รองปลัด สธ. เผยมีมาตรการดูแลความปลอดภัย ป้องกันผู้ป่วยถูกทำร้าย ชี้ทุก รพ.มีระบบรายงาน หากพบ จนท.-บุคลากรทางการแพทย์ เกิดความเครียด มีพฤติกรรมเสี่ยง อาจทำร้ายร่างกายผู้อื่น หลังประเมินจะส่งให้จิตแพทย์ดูแล

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ถึงกรณีความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องในวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 6 และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 8 ว่า 

ในการดูแลผู้ป่วยต้องระมัดระวังในตัวผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ เช่น กรณีโควิด-19 ต้องมีการระมัดระวังความปลอดภัย ป้องกันการติดเชื้อ จึงมีกระบวนการป้องกันตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีการระมัดระวังการติดต่อจากผู้ป่วยมายังบุคลากรทางการแพทย์อยู่แล้ว ช่วงหลัง ๆ จะพบผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตเยอะขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงที่บุคลากรทางการแพทย์จะถูกทำร้าย หรือเกิดความรุนแรงภายในโรงพยาบาล จึงมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ และมีมาตรการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น 

สำหรับการจัดการในระบบห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นด่านแรกที่มักจะเกิดความรุนแรง จึงมีระบบประตู 2 ชั้น โดยโรงพยาบาลที่มีพื้นที่มากพอจะทำระบบประตูให้เข้าถึงได้ยาก ป้องกันไม่ให้โดนทำร้ายได้ อีกทั้งมีการเชื่อมต่อกับการรับแจ้งเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ส่วนการป้องกันทางโรงพยาบาลก็มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในเบื้องต้น ภายหลังเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายก็จะมีมาตรการควบคุม ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายภายในโรงพยาบาล 

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์บางคนที่มีปัญหาความเครียดหรือปัญหาสุขภาพจิต อาจก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม แต่ละโรงพยาบาลจะมีการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดพฤติกรรมดังกล่าว แยกออกมา และดูแลโดยจิตแพทย์ 

เมื่อถามถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์ เกิดการทะเลาะกันจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย นพ.สุรโชค กล่าวว่า จริง ๆ จะมีการประเมินพฤติกรรมอยู่แล้วว่า เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์คนไหนอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็จะส่งให้เข้าพบจิตแพทย์ต่อไป ปัญหา คือ มีบางคนประเมินแล้วไม่ยอมพบจิตแพทย์บ้างเหมือนกัน แต่ตามข้อกฎหมายบังคับได้ในเบื้องต้น ผู้บริหารก็จะพูดคุยเพื่อให้เข้าพบจิตแพทย์ต่อไป สำหรับกรณีพบเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่าอาจเกิดปัญหาได้ ก็จะมีระบบรีพอร์ตถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นระบบคล้าย ๆ มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (HA) โดยจะมีการดูทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วย จะมีการรายงานได้ เช่น การให้ยาผิดพลาด การดูแลผิดพลาด หรือการวินิจฉัยผิดพลาด รวมทั้งคนไหนป่วยหรือมีความเสี่ยง จะสามารถรายงานได้ 

เมื่อถามว่า กรณีมีความกังวลในการย้ายโรงพยาบาลในผู้ที่เกิดกรณีทะเลาะวิวาทนั้น นพ.สุรโชค กล่าวว่า ส่วนใหญ่พฤติกรรมต่าง ๆ เมื่อเปลี่ยนที่แล้วจะรู้สึกไม่คุ้นเคย ไม่กล้าทำพฤติกรรมนั้น เพราะไม่รู้ว่าที่ใหม่เป็นอย่างไร มักจะนิ่งเงียบ แต่ถ้าอยู่ที่เดิมก็อาจเกิดพฤติกรรมเดิม หลังจากย้ายแล้ว จะเข้ารับการประเมินอีกครั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สธ.ร่วมขับเคลื่อน "วันความปลอดภัยผู้ป่วยโลก" ยกระดับวินิจฉัยถูกต้อง-ทันเวลา