเทียบความชุกของผู้ใช้กัญชาในรอบ 12 เดือน ที่ผ่านมาระหว่างปี 2018 ปีที่ปลดล็อกกัญชา และปี 2023 พบว่า ความชุกของการใช้กัญชาของประชากรทั้งหมดเพิ่มจาก 22% เป็น 26% ความชุกของการใช้ในกลุ่มอายุ 16-19 ปีเพิ่มจาก 36% เป็น 43% หากปล่อยไปเรื่อยๆ คนใช้ก็จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ยิ่งไทยไม่มีการควบคุมยิ่งส่งผลกระทบ” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลที่ออกสื่อคือ เดิมคาดว่าจะขายดอกกัญชาได้กิโลกรัมละเป็นแสน ตอนนี้เหลือเพยงกิโลกรัมละ 5,000 บาท นี่คือตัวอย่างว่า เศรษฐกิจก็ไม่ได้ดี เพราะการจะปลูกกัญชาให้ได้คุณภาพ ต้องปลูกในเรือนปิด มีการควบคุมหลายอย่าง รายย่อยจะตายหมด คนได้กำไรจะกลายเป็นรายใหญ่
คำว่ากัญชาผลน้อยกว่าบุหรี่เหล้าไม่ได้ เพราะช่วงเวลาแตกต่าง
“มีคำกล่าวว่า กัญชาผลกระทบน้อยกว่าบุหรี่สุรา เป็นการตั้งประเด็นที่ผิด เนื่องจากปัญหาสุราบุหรี่ เหมือนสิงโตเป็นผู้ใหญ่ แต่กัญชา เหมือนเสือที่ยังเป็นเด็ก แต่หากเราปล่อยไป อีก 20-30 ปีก็จะเหมือนสิงโตที่โตแล้วเหมือนบุหรี่เหล้า การเปรียบเทียบ ณ วันนี้จึงไม่ได้” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวอีกว่า กัญชา มีประโยชน์ด้านสุขภาพ แต่มีโทษเมื่อใช้นันทนาการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีประโยชน์ต้องใช้เสรี จึงมีการออกแบบนโยบายให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ไม่ให้ใช้สันทนาการ อย่างกฎหมายเดิม กัญชา เป็นยาเสพติด ห้ามใช้ไม่ยกเว้นกรณีใดๆ เช่น พ.ร.บ.ยาเสพติด 2522 ขณะเดียวกัน กรณีออกแบบ “กัญชาเป็นยาเสพติด” ห้ามใช้ แต่ยกเว้นใช้เพื่อทางการแพทย์ได้ เช่น พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ. 2562 และประมวลกฎหมายยาเสพติดพ.ศ.2564 ที่ให้ใช้การแพทย์ได้ แต่ใช้สันทนาการไม่ได้ นอกจากนี้ หากกัญชาไม่เป็นยาเสพติดที่ต้องควบคุม เช่น กฎหมายกัญชาที่มีรายละเอียดของแคนาดา
“แต่ของไทย ณ ปัจจุบัน กัญชาไม่เป็นยาเสพติดที่ต้องควบคุม และไม่มีกฎหมายกัญชาควบคุม เช่น ปลดล็อกกัญชาออกจากประมวลกฎหมายยาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 แต่กลับไม่มีกฎหมายควบคุม ทำให้กัญชาอยู่ในสภาวะสุญญากาศ หลายครั้งเกิดความเข้าใจผิดจากฝ่ายสนับสนุนปลดล็อกกัญชาว่า จะมีการทำให้กัญชากลับเป็นยาเสพติดตั้งแต่แรก คือ ไม่ใช่ประโยชน์ใดๆ ซึ่งไม่ใช่ เป็นความเข้าใจผิด และการปลดกัญชารอบที่แล้วอ้างใช้ทางการแพทย์ แต่กลับเป็นการใช้แบบไม่มีการควบคุม จนเกิดปัญหาทุกวันนี้ ” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
ร่างพ.ร.บ.กัญชา ต้องใช้เวลา ระหว่างนี้ต้องกลับเป็นยาเสพติด
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวอีกว่า การผลักดันร่างพ.ร.บ. กัญชา จำเป็นต้องใช้เวลา ต้องผ่านทั้ง สส. สว. ต้องใช้เวลา เพื่อให้กฎหมายกัญชารอบคอบทุกมิติ คำถามคือ แล้วปัจจุบันจะทำอย่างไร ให้เด็กจมน้ำหรือ จึงมีทางเลือก 1. ปล่อยให้กัญชาเสรีและผลกระทบเดินหน้าต่อไป ขณะที่กำลังทำกฎหมาย และ 2. นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด เพื่อคุ้มครองเยาวชน และใช้ทางการแพทย์ได้ ขณะนี้กำลังทำกฎหมายกัญชา ไม่ใช่ปฎิเสธกฎหมายกัญชา แต่เราต้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนก่อน
