ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาการพยาบาล เผยประกาศข้อกำหนดการแต่ง “ชุดพยาบาล” ตามเพศสภาพ เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางเพศ ย้ำ! ไม่บังคับแต่งแบบ Unisex ได้  ไม่บังคับกำหนดสีขาว แต่ประกาศเดิมสภาฯ ยังอิงสีเดิม สิ่งสำคัญ รพ.ต้องออกระเบียบให้ชัดเจน เหมาะสม และต้องสื่อสารให้ประชาชนรู้เครื่องแบบไหนเป็นพยาบาล หรือ ผู้ช่วยพยาบาล

 

ตามที่ สภาการพยาบาล ออกประกาศ การแต่งกายของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่ไม่ตรงตามเพศกำเนิด สามารถเลือกชุดปฏิบัติงานได้ตามเพศสภาพ และได้มีการประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สภาการพยาบาล ออกประกาศให้ “แต่งชุดพยาบาล” ตามเพศสภาพ ได้)

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม  ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า  ก่อนหน้านี้สภาการพยาบาล เคยออกประกาศ การแต่งกายของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์มาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นพยาบาลชาย พยาบาลหญิง เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละโรงพยาบาลนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและระเบียบเครื่องแต่งกายของบุคลากรในโรงพยาบาลนั้นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของวิชาชีพ และคุ้มครองประชาชน ให้สามารถระบุได้ว่าใครเป็นพยาบาล ใครไม่ใช่ เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังพูดถึงสิทธิความเท่าเทียมกัน เรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งสภาการพยาบาลเองก็เคารพในจุดนี้เรื่องความหลากหลายทางเพศ และบุคลากรก็มีความต้องการปกป้องสิทธิของตนเอง ทางสภาการพยาบาลจึงได้ออกประกาศฉบับที่ 2 ออกมาให้สามารถแต่งชุดปฏิบัติการตามเพศสภาพ อย่างพยาบาลชายแต่งอย่างไร พยาบาลหญิงแต่งอย่างไร

“โรงพยาบาลสามารถออกแบบเป็นชุดปฏิบัติงาน หรือชุดพยาบาลแบบ Unisex  คือ ชายหญิงสามารถแต่งกายได้ โดยไม่ต้องนำมาให้ทางสภาการพยาบาล อนุญาตก่อน สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องแจ้งกับประชาชนผู้ใช้บริการว่า เครื่องแต่งกายแบบนี้ หมายถึงพยาบาล หรือผู้ช่วยพยาบาล หรือแพทย์ เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่า ผู้ให้บริการเป็นใคร ส่วนสีก็ขึ้นกับระเบียบโรงพยาบาล แต่หากพยาบาลอยากแต่งชุดดั้งเดิมก็ทำได้” ดร.กฤษดา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสีขาวแล้วใช่หรือไม่ อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 1 กล่าวว่า สภาการพยาบาลให้ดูตามความเหมาะสม ให้ดูแล้วมีความไว้วางใจ เมื่อพบเห็นแล้วต้องทราบว่าเป็นพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลต้องกำหนดระเบียบออกมาให้เหมาะสม

เมื่อถามว่า หากไม่กำหนดสี หรือรูปแบบจะทำให้แต่ละโรงพยาบาลแตกต่าง และหลากหลาย จนประชาชนสับสนหรือไม่ ดร.กฤษดา กล่าวว่า  เป็นเรื่องที่โรงพยาบาลต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะประกาศดั้งเดิมของสภาการพยาบาลยังให้เป็นสีขาว สิ่งสำคัญขอให้พิจารณาตามความเหมาะสม สิทธิของพยาบาล แต่ต้องอิงประโยชน์ของประชาชนด้วย