สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปจวก “3 คนฝั่งรัฐบาล” ปมถ่ายโอน รพ.สต. เกิดปัญหาวงกว้าง ไร้ความก้าวหน้า-งบประมาณไม่เหมือนที่ตกลง ด้าน “ชลน่าน” แจงชัด! มีความพยายามถ่ายโอนรวดเร็วก่อนรับตำแหน่ง แต่หลายพื้นที่ขาดความพร้อม แม้ไม่ได้อยู่ในบอร์ดกระจายอำนาจฯ แต่เมื่อเป็นรมว.สธ. ก.ย.66 เร่งแก้ปัญหา พร้อมหนุนผลิตหมอครอบครัว จนมีมติครม.ผลิต 10 ปีงบกว่า 3.7 หมื่นล้าน
เมื่อช่วงดึกของวันที่ 3 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปกรณีปัญหาการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) โดยระบุว่า ไม่ได้ต้องการเร่งการถ่ายโอน แต่ต้องการบอกว่า รพ.สต.ที่ถ่ายโอนกำลังประสบภาวะวิกฤต มีเพียงส่วนน้อยที่ประสบผลสำเร็จหลังมีมติถ่ายโอน ปัญหามาจากการบริหารส่วนกลาง การบริหารที่ไม่รอบรู้แตกฉานด้านสุขภาพ การขาดทิศทางชัดเจนของ 2 รมว. ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ที่จะทำให้รพ.สต.ใกล้บ้านอยู่ในสภาพสิ้นใจ เป็นการทำลายระบบสุขภาพปฐมภูมิ
ถ่ายโอนกระทบ รพ.สต. ทั้งปัญหาคน งบ ตัวชี้วัด
“บ่อยครั้งที่คนไข้ไป รพ.สต.ไม่พบหมอ ไม่พบพยาบาล เมื่อนานไปพอป่วยก็ต้องโบกรถไป รพ.ชุมชน รพ.จังหวัดแทน นี่คือประชาชนหมดหวังในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยการถ่ายโอนรพ.สต.ล้มเหลว ส่งผลให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ รพ.สต.ด้อยคุณภาพ โดยปัญหาหลักๆมาจาก ขาดบุคลากร ขาดงบประมาณ และตัวชี้วัดมากมาย เจ้านายหลายคน” น.ส.กัลยพัชร กล่าว
น.ส.กัลยพัชร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีบุคลากรถ่ายโอนราว 3 หมื่นคน ที่ได้ถ่ายโอนจากกระทรวงสาธารณสุข ไปยังอบจ.สังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยปี 2567 บุคลากรแจ้งความจำนงในการถ่ายโอนลดลง เหลือเพียง 6,289 คน คิด 37%ของปีที่แล้ว และปี 2568 แสดงความจำนงถ่ายโอนเพียง 900 คนเท่านั้น บุคลากรส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจถ่ายโอน เพราะมั่นใจว่าจะมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานเพิ่มขึ้น แต่ความจริงกลับไม่ใช่
อย่างไรก็ตาม อย่างปัญหาบุคลากรนั้น ปัจจุบัน รพ.สต. มีบุคลากรทำงานน้อยมากไม่ถึงครึ่ง อย่างรพ.สต.ขนาดเล็ดควรมี 7 คน มีจริง 4.1 คน และหลายแห่งจะมีพยาบาลเพียง 1 คน ต้องออกไปดูแลประชาชนในชุมชน กลับมาต้องดูเอกสารอีก มีทั้งของกระทรวงสาธารณสุข ของกระทรวงมหาดไทยอีก ตอนนี้บุคลากรตัวเล็กตัวน้อยก็จะออกจากระบบหมด เพราะถูกทอดทิ้ง ไม่มีความก้าวหน้า
