ทันตแพทยสภา เตรียมเดินหน้าวิจัยชี้วัดผลความสำเร็จ “บริการทำฟันที่คลินิกทันตกรรมเอกชน ภายใต้นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่” ช่วยให้ประชาชนสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการ หวังเป็นข้อมูลต่อยอดสู่การพัฒนาด้านทันตกรรมเพื่อดูแลประชาชน
วันที่ 4 พ.ค. 2567 ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่หนึ่ง เปิดเผยว่า อนุกรรมการประสานงานโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ของทันตแพทยสภา ได้ประชุมร่วมกัน และเห็นว่าควรต้องมีการทำวิจัยเกี่ยวกับบริการทันตกรรม ในกลุ่มคลินิกทันตกรรมภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อประเมินผลการดำเนินงานการให้บริการทันตกรรมว่าได้ผลดีหรือไม่
ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าวจะเป็นทีมนักวิจัยจากทันตแพทยสภา ประกอบด้วยนักวิชาการจากคณะทันตแพทยศาสตร์ทั่วประเทศในการสำรวจการให้บริการแต่ละพื้นที่ โดยมี ทพ.ทรงชัย ฐิตโสมกุล คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เป็นหัวหน้าทีม เบื้องต้นได้มีการเขียนโครงการแล้ว เพื่อขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบในส่วนหลักการแล้ว และในขั้นตอนต่อไปหากผ่านการพิจารณาจากชั้นคณะกรรมการของ สวรส. และอนุมัติการสนับสนุนงานวิจัย ก็จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที ซึ่งคาดว่างานวิจัยชิ้นนี้จะใช้เวลา 2 ปี ถึงจะเห็นผลเชิงประจักษ์
อย่างไรก็ตามคาดว่า เบื้องต้นในช่วง 6 เดือนแรกน่าจะได้ข้อมูลบางส่วนก่อน เช่น ความเห็นคลินิกทันตกรรมที่มีต่อโครงการ สิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม รวมถึงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มารับบริการ ในส่วนที่อยากเพิ่มเติมหรือที่ต้องการให้พัฒนา เป็นต้น โดยทันตแพทยสภาจะนำข้อมูลที่ได้มานี้ ไปใช้ประโยชน์ในการยกระดับการบริการด้านทันตกรรมของประเทศให้ดีขึ้น" อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่หนึ่ง กล่าว
ทพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญของงานวิจัยนี้เพื่อหาคำตอบ และทันตแพทยสภาอยากรู้มากที่สุด คือ ประชาชนสิทธิบัตรทองที่ไม่เคยไปรับบริการทันตกรรมโดยใช้สิทธิบัตรทองมาก่อน แต่ตัดสินใจไปทำฟันที่คลินิกทันตกรรมตามนโยบายนี้ มีจำนวนเท่าไหร่ เพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่ เพราะจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะบอกได้ว่าโครงการยกกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ทำให้ประชาชนที่ไม่เคยทำฟันเลยได้เข้าถึงบริการ
"ถ้าคนถือบัตรทองที่ไม่เคยไปทำฟันเลย และได้ทำฟันจากโครงการนี้ จะสะท้อนได้ชัดเจนว่านวัตกรรมบริการใหม่ที่ให้คลินิกทำฟันจากเอกชนเข้าร่วม ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการได้มากขึ้นจริงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย" อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่หนึ่ง กล่าว
ทพ.ธงชัย เสริมอีกว่า ในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการขับเคลื่อนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ทันตแพทยสภาได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (สปสช. เขต 13 กทม.) จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการบริการ และได้เชิญชวนคลินิกทันตกรรมเอกชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมให้บริการ พร้อมอำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช.
"กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง แม้จะมีสิทธิรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่การเข้าถึงบริการยังถูกจำกัด เพราะต้องไปรับบริการที่ รพ.รัฐ เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริการและรอคอยคิวนาน แต่หากคลินิกทันตกรรมเอกชน เข้าร่วมเป็นให้บริการมากขึ้น จากโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ก็จะช่วยให้คนกรุงเทพฯ ที่ใช้สิทธิบัตรทองมีโอกาสในการเข้าถึงบริการที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน" อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่หนึ่ง กล่าว
ทพ.ธงชัย กล่าวย้ำในตอนท้ายอีกว่า ทันตแพทยสภา มองโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เป็นโครงการที่ทำให้ทันตแพทย์จากคลินิกทันตกรรมของภาคเอกชน ได้เข้าร่วมให้บริการกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหากได้ผลที่ดีก็จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่่ทำให้เห็นว่าระบบบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่จากที่คลินิกทันตกรรมได้เข้าร่วม เป็นผลช่วยให้ระบบสุขภาพของประเทศเดินหน้าพัฒนาต่อไปได้
- 114 views