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวถึงทางออกที่ดีที่สุด ว่า ระหว่างรอการออกแบบนโยบายและกฎหมายกัญชา ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ตอนนี้จึงต้องนำกัญชา กลับเป็นยาเสพติด ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดทันที ซึ่งจะทำให้สามารถหยุดการใช้กัญชา เพื่อสันทนาการ โดยยังสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานร่วมหลายฝ่ายที่ใช้ข้อเท็จจริง และเปิดเผย โปร่งใส เพื่อให้จัดทำข้อมูลเชิงประจักษ์ประกอบข้อแนะนำแนวทางการดำเนินงานสำคัญให้กับกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล
รัฐบาลที่มีส่วนเอื้อปัญหากัญชา ย่อมต้องรับผิดชอบ
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลใดก็ตาม ที่มีส่วนเอื้อให้เกิดกัญชาเพื่อสันทนาการ จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนั้น รัฐบาลปัจจุบันหากเอากลับก็จะไม่เป็นจำเลยกับปัญหา ถ้าไม่เอากลับ ในที่สุดท่านจะร่วมเป็นจำเลย ใครก็ตามมีส่วนตรงนี้ก็จะได้รับผลจากสังคมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป”ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวทิ้งท้าย
นิติศาสตร์ มธ. ชี้ไม่ควรมีระบบเยียวยา เพราะเงินภาษี
ด้านนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสนอนโยบายและกฎหมายเพื่อแก้ปัญหากัญชาเสรี ว่า กัญชาเป็นเยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด คศ.1961 อย่างไรก็ตาม จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 เป็นประกาศกระทรวงที่ขัดต่อประมวลกฎหมายยาเสพติด และกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ให้กัญชา หลุดออกจากยาเสพติด แม้แต่ประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ ตนเคยเห็นกระทรวงสาธารณสุข ปลูกกัญชา ซึ่งถือไม่เหมาะสม
“ข้อเสนอคือ ควรแก้ไขประกาศกระทรวง เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 เพื่อให้กัญชาเป็นยาเสพติดที่นำมาใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้เพื่อนันทนาการทุกกรณี และควรทบทวนเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.. เสนอโดย สส.พรรคภูมิใจไทย และร่างของกระทรวงสาธารณสุข เพราะยังมีเนื้อหาที่ขาดความสมบูรณ์ เปิดช่องให้มีการกัญชาที่ไม่เหมาะสมเพื่อนันทนาการ” นายไพศาล กล่าว
นายไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรกำหนดให้ช่อดอก สารสกัด ทิงเจอร์ เรซิ่นจากกัญชา เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดของสหประชาชน และกฎหมายต่างประเทศ ยกเว้นส่วนที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ได้แก่ เปลือก ลำต้น ราก เส้นใย กิ่งก้าน เมล็ดที่ไม่สามารถปลูกได้ และห้ามประชาชนปลูกกัญชาในครัวเรือนทุกกรณี เนื่องจากไม่มีความจำเป็นและเสี่ยงอาจมีการใช้ไม่เหมาะสม อาจกำหนดบทพาะกาลให้มีผลใช้บังคับภายในวเลาไม่เกิน 120 วัน เพื่อให้ร้านค้ากัญชาปรับตัวไปทำธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจกัญชง
“ที่สำคัญ ไม่ควรนำงบประมาณของรัฐมาเยียวยาธุรกิจ เพราะเป็นเงินภาษีประชาชน อาจเรียกร้องกับพรรคภูมิใจไทย และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทน” นายไพศาล กล่าว
ม.สงขลานครินทร์ รวบรวมผลกระทบกัญชา