“ปัญหางบประมาณก็ไม่เป็นไปตามที่เคยตกลง ได้เพียงครึ่งเดียวของที่เคยได้รับ อย่างขนาดเล็กควรได้ 1 ล้านบาท ได้จริง 5 แสนบาท ปัญหากฎระเบียบตัวชี้วัดของรพ.สต.ที่ไม่ตอบโจทย์ อย่างกำลังคนน้อย งบประมาณครึ่งเดียว เมื่อเปลี่ยนสังกัดมากระทรวงมหาดไทย ก็จะระเบียบเยอะมากอีก รวมๆคือ ต้องตอบโจทย์ตัวชี้วัดทั้งกระทรวงสาธารณสุข อบจ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ผู้จ่ายค่าบริการอีกด้วย” น.ส.กัลยพัชร กล่าว
ถามความรับผิดชอบ 3 คน รมว.สธ.-มท.-นายกฯ
น.ส.กัลยพัชร กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลจริงใจจะถ่ายโอนจริง รัฐบาลควรประกาศเจตนา ทิศทางชัดเจนว่า แต่ละปีจะถ่ายโอนเท่าไหร่ เสร็จสิ้นเมื่อไหร่ และต้องมีแรงจูงใจ ทั้งการเติบโตคนทำงาน เพิ่มงบฯให้เพียงพอ ลดอุปสรรคของรพ.สต.ถ่ายโอน ลดระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค แต่รัฐบาลเพื่อไทยกลับไม่ประกาศแนวทางถ่ายโอนรพ.สต. หรือทั้งมีเจตนาบ่อนไซระบบสุขภาพปฐมภูมิ
“ความล่าช้าของเรื่องนี้มีผู้รับผิดชอบ 3 คน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายกรัฐมนตรี”
ซัด สธ.หวงอำนาจไม่กำหนดกรอบเวลาถ่ายโอน
ทั้งนี้ คนแรก คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ปัญหาหลักๆ คือ 1. สร้างความสับสนนโยบายถ่ายโอน รพ.สต. ปัจจุบันยังไม่เห็นแนวทางชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับการถ่ายโอนรพ.สต. ที่สำคัญคิดอย่างไรกับการถ่ายโอนจากส่วนกลางไปท้องถิ่น เหตุใดจึงไม่กำหนดเวลาการถ่ายโอนให้เสร็จสิ้น และประสานสำนักงบฯ สปสช.จัดสรรงบให้เต็มตามสัญญา จัดหาคนมาเต็มกำลัง อย่าลืมว่านโยบายปฐมภูมิ หาหมอใกล้บ้าน เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และยังเป็น 1 ใน 10 นโยบายของสธ. ก่อนเลือกตั้งเคยเชิญแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมาพูดคุย แต่หลังจากเป็นรมว.สาสธารณสุข กลับไม่มีนโยบายชัดเจน
2.นพ.ชลน่าน เคยพูดกับบุคลากรบางส่วน ว่า หากรพ.หรือบุคลากรใดแสดงความจำนงที่จะถ่ายโอนให้แจ้ง เพราะถือว่ามีปัญหากับส่วนกลาง แบบนี้คือ ขู่หรือไม่ เป็นการชักชวนรพ.สต.ให้อยู่ส่วนกลาง แบบนี้กลัวเสียบริวาร กลัวเสียงบประมาณหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นยังกล่าวหาว่าเป็นศัตรูส่วนกลาง หากที่กล่าวมาไม่จริง ก็ขอให้ชี้แจง
3.ไม่มีโรดแมปว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ หากจริงใจก็ควรถ่ายโอนไปให้หมด ทั้งบุคลากร รพ.สต. ทั้งคุรุภัณฑ์ ตอนนี้รพ.สต.อยู่ในสภาวะลูกผีลูกคน อยู่ใน 2 สังกัด หากไม่เชื่อกระจายอำนาจก็ดึงกลับมาสธ.เลย อะไรที่เชื่อถือได้บ้าง แบบนี้ต้องการยื้อ ไม่อยากปล่อยหรือไม่
ซัด “อนุทิน” รมว.มท. ไม่แก้ระเบียบเอื้อถ่ายโอนรพ.สต.
