ครม. อนุมัติงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 68 รวม 2.35 แสนล้านบาท เผยเพิ่มขึ้นจากปี 67 เป็น 3,844.55 บาท/คน พร้อมเน้นย้ำ สธ. เร่งดำเนินการด้านการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อลดภาระงบประมาณในระยะยาว
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 235,842,800,900 บาท พร้อมทั้งเร่งรัดให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการและให้ความสำคัญในด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) แก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วน
ขณะเดียวกันก็เร่งรัดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อลดภาระงบประมาณการให้บริการแก่ผู้ป่วยในระยะยาว รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินของระบบหลักประกันสุขภาพ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังให้ความเห็นว่าปริมาณการใช้บริการและอัตราค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ผู้ป่วยของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าเหมาจ่ายรายหัว ขณะที่ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษา มีสัดส่วนเพียง 10.76% ของงบประมาณทั้งหมด ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป จึงเห็นสมควรที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเร่งดำเนินการและให้ความสำคัญในด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วนและมีการติดตามประเมินผลตามตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลลัพธ์การให้บริการ เพื่อให้มีความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังเห็นว่า สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเร่งรัดพิจารณาให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นโดยเร่งด่วน และหากงบประมาณ 2567 มีงบประมาณเหลือจ่ายสูงกว่ารายจ่าย ก็เห็นสมควรให้นำเงินดังกล่าวมาสมทบกับงบประมาณปี 2568 เป็นลำดับแรก
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า งบประมาณ 235,842,800,900 บาท ที่ ครม. อนุมัตินี้ จะประกอบด้วย
1. ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 3,844.55 บาท/คน สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ จำนวน 47.15 ล้านคน วงเงินรวม 181,297,444,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 9.53%
2. ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 4,209,445,500 บาท เพิ่มขึ้น 4.79%
3. ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 13,506,166,200 บาท เพิ่มขึ้น 5.46%
4. ค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน และผู้ป่วยโรคหอบหืด) 1,298,924,300 บาท เพิ่มขึ้น 8.46%
5. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,490,288,000 บาท
6. ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ 2,180,228,000 บาท เพิ่มขึ้น 5.69%
7. ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย กองทุน กปท. 2,522,207,000 บาท ลดลง 1.11% กองทุน Long Term Care 2,900,246,000 บาท เพิ่มขึ้น 5.06% และ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด 530,968,000 บาท เพิ่มขึ้น 0.05%
8. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ 522,923,000 บาท ลดลง 18.65%
9. ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ 66,37 ล้านคน วงเงิน 25,383,960,500 บาท เพิ่มขึ้น 5.57%
- 416 views