'อ.ปริญญา'คณะนิติ มธ. หวั่นเคส "บอส วิทยา" อ้างดื่มเหล้าหลังชนแล้วหนี ส่งผลหลุดเมาไม่ขับ ชี้ปม "โคเคน" อาจไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นประมาท
เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงปัญหาดื่มแล้วขับ กับกระบวนการยุติธรรมและทางออก ในเวทีเสวนา "ดื่มแล้วขับ" ความเสียหายรุนแรงในสังคมไทย ว่า เรื่องนี้มี 2 บทเรียน คือ 1. เมาต้องไม่ขับ อย่าคิดว่าขวดเดียวไม่เป็นไร เพราะพอเกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายไม่ใช่แค่กับตัวเรา แต่หมายถึงคนที่รับความเสียหายด้วย และ 2. ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว ต้องไม่หนี ต้องยอมรับความผิด เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เยียวยาผู้เสียหาย และกฎหมายต้องบังคับใช้จริงจัง
"การเยียวยาผู้เสียหาย ไม่ใช่แค่เงินแล้วให้บอกตำรวจไม่ติดใจเอาความเพื่อสั่งไม่ฟ้อง การเยียวยาคือ การยอมรับผิด ทำผิดไปขอโทษ ต้องดูแลกันไปตลอด เพราะทำให้เกิดความเสียหาย ไมใช่เอาเงินให้ก็จบ เช่นเดียวกัน แม้ช่วงแรกจะตกใจแล้วหนี สุดท้ายก็ต้องมามอบตัว" ผศ.ดร.ปริญญากล่าว
ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า เมื่อก่อนคนมองว่าดื่มแล้วขับเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกวันนี้เรามีกฎหมาย คนในสังคมก็ตระหนักมากขึ้น ถือว่าเดินมาได้ครึ่งทางแล้ว แต่ก็ยังเกิดปัญหาการดื่มแล้วขับอยู่ ที่ร้ายกว่านั้น คือ หนี และกระบวนการยุติธรรมทำอะไรไม่ได้ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นตัวอย่าง ไม่ว่ามีเงิน เส้นสายเพียงใด ต้องเข้ากระบวนการ มิเช่นนั้นจะเกิดสิทธิเมาแล้วขับ ทำผิดไม่ต้องรับผิด ทั้งที่จริงคนขับรถถือว่ามีเงิน ยิ่งขับรถเร็ว ราคาแพง ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมาก แต่ก็แสดงถึงการมีฐานะมาก ก็ยิ่งมีโอกาสหลุดคดี ตรงนี้ให้เกิดไม่ได้ ต้องให้ทุกคดี คือ ผิดต้องยอมรับและเยียวยาผู้เสียหาย ถ้าไม่ยอม กระบวนการยุติธรรมต้องทำหน้าที่
ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า อย่างคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่ศาลสั่งไม่ฟ้อง เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ประมาท เนื่องจากครบ 3 ปัจจัย คือ ไม่มีเรื่องของสารเสพติด แอลกอฮอล์ ความเร็วไม่เกินกำหนด 80 กม./ชม. และระบุว่าเกิดจากความประมาทของผู้ตายในการตัดหน้านั้น ตนเห็นว่า แม้โคเคนจะไม่อยู่บัญชียาเสพติดต้องห้ามขณะขับรถ แต่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โทษจำคุกสูง 3 ปี อายุความ 10 ปี ซึ่งตรงนี้อายุความยังไม่ขาด ต้องไปทำมาใหม่ เพราะโคเคนมีผลต่อจิตประสาท ไม่ต่างจากเหล้า และที่เคยถามนักเคมีก็พบว่า เกิดจากการเสพโคเคนพร้อมกับแอลกอฮอล์ จะกลายเป็นเหตุสุดวิสัยได้อย่างไร
