นายกทันตแพทยสภา เผยกรณีคำถามตรวจพบสารโคเคนในเลือด “บอส อยู่วิทยา” อาจมาจากการรักษาฟัน แท้จริงยาชาคนละตัว วงการทันตกรรมใช้สารสังเคราะห์ เหตุผลข้างเคียงน้อย ด้านสำนักทันตสาธารณสุขเผยเทคโนโลยีก้าวหน้า ไม่ต้องใช้โคเคน
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่อาคารสภาวิชาชีพ พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีการตรวจพบสารโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ซึ่งตำรวจให้ข้อมูลว่าสารโคเคนที่ตรวจพบเกิดจากการรักษาฟัน จึงเป็นเหตุให้ตำรวจไม่สั่งฟ้องคดียาเสพติด ว่า โคเคนเป็นสารเสพติดที่มาจากพืชโคคา ในอดีตอาจจะเคยใช้ในวงการทันตกรรมเพื่อให้เกิดอาการชา แต่ปัจจุบันไม่มีทันตแพทย์ใช้สารโคเคน ในการทำฟันแล้ว เพราะมีผลข้างเคียงกับสุขภาพ ทำให้ ความดันโลหิตสูง มีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ จึงมีการพัฒนายาชาประเภทอื่นๆ ขึ้นมา เป็นลักษณะของสารสังเคราะห์ คือ ลิโดเคน ,เมพิวาเคน ,อะทิเคน เป็นต้น ส่วนใหญ่ลงท้ายด้วยคำว่า "เคน" ซึ่งยาชาตัวที่เป็นสารสังเคราะห์ จะทำให้เกิดอาการชาที่ดีกว่า ผลข้างเคียงน้อย ทำให้ทันตแพทย์เลือกใช้สารนี้ จนกระทั่งโคเคนไม่ถูกนำมาใช้ และหายไปจากวงการทันตกรรม
เมื่อถามถึงฤทธิ์ของโคเคนจะอยู่ในร่างกายคน หากมีการใช้เพื่อรักษาฟันจริงหรือไม่ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าจะอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน เพราะมีการใช้ในปริมาณน้อยมากและใช้เฉพาะจุด ส่วนตัวยาชาที่เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบ จะมีใช้ 2 รูปแบบคือ การป้ายเยื่อบุบริเวณที่ต้องการให้เกิดการชา และ การฉีดเฉพาะจุด จะออกฤทธิ์ไม่นาน ประมาณ 1-2 ชั่วโมง เท่านั้น ส่วนจะมีสารตกค้างอยู่ในร่างกายหรือไม่นั้น ก็เหมือนกับสารสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ ที่มี การตกค้างได้บ้าง แต่ไม่ได้อยู่นานตลอดวัน เช่น น้ำยาบ้วนปาก ที่มีการผสมแอลกอฮอล์ หากใช้บ้วนปากแล้ว เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ ก็จะพบ ปริมาณแอลกอฮอล์ตกค้างได้
เมื่อถามต่อว่าทันตแพทยสภาจะต้องมีการตรวจสอบดำเนินการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ กล่าวว่า ขณะนี้ ทางตำรวจยังไม่มีการเปิดเผยว่าทันตแพทย์รายใดเป็นผู้รักษาในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก และโดยปกติทันตแพทย์ จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย เนื่องจากเป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ ยกเว้นเป็นคดีความเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์ในการเรียกข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ และทางทันตแพทยสภา พร้อมให้ข้อมูล และอยากขอข้อมูลจากตำรวจเพื่อช่วยตรวจสอบทันตแพทย์ที่ให้การรักษานาย บอส อยู่วิทยา ด้วยเช่นกัน หรือหากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาก็พร้อมตรวจสอบ
นายกทันตแพทยสภา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน พ.ร.บ.ยาเสพติด มีการอนุญาตให้ใช้สารเสพติดบางชนิด ในทางการแพทย์ได้ เช่น มอร์ฟีน,โคเคน แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม ของแพทย์และ กฎหมาย เพราะ มีกลุ่มคนบางกลุ่ม ลักลอบใช้เป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม
ด้าน ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การใช้โคเคนในทางทันตกรรมมีการใช้ในอดีตเป็น 100 กว่าปี เพราะขณะนั้นไม่มียาชา แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และพัฒนาไปไกลมาก จึงไม่มีการนำสารโคเคน ที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เข้ามาใช้เกี่ยวกับทางทันตกรรม ปัจจุบันที่ใช้กันในทางทันตกรรมเพื่อเป็นยาชา จะเรียกว่า ลิโดเคน (Lidocaine) โดยปริมาณการใช้น้อยมาก ตัวยาออกฤทธิ์และหายไปในเวลาไม่นาน หรือหากตกค้างก็อาจประมาณ 6 ชั่วโมง
- 213 views