ผศ.นพ.ศุภกร ศรีแผ้ว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงภาพรวมผลกระทบจากการปลดล็อกกัญชา ว่า ที่ผ่านมามีนักวิชาการ อาจารย์จำนวนมากในการศึกษาผลกระทบของกัญชามาตลอด อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยอย่างน้อย 1 ใน 4 คน หรือ 24% เข้าถึงจุดจำหน่ายในรัศมี 400 เมตรรอบบ้านได้ หรือใช้เวลาเพียง 5 นาที และ9% เข้าถึงได้ภายในบ้านตนเอง และจากการเข้าถึงง่ายขึ้นมีความสัมพันธ์ที่บุคคลจะเป็นผู้ใช้กัญชาสูง 4.4 เท่า นอกจากนี้ รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังสำรวจการใช้กัญชาในประชากรวัยผู้ใหญ่ 18-65 ปี โดยเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2562 2563 2564 และปี 2565 มาจนถึงปี 2566 กระทั่งเสร็จสิ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามีการใช้กัญชาอย่างน้อย 1 ครั้งนับตั้งแต่ 12 เดือนที่ผ่านมาจากการสำรวจ โดยปี 2565 ใช้สูงถึง 24.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ชายอายุ 20-24 ปียอมรับใช้กัญชาก่อนขี่มอเตอร์ไซค์ถึง 30%
นอกจากนี้ การใช้กัญชาในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังระบุว่าไปพบแพทย์จนได้รับการวินิจฉัยว่าเกี่ยวข้องกับกัญชา 70% อีกทั้ง ยังพบอายุ 20-24 ปีเพศชายราว 30% ระบุว่าใช้กัญชาก่อนออกไปขับขี่รถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ ผศ.ดร.นริสรา พึ่งโพธิ์สภ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยังพบเยาวชนอายุ 12-19 ปียังพบว่า ใช้กัญชาสูงขึ้น อย่างเยาวชนนอกสถานศึกษา 47.6% ในปี 2566 เปรียบเทียบสำรวจครั้งที่ผ่านมาเพียง 1-3% อีกทั้ง ยังพบว่าเยาวชนไทยใช้สารเสพติดชนิดอื่นเพิ่มขึ้น และกัญชามักถูกใช้ร่วมกับสุรา ยาสูบ กระท่อม และหรือยาบ้า ยังสำรวจข่าวอาชญกรรม เปรียบเทียบก่อนและหลังปลดล็อกกัญชา พบว่า แนวโน้มข่าวหลังปลดล็อกเพิ่มขึ้น
รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังหยิบยกกรณีผลกระทบต่างๆ โดยพบว่า ความสงบเรียบร้อยของสังคม เริ่มเห็นเด็กและเยาวชนยืนรอซื้อและสูบกัญชาในที่สาธารณะ และในเวลาเรียนหนังสือ มีการข่มขู่ครูที่ไม่ให้สูบกัญชา ขณะที่ภาระงานของหน่วยงานสุขภาพและสังคมเพิ่มขึ้น ทั้งสถานบำบัดหลายแห่งไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์มีปริมาณไม่เพียงพอ ขณะที่ยังสร้างความเดือดร้รอนรำคาญของเพื่อนบ้านและชุมชน แต่ไม่รู้จะเรียกร้องใครเพราะกัญชาไม่ผิดกฎหมาย รวมไปถึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุจราจรและสงสัยว่ามีการเสพกัญชา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถส่งตรวจกัญชาได้ เพราะกลับไปที่ว่ากัญชาไม่ผิดกฎหมาย
ผศ.นพ.ศุภกร สรุปว่า หลังการปลดล็อกกัญชา มีจำนวนร้านขายทั้งบนดินและออนไลน์ และ1 ใน 5 ของประชาชนเข้าถึงกัญชาได้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เยาวชนมีอัตราการใช้สารเสพติดอื่นเพิ่มขึ้น และใช้กัญชาร่วมกับสารเสพติดอื่น ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งแม้มองว่ากัญชา แม้จะไม่ใช่สารเสพติดน่ารังเกียจเท่าตัวอื่น แต่ยังขาดความตระหนักอันตรายด้านอื่นๆ ปัญหาเหล่านี้ยังทำให้วัยรุ่นเสี่ยงใช้กัญชาและสารเสพติดอื่นๆ
ชมรมจิตเวชศาสตร์ ยันกัญชากระทบพัฒนาสมอง
