ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ร่วม ก.พ. และหน่วยงานเกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการเพิ่มจิตแพทย์ จัดทำมาตรฐานการรับรองนักจิตบำบัด และหาแนวทางช่วยประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น และร่วมสปสช. จัดสิทธิประโยชน์ยาฉีดรักษาจิตเวชออกฤทธิ์ยาว เตรียมทำโครงการของบสนับสนุนจาก ปปส. ตั้งกองทุนสุขภาพจิตฯ

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติครั้งที่ 2/2567 เผยมั่นใจคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงในสังคม พร้อมกำชับให้คณะอนุกรรมการสุขภาพจิตจังหวัด เร่งส่งเสริมสุขภาพจิตก่อนเกิดปัญหาสุขภาพจิตหรือป่วยเป็นโรคจิตเวช จัดระบบเฝ้าระวังป้องกันผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีภาวะเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง โดยให้ถือเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการภายในจังหวัด พร้อมแก้ไขปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ ทั้งแผนระยะสั้นหาแหล่งสนับสนุนจากปปส. และแผนระยะยาวเตรียมจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติ

กรมสุขภาพจิตขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาสุขภาพจิตกว่า 10 ล้านคน

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นพ.กิตติศักดิ์  อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญทางสุขภาพจิตของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข การแถลงตัวเลขข้อมูลจากทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็นคนไทยเผชิญปัญหาสุขภาพจิตกว่า 10 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก ซึ่งมีปัญหาทั้งในวัยเด็กความเครียดจากการเรียนและการถูกกลั่นแกล้ง วัยทำงานมีปัญหาทำงานหนักเกินไปและหมดไฟ ผู้สูงวัยเกิดจากความเหงาและโดดเดี่ยว

คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดยมอบนโยบายให้ดำเนินการขับเคลื่อน ได้แก่ แผนสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน แผนการป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย แผนการป้องกันแก้ไขความรุนแรงในสังคมจากปัญหาสุขภาพจิต และที่สำคัญคือนโยบายให้คณะอนุกรรมการสุขภาพจิตจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพจิตก่อนเกิดปัญหาสุขภาพจิตหรือป่วยเป็นโรคจิตเวชโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น โดยให้ถือเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการภายในจังหวัด จัดระบบเฝ้าระวังป้องกันผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีภาวะเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง และป้องกันแก้ไขปัญหาฆ่าตัวตาย ให้เป็น “ตัวชี้วัดระดับจังหวัด” ได้แก่ อุบัติการณ์การพยายามฆ่าตัวตายลดลง และอัตราการเฝ้าระวัง ช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด   ที่เสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ตามระบบเฝ้าระวังความรุนแรง (V-Care)

กรมสุขภาพจิต ร่วม ก.พ. ขับเคลื่อนมาตรการเพิ่มจิตแพทย์  

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จะเร่งดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 นี้ โดยทำงานร่วมกับ ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการเพิ่มจิตแพทย์ที่ไม่เพียงพอ และจัดทำมาตรฐานการรับรองนักจิตบำบัดผ่านองค์กรด้านจิตบำบัด ซึ่งในระหว่างดำเนินการจะได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชนสามารถเข้าถึงจิตแพทย์และนักจิตบำบัดได้ อีกทั้งทำงานร่วมกับ สปสช. พิจารณาเพิ่มงบประมาณและสิทธิประโยชน์ด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการรักษาบำบัดผู้ป่วยรวมไปถึงเพิ่มสิทธิในการดูแลผู้ป่วยทางจิต ดังเช่นสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจิตและจิตเวชยาฉีดรักษาอาการทางจิตชนิดออกฤทธิ์ยาว (Long-acting antipsychotic injection) ซึ่งมติที่ประชุมมอบสปสช.และ           ฝ่ายเลขานุการดำเนินการ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในสิทธิประโยชน์ฯต่อไป

เตรียมทำโครงการของบสนับสนุนจาก ปปส. ตั้งกองทุนสุขภาพจิตฯ

ในส่วนประเด็นที่สำคัญ คือ การจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิตแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ มีมติเห็นชอบแผนระยะสั้น โดยให้จัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนการดำเนินงานสุขภาพจิตและยาเสพติดเสนอต่อ ปปส.เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน ทันเหตุการณ์ และแผนระยะยาว ให้ดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติสุขภาพจิตฯ ควบคู่กับการเตรียมข้อมูลเสนอต่อกรมบัญชีกลาง แล้วให้รายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติในการประชุมครั้งต่อไป

นอกจากนี้การประชุมดังกล่าวยังมีการเสนอความก้าวหน้าการจัดทำแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมและแผน    การป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายให้ที่ประชุมรับทราบ คณะทำงานที่เกี่ยวข้องและคณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์แห่งชาติจะเร่งดำเนินการ เพื่อทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมจะได้นำแผนดังกล่าวไปใช้ โดยจะนำเสนอแผนให้คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติรับรองในการประชุมครั้งถัดไป