ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ ชี้ "กระแดด" ไม่อันตราย วิธีรักษาช่วยให้รอยโรคจางลงหรือหายไปได้ชั่วคราว แนะหากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง ต้องแยกโรคจากโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด  

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระแดดนั้นโดยทั่วไปจะไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อร่างกายในระยะยาว แต่หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระ อาจจะต้องแยกโรคจากโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด เช่น Pigmented basal cell carcinoma หรือ Lentiginous melanoma เป็นต้น โดยการแยกโรคนั้นจำเป็นจะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา 

นายแพทย์ทนงเกียรติ เทียนถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า จากแสงคลื่นช่วงแสง Ultraviolet และช่วงแสงความร้อน ส่งผลทำให้เซลล์เม็ดสีเมลานินที่อยู่ในผิวหนังชั้นบนเกิดการขยายตัวมีขนาดใหญ่มากขึ้น และมีสีเข้มขึ้น ทำให้รอยโรคมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ขอบชัด ลักษณะเป็นวงรี อาจมีขนาดใหญ่ถึง 6 เซนติเมตร ซึ่งพบได้บ่อยที่บริเวณใบหน้า ไหล่ แขน และหลังมือ ในรายที่มีประวัติเจอแสงแดดมาเป็นเวลานาน ๆ หรือเป็นโรคแพ้แสงบางชนิด 

สำหรับการรักษากระแดดนั้นมีวิธีการรักษา ดังนี้ 

1.การรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ (Topical therapy) กลุ่มยาทาลดรอยดำ เช่น hydroquinone, tretinoin, adaptable สามารถลดรอยดำได้ รวมถึงการใช้กรดลอกผิว เช่น Trichloroacetic acid (TCA) ในความเข้มข้นที่ต่างๆกัน ซึ่งมีฤทธิ์ในการลอกผิวหนังชั้นบน พบว่าได้ผลดีในการรักษากระแดดรวมถึงรอยโรคจากแสงแดดชนิดอื่น ๆ 

2.การรักษาด้วย Physical Therapy เช่น การใช้ไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen),  เลเซอร์เม็ดสี กลุ่ม Q-switched Nd:YAG laser, Q-switched Ruby laser, Q-switch Alexandrite laser โดยการใช้ไอเย็น และเลเซอร์รักษานั้นอาจต้องทำหลายครั้ง แต่ละครั้งจะมีแผลที่ตกสะเก็ด หากเจอแสงแดดและดูแลแผลไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดรอยดำมากขึ้นหรือทำให้เกิดรอยขาวได้ 

การรักษาส่วนใหญ่จะสามารถทำให้รอยโรคจางลงหรือหายไปได้ชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ค่อนข้างบ่อย แต่ส่วนใหญ่จะมีสีที่จางลงมากกว่าก่อนการรักษา หากได้รับการรักษาและการดูแลแผลหลังการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้น ก่อนทำการรักษา ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง