ทันตแพทยสภา เผยหมอฟันรักษา “บอส อยู่วิทยา” ติดต่อมายังกก.ท่านหนึ่งเผยข้อมูลไม่เป็นทางการการรักษาไม่เคยใช้โคเคน แต่เป็นยาชา ขณะที่อย. ลั่น ใช้โคเคนต้องขออนุญาต เป็นสถานพยาบาลใช้ในห้องผ่าตัดเฉพาะจุด
หลังจากวงการทันตแพทย์ รวมทั้งทันตแพทยสภา และสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันกรณีการตรวจพบสารโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ซึ่งตำรวจให้ข้อมูลว่าสารโคเคนที่ตรวจพบเกิดจากการรักษาฟันนั้น ข้อเท็จจริง ไม่มีการใช้รักษาฟัน แต่เป็นยาชา ที่มีชื่อลงท้ายเคน คือ ลิโดเคน เมพิวาเคน อะทิเคน เป็นต้น (อ่านต่อ : ทันตแพทยสภาตอบข้อสงสัย “บอส อยู่วิทยา” สารโคเคนไม่ใช้ทางทันตกรรม )
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่หนึ่ง และกรรมการทันตแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้ทันตแพทย์คนที่รักษาบอส อยู่วิทยา นั้น ได้ติดต่อมาเป็นการส่วนตัวกับทางกรรมการทันตแพทยสภาท่านหนึ่ง ซึ่งเขายืนยันว่า ไม่ได้มีการใช้โคเคนในการรักษาฟันแต่อย่างใด เพราะคลินิกทันตกรรม หรือในวงการทันตกรรมไม่มีการใช้สารโคเคนอยู่แล้ว เพราะเป็นยาเสพติด จะมีการใช้เพียงยาชาที่อนุญาตทางทันตกรรมเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเชิญทันตแพทย์รายดังกล่าวมาที่ทันตแพทยสภาหรือไม่ ทพ.เผด็จ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอให้เขาพร้อม และเตรียมข้อมูลการรักษา เนื่องจากผ่านมา 7 ปีกว่า แต่ที่เขาจำได้ คือ เขายืนยันว่าไม่ได้ใช้โคเคน ซึ่งเขาก็สงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนบอกว่า มีการใช้สารโคเคน อย่างไรก็ตาม ทันตแพทยสภาขอรอเวลาสักระยะ เพื่อติดต่อและประสานในการให้ข้อมูล เนื่องจากปัจจุบันก็ยังมีคณะกรรมการอีกชุดที่ทางนายกรัฐมนตรีตั้ง ดังนั้น คงต้องมีหลายฝ่ายอยู่ในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่ขอยืนยันว่า ไม่มีการใช้โคเคนในวงการทันตกรรมแน่นอน
ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่หนึ่ง และกรรมการทันตแพทยสภา
ทพ.สัณห์ชัย จิรชาญชัย ประชาสัมพันธ์ทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า หลังจากที่มีรายงานข่าวออกมาว่าทันแพทย์มีการใช้โคเคนในการรักษาฟันของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทำให้ทันตแพทย์ในประเทศไทยต่างไม่สบายใจ สงสัยว่ามีการโยงไปเป็นโคเคนได้อย่างไร เนื่องจากไม่มีการใช้ในประเทศไทย ตนจึงได้โพสต์เฟชบุ๊กแจ้งว่าทันตแพทยสภาจะมีการให้ข้อมูลเรื่องนี้ในวันที่ 31 ก.ค. กระทั่งเพื่อนตนโทรศัพท์มาหาแล้วบอกว่าเป็นทันตแพทย์ที่รักษานายวรยุทธ ในตอนนั้น และเห็นข่าวแล้วไม่สบายใจที่มีข่าวว่าทันตแพทย์ใช้โคเคนในการรักษา ซึ่งตอนนั้นทันตแพทย์ท่านนั้นก็ไม่ได้ใช้โคเคนในการรักษา เพราะเป็นหัตถการเล็กๆ เหงือกอักเสบ ได้มีการใช้ยาชาชื่อ “เมพิวาเคน” ซึ่งเป็นยาชาปกติที่ทันตแพทย์ใช้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับโคเคน และจ่ายาปฏิชีวนะให้กลับไปทานต่ออีก 5 วัน โดยทำหัตถการก่อนเกิดเหตุ 5 วัน