คนที่สอง ต้องรับผิดชอบ คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.กระทรวงมหาดไทย ปัญหาคือ ไม่ปรับแก้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ที่เอื้อต่อการทำงาน รพ.สต. ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งก่อสร้างคุรุภัณฑ์ และระเบียบการบริหารบุคคล ทำไมคนย้ายมาแล้วไม่เติบโต
“ท่านอนุทินเคยบอกว่า การถ่ายโอนไป คือ สิทธิสวัสดิการต้องไม่น้อยไปกว่าเดิมแปลว่า ความก้าวหน้า อยู่กับที่ เงินเท่าเดิมหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีกฎใดๆ ว่าด้วยกำลังคนที่เปลี่ยนไป บุคลากรที่เลื่อนขั้นเพียง 1 ท่านและ ขึ้นเงินเดือนเป็นขั้นปีละ 650-900 บาท ตอนนี้ท่านย้ายกระทรวง มาอยู่กระทรวงมหาดไทย ท่านจะไม่ทำเลยหรือ นี่คือ ความไม่ชัดเจนของรมว.ทั้ง 2 ท่าน ยื้อกันอยู่แบบนี้ ” น.ส.กัลยพัชร กล่าว
นายกฯเป็นถึงปธ.ซูเปอร์บอร์ดกลับไม่แก้ปัญหา
น.ส.กัลยพัชร กล่าวอีกว่า คนสุดท้าย นายกรัฐมนตรี ยังเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และเป็นรมว.กระทรวงการคลัง แต่กลับไม่จัดการเรื่องนี้ เมื่อ 2 รมว.ทั้ง 2 กระทรวงตกลงไม่ได้ ก็ต้องจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้
“ชลน่าน” แจงชัดปมถ่ายโอน รพ.สต. ทำงานในรูปแบบบอร์ดกระจายอำนาจฯ
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงในญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปกรณีนี้ ว่า การถ่ายโอน รพ.สต.ไปอบจ.นั้น เป็นไปตามพ.ร.บ.การกระจายอำนาจฯ ปี 2542 ซึ่งการยกปัญหาโดยพูดถึงผู้ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ มีตน ในฐานะรมว.สาธารณสุข และรมว.มหาดไทย รวมถึงนายกรัฐมนตรี โดยต้องแจ้งก่อนว่า การถ่ายโอนจะมีกติกามีเงื่อนไข เช่น เรื่องความพร้อม ทั้งอบจ. และรพ.สต. ซึ่งหลายพื้นที่มีความพร้อม บางจังหวัดไปทั้งจังหวัด อย่างรพ.สต.มี 9 พันกว่าแห่ง เข้าสู่ถ่ายโอนไปประมาณ 4 พันแห่งใน 3 ปี จนถึงปี 2568 แต่จำนวนลดลงเรื่อยๆ โดยตอนแรกไปประมาณ 3-4 พันคนในปี 2566 จากนั้นก็ลดลง ซึ่งตนเข้ามารับหน้าที่และเห็นสภาพปัญหาว่า เพราะอะไรการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามแผน
“ผมเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ สนับสนุนเรื่องนี้มาตลอด แต่ผมไม่ได้เป็นกรรมการการกระจายอำนาจ ซึ่งรองนายกฯ ที่กำกับดูแลเรื่องนี้คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน มีกรรมการทุกภาคส่วน มีปลัดสธ.เป็นหนึ่งในกรรมการ และมีอนุกรรมการมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนและพยายามให้มีการกระจายอำนาจบนพื้นฐานอยากให้กระจายอำนาจให้มากที่สุด หลายแห่งประเมินความพร้อมแบบไม่พร้อม พอไปแล้วเกิดปัญหา เหมือนที่สส.กัลยพัชร บอกว่าสร้างความเดือดร้อนประชาชน เดิมได้รับบริการดีกว่านี้ แต่กลับแย่ลง ซึ่งเป็นปัญหาตั้งแต่ปี 2566 -2567 เมื่อผลเข้ามาก็พยายามหาแนวทางจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยยึดประชาชนเป็นหลัก หากกระจายอำนาจต้องได้รับการบริการไม่น้อยหรือดีกว่าอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข” นพ.ชลน่าน กล่าว
ปัญหาถ่ายโอนบุคลากร เรื่องหลักเกณฑ์สับสนในช่วงแรกก่อน ก.ย.66
