ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข เตรียมหารือสภาการพยาบาล 31 พ.ค.นี้ ถกปัญหาค้างคา ทั้งความก้าวหน้า ค่าตอบแทน ภาระงาน ค่าเสี่ยงภัยโควิดที่ยังได้ไม่ครบ ดึงอสม.ช่วยแบ่งเบาภาระงานพยาบาล  ส่วนประเด็นแก้กฎหมาย ก.พ. หากมีข้อมูลครบถ้วน ไม่น่ายาก ยกตัวอย่าง ก.ศึกษาฯ ยังทำได้

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมวิชาการ“ก้าวสู่ทศวรรษที่4 สภาการพยาบาล : บริการพยาบาลนิยามใหม่เพื่อคนไทยสุขภาพดี” ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ว่า  จากการได้พูดคุยกับทางสภาการพยาบาลเบื้องต้นบอกว่า พยาบาลยังขาดแคลน โดยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีพยาบาล 109,000 คน ยังขาดอีกประมาณ 50,000 คน จึงทำให้พยาบาลที่มีอยู่ทำงานหนัก เพราะอัตราส่วนของสากลอยู่ที่ 1 ต่อ 250  คน

“เห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้พยาบาลทำงานหนักมาก แต่พวกท่านไม่ได้บ่นอะไร...ให้ผมได้ยิน แต่บ่นให้ผู้บริหาร และสภาการพยาบาล ซึ่งผมเพิ่งมาทำงานได้ 20 กว่าวัน แต่ก็พอทราบบ้างแล้วว่า พวกท่านมีความทุกข์ ทั้งเรื่องค่าเสี่ยงภัยที่ยังค้างอยู่ ค่าตอบแทนกับภาระงาน จริงๆ ค่าเสี่ยงภัยที่ยังค้างอยู่ก็เกิดคำถามว่า ทำไมยังค้าง ก็ต้องเร่งดำเนินการจัดการต่อ” นายสมศักดิ์ กล่าว

ดึงอสม.ช่วยแบ่งเบาภาระงานพยาบาล

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนภาระงาน เมื่อยังไม่มีอัตรากำลังเพิ่ม ก็ต้องหาผู้ช่วย เพราะการผลิตพยาบาล ไม่ใช่ว่าจะผลิตได้รวดเร็ว จึงคิดว่าไปยกระดับ อสม.ให้มาช่วยงานดีไหม อย่างเรามี อสม. 1,070,000 คน แบ่งเป็นคุ้มๆ ประมาณ 3 แสนคุ้ม แต่เท่าที่ทราบแต่ละคุ้มมีถุงยา 1 ถุง แต่ไม่มีเครื่องมือมากพอ ดังนั้น ควรมีเครื่องมือต่างๆ มาช่วยแบ่งเบาภารกิจของพยาบาลได้ด้วย ส่วนค่าตอบแทนของพยาบาล ได้หารือปลัดสธ. เบื้องต้นมีรายได้จากเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าโอที จึงคิดว่า น่าจะต้องหาค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย แม้จะค่อนข้างเพิ่มยาก แต่ก็ต้องพยายาม พูดให้กับรัฐบาล

“จริงๆ พยาบาลทุกคน สามารถช่วยกันสะท้อนให้รัฐบาลให้เห็น ผมทราบแล้ว แต่ก็อยากให้ทุกท่านสะท้อน ไปยังส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็จะดำเนินการเช่นกัน โดยได้บอกกับปลัดสธ.แล้วว่า ให้นัดตัวแทนพยาบาล สภาการพยาบาล มาร่วมหารือถึงปัญหาและทางออกต่างๆ ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น.” นายสมศักดิ์ กล่าว

แยกตัวออกจาก ก.พ.ไม่น่ายาก อย่าง ศธ.ยังทำได้

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า อย่างการจะทำร่างกฎหมายเพื่อขอแยกตัวออกจาก ก.พ.นั้น ถามว่า ยากหรือไม่ จริงๆไม่ยาก แต่ต้องมีข้อมูลต้องจัดทำแผนให้ครบถ้วนถึงความจำเป็น เพราะกระทรวงศึกษาธิการก็ยังสามารถออกมาได้ หากเรามีข้อมูลร่วมด้วยช่วยกัน จะต้องทำได้ สิ่งสำคัญต้องทำแผนงานให้พร้อม ทั้งแผนงาน แผนบุคลากร แผนเงิน  เนื่องจากตนมองว่า เรื่องบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานราชการอื่นๆสนับสนุนทั้งนั้น เพียงแต่ต้องมีข้อมูลและต้องดูว่าจะตามตรงไหนให้ถูก ก็จะเดินไปได้ แก้ปัญหาถูกจุด 

สภาการพยาบาลเตรียมข้อมูลสถานการณ์ ปัญหา

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 1 กล่าวว่า สิ่งที่สภาการพยาบาลจะให้ข้อมูลแก่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล คือ สถานการณ์ของพยาบาลว่า ทำงานกันอย่างไร ความขาดแคลนเป็นอย่างไร ต้องการการสนับสนุนอะไรบ้าง หรือการลงทุนเรื่องอะไร ยกตัวอย่างการลงทุนเพิ่มการผลิต และการพัฒนาศักยภาพพยาบาลเพื่อก้าวสู่ระบบสุขภาพใหม่ รวมไปถึงเรื่องการสนับสนุนเครื่องมือเครื่องใช้การทำงาน