“จากที่คุยกันกับทันตแพทย์ที่รักษานายวรยุทธตอนนี้ รู้สึกไม่สบายใจ ค่อนข้างแปลกใจว่าทำไมข่าวถึงออกมาเป็นแบบนี้ได้ ในเมื่อเขาให้ข้อมูลกับทางตำรวจแล้วว่ามีการใช้ยาเมพิวาเคน ไม่ได้ใช้โคเคน แต่ข่าวออกมาแบบนี้ได้อย่างไร เขาแปลกใจ แต่ยังไม่พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อ แต่เร็วๆ นี้จะมีเข้าไปให้ข้อมูลที่ทันตแพทยสภา ส่วนกรรมาธิการตำรวจที่คิดว่าจะเชิญเขามาให้ข้อมูลนั้นเขาก็ยืนดีไปพบ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการเชิญ ตอนนี้มีข้อมูล มีเวชระเบียนการรักษานายวรยุทธพร้อมหมด คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเป็นการรักษาโรคทั่วไป” ทพ.สัณห์ชัย กล่าว
ทพ.สัณห์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับยาชาที่ทันตแพทย์ใช้ จะออกฤทธิ์ไม่เกิน 4-6 ชั่วโมง หมดฤทธิ์ สลายตัว ไม่มีการตกค้างในร่างกาย ไม่สามารถตรวจเจอ และใช้ในปริมาณน้อยมาก 1 หลอดปริมาณ 1.8 ML แต่ใช้กันอย่างมากก็ครึ่งหลอดหรือ 0.9 ML เท่านั้น ส่วนโคเคนจะตกค้างในร่างกายคนเราได้นานแค่ไหนนั้นตนไม่ทราบเลย เพราะเราไม่ได้ใช้ และจากประวัติศาสตร์ มีการใช้เคเคนเมื่อร้อยกว่าปี และใช้เพียง 5 ปี ก็เลิกใช้เพราะทำให้เกิดภาพหลอน เกิดอาการทางจิตประสาท ในขณะที่งานทันตกรรม และทันตแพทย์ไทยเกิดขึ้นเมื่อ 80 ปี มานี้เอง เรียกว่าเกิดมาหลังจากที่เคนเลิกใช้ไปแล้วเป็นเวลานาน จึงไม่มีใครใช้ตัวนี้
ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงกรณีสารโคเคนที่กำลังเป็นกระแสว่า มีการนำมาใช้ในทางทันตกรรมหรือไม่ ว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเสพติดทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 และ 4 โดยสารออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 มีอยู่ 20 ตัว อาทิ มอร์ฟีน โคเคน โดยกลุ่มนี้จะเป็นยาที่ อย. เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนมากจะพบมากว่า มีการใช้ในห้องผ่าตัดเฉพาะจุด โดยเฉพาะจมูกและคอ ซึ่งที่ผ่านมา อย. จัดส่งให้สถานพยาบาล ตามการร้องขอ และทำรายละเอียดว่ามีการใช้จำนวนมากเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละปีจะมีการใช้ปริมาณ 1 กิโลกรัม โดยจากข้อมูลปี 2562 ครึ่งกิโลกรัม ปี 2561 มีการใช้ 0.75 กิโลกรัม และปี 2560 มีการใช้ 1.2 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันมียาชาตัวอื่นมีประสิทธิภาพกว่า
เมื่อถามว่ามีการตรวจสอบการใช้ย้อนหลัง 10 ปีหรือไม่ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า มี แต่ปริมาณการใช้อยู่ที่เฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อปี
“สำหรับฤทธิ์โคเคน จะออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง ทำให้เคลิ้ม มีผลต่อการเต้นของหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ และช็อกได้ หากใช้เยอะไปนานๆ จะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า” ภญ.สุภัทรา กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม หากครอบครอง โดยไม่มีใบอนุญาตจะเข้าข่ายมาตรา 69 ของพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ระบุว่า ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย.
- 232 views