ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยร่าง พ.ร.บ.อสม. เคยประชาพิจารณาเมื่อปี 65 แต่มีคำถามปมหมวดเงินกองทุนงบประมาณ ส่วนสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม พร้อมกำหนดช่วงอายุเข้าเป็น อสม. ล่าสุด “สมศักดิ์” ฟื้นอีกครั้งแต่ตัดหมวดเงินออก เพื่อขับเคลื่อนความมั่นคงให้ อสม.เป็นหลัก พร้อมประชาพิจารณ์ 4 ภาคในอีก 1-2 เดือนนี้

ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบายสานต่อเรื่องดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมไปถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) โดยนโยบายที่ นายสมศักดิ์ ประกาศเดินหน้าและมอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการคือ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ... หรือกฎหมาย อสม. เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นนั้น

(อ่านข่าว : “สมศักดิ์” ปิ๊งไอเดีย เล็งออกกฎหมายให้ อสม.เพื่อความยั่งยืน)

ขั้นตอนร่าง พ.ร.บ.อสม.

ความคืบหน้าล่าสุด นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงการขับเคลื่อนเรื่องนี้ว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เคยดำเนินการร่างพระราชบัญญัติอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ... (ร่างพ.ร.บ.อสม.) และประชาพิจารณาเมื่อปีพ.ศ.2565  แต่หยุดไป อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเรื่องนี้ให้นำกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ซึ่งทางกรมสนับสนุนบริการฯ ได้นำร่างกฎหมายเมื่อปี 2565 ที่หลังจากทำ Public hearing มาปรับแก้ภายในกรมฯ จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการกลาง อสม. และเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการจัดทำกฎหมายต่อไป

ไม่ขัดหลักการของ 'จิตอาสา'

เมื่อถามว่าเมื่อมีการจัดทำกฎหมาย อสม. จะมีข้อกังวลในเรื่องจะขัดกับหลักการ จิตอาสา หรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า กฎหมายที่จะทำขึ้น กับระเบียบ อสม.เดิม ไม่ได้แตกต่างกัน ทั้งนี้ เนื่องจากร่างพ.ร.บ.อสม. ก่อนหน้าที่มีการเสนอ แต่ต้องหยุดไป เพราะมีหมวดหนึ่งว่าด้วยงบประมาณกองทุน ที่เดิมระบุว่า นำมาจากภาษีบุหรี่และยาสูบร้อยละ 2 ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ขณะนั้นมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในเรื่องบริหารจัดการเงิน แต่ร่างพ.ร.บ.ที่จะปรับปรุงขึ้นใหม่ ได้ตัดหมวดการเงินนี้ออกไป

ข้อแตกต่างระเบียบและร่างกฎหมาย อสม.   

“ร่างพ.ร.บ.อสม. ไม่แตกต่างจากระเบียบมากนัก  โดยระเบียบจะเขียนคุณสมบัติอสม. แต่กฎหมายจะชัดขึ้น มีกำหนดอายุตอนเข้าเป็นอสม. ใหม่เบื้องต้นอายุ 18-55 ปี มีการประเมินประสิทธิภาพ อสม. ว่า ทำงานและส่งงานได้ชัดเจนหรือไม่ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เดิมได้อยู่แล้ว เช่น ค่าป่วยการ ค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบ การได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ การเชิดชูเกียรติ หรือการได้โควต้าศึกษาสาธารณสุขบัณฑิต และจะได้ค่าป่วยการอย่างแน่นอน รวมถึงจะมีบทลงโทษสำหรับคนที่แอบอ้างเป็น อสม. เป็นต้น” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าว

อสม.แจ้งความประสงค์ไม่รับค่าป่วยการได้

นอกจากนี้ สำหรับอสม. ที่ต้องการเป็นจิตอาสาแบบไม่รับค่าป่วยการก็จะทำได้  แต่อาจต้องไประบุในประกาศ หรือกฎหมายลำดับรองล้อตามร่างพ.ร.บ.อสม.    อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกฎหมาย ตัวระเบียบก็ไม่ต้องใช้แล้ว ซึ่งกฎหมายจะเขียนกว้างๆ แต่จะมีการออกกฎหมายรอง หรือประกาศต่อไป สำหรับคณะกรรมการจะมี 2 ส่วน คือ คณะกรรมการนโยบาย อสม.ชุดใหญ่ระดับประเทศ มีปลัดสธ.เป็นประธาน  และมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนา อสม.ระดับจังหวัด

เมื่อมีกฎหมายต้องปฏิบัติตามภารกิจ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีกฎหมายแล้ว อสม.ต้องปฏิบัติตามภารกิจที่มอบหมายใช่หรือไม่  นพ.สุระ กล่าวว่า  เมื่อเป็นกฎหมายแล้ว อสม.ก็ต้องปฏิบัติตามภารกิจ เพราะจะมีการประเมินประสิทธิภาพในการทำงานว่าดูแลประชาชนในครัวเรือนที่รับผิดชอบได้มากน้อยแค่ไหน  

เมื่อถามว่า ยังมีฌาปนกิจสงเคราะห์ของอสม.หรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า จะไม่ได้อยู่ในร่างกฎหมาย เนื่องจากเป็นของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือสมาคม ฌกส. อสม. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.อสม. เมื่อมีการปรับปรุงร่างกฎหมายแล้วเสร็จ ตามขั้นตอนจะมีการประชาพิจารณ์ 4 ภาค คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 1-2 เดือนนี้

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

-ข่าวดี! ค่าป่วยการอสม. เดือนละ 2 พันบาทเข้าบัญชีแล้ว 

-“สมศักดิ์” ชูโครงการสินเชื่อ “เงินด่วนคนดี” อสม.ทั่วประเทศ ลดปัญหาหนี้นอกระบบ

-"สมศักดิ์" จ่อดัน พ.ร.บ.อสม. เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ดูแลปชช.ขั้นปฐมภูมิ