พญ.ภัทราภรณ์ กินร ชมรมจิตเวชศาสตร์และการเสพติดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเด็กและเยาวชนหลังปลดล็อกกัญชา ว่า กัญชา เป็นเหมือนประตูของการเริ่มต้นใช้สารเสพติดอื่นๆ ยิ่งใช้อายุน้อย สมองก็จะเริ่มเสพติด และนำไปยังสารอื่นๆ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสมองแล้ว การป้องกันก่อนเกิดปัญหาเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งครอบครัว เลี้ยงดู แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือนโยบาย กฎหมายต้องใช้ปกป้องด้วย ทั้งนี้ ผลกระทบด้านสุขภาพ พบว่าการใช้กัญชาตั้งแต่อายุน้อยๆ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง มีความเสี่ยงจิตเวช หูแว่ว ภาพหลอน และยังเสี่ยงซึมเศร้า วิตกกังวล รุนแรงจนถึงทำร้ายตนเองได้ และยังสัมพันธ์กับการเรียน สติปัญญา โดยเด็กและวัยรุ่นที่ใช้กัญชาอายุน้อยๆ ทำให้ไอคิวลดลง
เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ YNAC เสนอ 1.5 แสนชื่อ
ทั้งนี้ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภาและนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย แถลงการณ์ร่วมเครือข่าย นักวิชาการ และภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด และเครือข่าย YNAC ว่า เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการ เยาวชน และ YNAC ได้รวบรวมรายชื่อรวมกว่า 150,000 รายชื่อเสนอรัฐบาลในการสนับสนุนนำกัญชา กลับเป็นยาเสพติด เนื่องจากข้อมูลต่างๆ หลังมีการปลดล็อกกัญชา ก่อผลกระทบมากมาย มีการใช้นันทนาการ เด็กและเยาวชนใช้มากขึ้น ผู้ป่วยเข้ารักษาเพิ่มขึ้น จากการเจ็บป่วยจากการเมากัญชา ภาวะจิตเวชต่างๆ รวมไปถึงผลสำรวจของนิด้าโพล พบว่า 60% ประชาชนเห็นว่าควรนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด
ดังนั้น ทางเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจึงขอให้รัฐบาลนำกัญชา กลับไปเป็นยาเสพติด พร้อมข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1. ให้รัฐบาลนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่ยังใช้ทางการแพทย์ 2.เสนอให้มีคณะทำงานหลายฝ่ายมาร่วมกันคิดในการออกแบบนโยบายกฎหมายกัญชาในประเทศไทย
กลุ่มปลดล็อกกัญชา ร่วมงานชี้อย่าแบ่งแยกการแพทย์-นันทนาการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกลุ่มสนับสนุนปลดล็อกกัญชา ได้เข้าร่วมฟังภายในงาน และเสนอความคิดเห็น ว่า ไม่ใช้คำว่าสันทนาการมานานมากแล้ว เราใช้เพื่อเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศชาติ คำว่า สันทนาการไม่มีในพจนานุกรมของประเทศไทย ผู้ป่วยมะเร็งปอดก็ใช้วิธีสูบ การจะมาแบ่งเป็นทางการแพทย์ และนันทนาการ ไม่ใช่ประเด็น กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดคือประเด็น ตั้งแต่ปลดออกมาไม่เคยมีกัญชาเสรีในไทย ผู้ที่ผลิตได้รับการอนุญาตมีการดำเนินการตามกฎหมายตลอด ดังนั้น ไม่เคยมีเสรีใดๆ ดังนั้น อย่ามาแบ่งแยก ทุกอย่างเป็นหนึ่งในการรักษา ทุกวันนี้ ศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ประธานหลักสูตรกัญชาเวชศาสตร์และสมุนไพรทางการแพทย์ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีหลักสูตรเรียนการใช้ประโยชน์กัญชา คำถามหากกลับไปเป็นยาเสพติด พวกที่เรียนอยู่ทำอย่างไร
วันเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ทางเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ได้รวมตัวเคลื่อนไหวที่หน้าองค์การสหประชาชาติ และจะเคลื่อนขบวนไปเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมปักหลักค้างคืน ขอความชัดเจนทางออกจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ประสิทธิ์ชัย ค้านข้อเสนอเครือข่ายหมอ ไม่ขอเดินตามเกมเอากัญชา กลับเป็นยาเสพติด ก่อนหารือร่างพ.ร.บ.ฯ
- 504 views