ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัด สธ. เปิดงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ให้ความสำคัญ “ประชาชน” ร่วมสร้างระบบบริการที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและบุคลากร ตามแนวทาง 3P Safety รพ.เข้าร่วมแล้ว 1,007 แห่ง ยกระดับการวินิจฉัย ถูกต้อง-ทันเวลา   

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 6 (The 6th World Patient Safety Day) และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 8 (The 8th Thailand Patient and Personnel Safety Day) ภายใต้แนวคิด Improving diagnosis for Patient Safety “Get it right, make it safe!” ประจำปีงบประมาณ 2567 พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความสำคัญของความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย” 

นพ.สุรโชค กล่าวว่า ในปี 2567 องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญเรื่องการขับเคลื่อนความปลอดภัย สร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ป่วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำด้านการดูแลสุขภาพ เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของผู้ป่วยในประเด็น Improving diagnosis for Patient Safety “Get it right, make it safe!” เน้นความสำคัญของการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ปลอดภัยและทันเวลาในการรับรองความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ Global Patient Safety Action Plan 2021-2030 ที่มีเป้าหมายลดความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในระบบบริการ พร้อมเปิดกว้างและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและประชาชนเป็นทีมในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ไปจนถึงระดับนโยบาย เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคน 

จากสถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดการระบาดขึ้น ทำให้มุมมองของผู้ป่วยเปลี่ยนไป เมื่อมีการระบาด ทุกคนเห็นความสำคัญถึงบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีความปลอดภัย เพราะถ้าเจ็บป่วยแล้วจะไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ ความปลอดภัยหลายเรื่องป้องกันได้ โดยอาศัยกติกาที่เคยเรียนมา และบทเรียนที่เคยเกิดขึ้น บทเรียนต่าง ๆ ลดความไม่ปลอดภัยของผู้ป่วย จึงต้องนำมาทบทวน และดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ เอาความรู้มาเป็นข้อมูลไม่ให้เกิดความผิดพลาด 

นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า เรื่องความปลอดภัยต้องอาศัย 3 องค์ประกอบ คือ ผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ขับเคลื่อนผ่านโครงการ Patient Personnel and People หรือ 3P Safety Hospital และมียุทธศาสตร์ต่อเนื่องมาสู่ระยะที่ 2 (พ.ศ.2567-2570) ที่มีเป้าหมายร่วมกัน คือ “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน" ซึ่งผลของการขับเคลื่อนเรื่อง 3P Safety ทำให้ประเทศไทยมีระบบการรายงานอุบัติการณ์ความเสี่ยงและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูล เฝ้าระวัง และวางแผนพัฒนาเชิงระบบ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนารูปแบบ กลไกและนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและบุคลากร โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ ประสานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนและผลักดันการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยมีคุณภาพและความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

"เรื่องของความปลอดภัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก การขับเคลื่อนในเรื่องนี้จึงต้องเน้นย้ำการวินิจฉัยถูกต้อง ปลอดภัย เพื่อดูแลผู้ป่วย โดยมีเป้าหมายลดความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในการบริการ การทำงานต้องทำงานเป็นทีม เป็นการดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขา" นพ.สุรโชค กล่าว

ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 72 พ.ศ. 2562 มีมติกำหนดให้วันที่ 17 กันยายนของทุกปี เป็นวัน World Patient Safety Day ขณะที่คณะกรรมการขับเคลื่อนความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ของประเทศไทย ได้กำหนดให้วันที่ 17 กันยายนของทุกปี เป็นวัน “Thailand Patient and Personnel Safety Day” โดยในปี 2567 เป็นการประกาศนโยบาย People Safety เพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู่ระบบบริการได้อย่างทั่วถึง ได้รับการบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ ต้องอาศัยองค์ประกอบทั้งผู้ป่วย บุคลากร ประชาชนหรือญาติผู้ดูแล (3P) โดยมีแนวทางในการดำเนินงานตามยุทธศาตร์ 3P Safety strategy ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบที่คำนึงถึงทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการและญาติ เป็นการขับเคลื่อนที่มีพลังและมีการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง

สำหรับการจัดงานในปี 2567 นี้ ดำเนินการในรูปแบบ Hybrid มีผู้เข้าร่วมประชุมในงาน 408 คน และออนไลน์ 508 บัญชี ครอบคลุมสถานพยาบาลที่เป็นสมาชิกทั้ง 1,007 แห่ง มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ เวทีแลกเปลี่ยนการพัฒนาเครื่องมือคุณภาพด้านความปลอดภัย เรื่องการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนจากกรณีศึกษาโรงพยาบาลนำร่อง, พิธีมอบประกาศนียบัตรแก่สมาชิกโรงพยาบาลโครงการ 3P Safety Hospital และเวทีการนำเสนอผลงานนวัตกรรม 2P Safety Tech รวมถึงการประกาศผลและมอบรางวัลนวัตกรรมด้านความปลอดภัยด้วย