รมว.สาธารณสุข แจงรายละเอียด ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มิใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง กำหนดให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย มีตำรับยาที่มี “ฝิ่น เห็ดขี้ควาย” เป็นส่วนผสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มิใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2567 ลงนามโดย
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2567 สาระสำคัญระบุว่า
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มิใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้ เป็นไปตามหลักวิชาการ มีความปลอดภัยและเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และมาตรา 58วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า "ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
ที่มิใช่สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชง ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2563"
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งมีลักษณะเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษ
ในประเภท 5 ผสมอยู่ และได้รับอนุญาตให้ผลิตเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคได้
ข้อ 4 ให้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งมีลักษณะเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษ
ในประเภท 5 ผสมอยู่ และได้รับอนุญาตให้ผลิตเพื่อการศึกษาวิจัย เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5ที่ให้เสพเพื่อการศึกษาวิจัยได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันยาเสพติดให้โทษประเภท 5 คือ พืชฝิ่น เห็ดขี้ควายและสารสกัดที่มีสารสกัดTHC เกิน 0.2 % ซึ่งประกาศฉบับนี้หมายถึงให้ใช้ตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ผสมอยู่ด้วย ใช้เพื่อการรักษาและใช้เพื่อการศึกษาวิจัยได้ ยกเว้นสารสกัดกัญชากัญชง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.2567 เป็นต้นไป
“ยาเสพติดประเภท 5 คือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถือเป็นยาเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ จึงต้องมีประกาศนี้ออกมารองรับอนุญาตให้สามารถนำไปใช้ประโชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยได้ ในกรณีนำไปปรุงยาเข้าเป็นตำรับยาเพื่อการรักษาโรคหรือใช้เพื่อการศึกษาวิจัย เพราะหากไม่มีประกาศนี้ออกมาก็ไม่สามารถใช้เพื่อการรักษาโรคและศึกษาวิจัยได้ ”นพ.ชลน่านกล่าว
- 928 views