"ข้อหาเรื่องยาเสพติดบ่งชี้ว่าไม่ใช่สุดวิสัย การเอาเรื่องโคเคนเป็นข้อหา ไม่ใช้เอาผิดเรื่องโคเคน แต่จะบอกว่า ขณะที่ชนนั้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่เป็นประมาท ซึ่งคดีนี้ต้องไปถึงศาล ทั้งนี้ เราไม่ได้ต้งใจว่าต้องติดคุกหรือพิพากษาว่าผิด แต่ต้องการให้ศาลพิจารณา ไม่ใช่จบไปดื้อๆ แบบนี้" ผศ.ดร.ปริญญากล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังกังวลในเรื่องของการระบุว่า ไม่ได้เมา เพราะไปดื่มหลังเกิดเหตุ จะกลายเป็นแนวปฏิบัตัหรือบรรทัดฐานใหม่ของการชนแล้วหนีให้นานที่สุด เพื่อให้แอลกอฮอล์ลดลง หรืออ้างว่าที่มีแอลกอฮอล์เกิดจากการไปดื่มภายหลัง
ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ข้อเสนอแนะ คือ อยากให้ใช้วิกฤตเป็นโอกาส ชวนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิต่างๆ ยื่นเรื่องถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ถึงความกังวลใจเรื่องประเด็นเมาหลังขับ การหลบหนี จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดอีก จนเป็นบรรทัดฐานใหม่ โดยขอแนวทางปฏิบัตินิติวิทยาศาสตร์ร่วมกับฝ่ายตำรวจ เพื่อให้ต่อไปมีแนวปฏิบัติว่า ชนแล้วหนีจะได้อ้างไม่ได้อีกต่อไป
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูล พบว่า อุบัติเหตุ 100 ครั้ง เกิดการตายเกิดขึ้น 15 ครั้ง หรือประมาณ 15% มากกว่าโควิด-19 ถึง 8 เท่า ที่น่าห่วงคือ หลังจากผ่อนคลายมาตรการโควิด พบว่า ดื่มแล้วขับกลับมา แต่ด่านไม่กลับมาด้วย ตอนนี้อยู่ที่ 40-50% ทำให้เคสคนเมาบนถนนเยอะขึ้น เพราะด่านไม่ค่อยมี ทำให้มีการเกิดเหตุเยอะขึ้น ส่วนกรณีเกิดอุบัติเหตุ มีการเป่าและเจาะเลือดตรวจหาแอลกอฮอล์พบว่า 53% เป็นการเมาแล้วขับ ส่วนที่เมาแล้วขับแต่ไม่เกิดอุบัติเหตุ หากอ้างอิงตัวเลขของกรมคุมประพฤติ มีประมาณ 5 กมื่นคนต่อปี ซึ่งกลุ่มนี้เป็นคนเมาแล้วขับแต่เจอด่านตรวจ สั่งฟ้องใน 48 ชั่วโมง และให้ไปคุมประพฤติ แต่ข้อเท็จจริงคือยังมีคนที่ไม่ถูกสั่งฟ้อง หรือขึ้นกับดุลพินิจของตำรวจอีกมาก
นพ.ธนะพงศ์กล่าวว่า ถ้าจะปลดล็อกเรื่องนี้ ต้องแก้ปัญหาทั้งต้นน้ำ คือ บ้านเราเข้าถึงแอลกอฮอล์ง่าย และพยายามเจาะกลุ่มเข้าถึงเยาวชน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 1 ใน 5 มีความคิดว่า ถึงดื่มก็ยังขับได้ ขณะที่ในรอบปีที่ผ่านถามว่าเคยดื่มแล้วไปขับหรือไม่ ก็พบมากถึง 1 ใน 3 เราต้องแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย คือ ดื่มต้องไม่ขับ ส่วนกลางน้ำ เสนอว่า ด่านตรวจต้องมีเป้าหมายชัดเจน ตั้งที่ไหนบ้างที่เป็นจุดเสี่ยง แต่ต้องเป็นแบบสุ่ม และทำให้คนเกิดเกิดความคิดว่าไม่รอดกับไม่คุ้ม หากจะเมาแล้วขับ และเจอบทลงโทษหนัก ต้องจัดหาอุปกรณ์ ค่าตรวจให้เพียงพอ มีข้อกำหนดในการปฏิบัติที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ ลดการใช้ดุลพินิจ โดยตรวจวัดทุกราย ในระยะ 1-2 ชม. หลังเกิดเหตุ มีผลตรวจและความผิดซ้ำ โดยสั่งฟ้องทุกราย รวมถึงอาจต้องพัฒนาเอาผิดที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้
- 47 views