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า เรื่องบุคลากร ช่วงแรกสับสน เพราะหลักเกณฑ์ค่อนข้างสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนแก่บุคลากร โดยตอนต้นนั้น แม้ตำแหน่งไม่ใช่ก็สมัครใจถ่ายโอนออกไป พอตรวจสอบตำแหน่งกลับไม่ใช่ตำแหน่งที่ทำงานในปฐมภูมิ แต่เป็นตำแหน่งทำงานในรพ. ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เมื่อตรวจสอบจึงไม่เข้าเงื่อนไขถ่ายโอน ตอนนั้นกระทรวงสาธารณสุข ถูกกล่าวหาว่า หวงอำนาจ ไม่ยอมให้ถ่ายโอน อันนี้ก่อนตนมาดำรงตำแหน่ง เพราะมาเดือนก.ย.2566 มาทำหน้าที่ตรงนี้ จึงต้องไปดูว่า จะไปดูหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนอย่างไร ส่วนอนุกรรมการอยากให้ถ่ายโอนก็ดี แต่ก็ต้องดูระเบียบให้ดี หลายแห่งอยากไป แต่ก็ไปไม่ได้
“อย่างจ.น่าน มีรายชื่อไป 59 คน พอตรวจสอบคุณสมบัติที่ถ่ายโอนได้ประมาณ 30 คน เพราะทำงาน รพ. ไมใช่หน่วยปฐมภูมิ อันนี้เป็นกฎ ก.พ.ว่า เป็ฯคนละสังกัด หากจะไปใช้คำว่า ถ่ายโอนไม่ได้ ต้องใช้คำว่า โอนย้าย เป็นไปตามระเบียบก.พ. ซึ่งหากมีตำแหน่งว่าง ก็โอนย้ายได้ ดังนั้น หลักเกณฑ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2566 ที่ท่านรองนายกฯสมศักดิ์ เป็นประธาน จึงกำหนดว่า หากตัวอยู่ รพ.ชุมชน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป สสจ. หรือ สสอ. ถ่ายโอนได้ หากมีเลขตำแหน่งเคยทำงานหน่วยปฐมภูมิมาก่อน นี่ก็เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ผมเสนอให้ทางคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ออกกฎเกณฑ์ให้ชัด”นพ.ชลน่านกล่าว
คนเข้าเกณฑ์แต่ไม่ต้องการไป จึงออกแนวทางช่วยราชการ
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า รวมถึงแม้เจ้าหน้าที่ของเราในรพ.สต.ที่เข้าข่ายถ่ายโอน แต่ไม่ต้องการไป เราก็ออกแนวทางให้อยู่ช่วยราชการไปก่อน เพราะเราคำนึงถึงการบริการประชาชน นอกจากนี้ ในเรื่องงบประมาณ ปีงบฯ68 ชัดเจนจะเห็นว่า งบส่วนหนึ่งของสธ.ถูกลดส่วนหนึ่งแต่ไปปรับให้ รพ.สต. นี่คือการปรับเปลี่ยน เพราะความชัดเจนของการถ่ายโอนนั่นเอง ทั้งเม็ดเงินงบทั้งค่าจ้างค่าตอบแทนก็ตามไปตามนั้น
หนุนสุขภาพปฐมภูมิ ล่าสุดครม.เห็นชอบผลิตหมอครอบครัว
“ภายใต้ พ.ร.บ.ปฐมภูมิฯ ที่ออกมาปี 2562 ชัดเจนว่าเราไม่ได้มุ่งเน้นแค่การรักษาพยาบาล แต่เราดูครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้งการส่งเสริม ฟื้นฟู เราเห็นถึงความสำคัญของมิติชุมชนเป็นหลัก ผมในฐานะรมว.สาธารณสุข และได้ทำสำเร็จแล้ว คือ เราพยายามให้มีการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้น ขณะนี้ได้ 2 พันกว่าแห่ง ขณะที่บคุลากรที่ต้องมารองรับ ตามกฎหมายปฐมภูมิ ต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวพร้อมเครือข่ายวิชาชีพ เราเห็นความสำคัญ จึงทำโคครงการผลิตบุคลากรรองรับเรียกว่า 9 หมอที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครม.เห็นชอบเมื่อเร็วๆนี้ โดยจะเริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2568-2570 อนุมัติงบกว่า 3.7 หมื่นล้าน จะได้แพทย์ปีละ 1 พันคนรองรับหน่วยบริการปฐมภูมิ เมื่อครบ 10 ปีจะได้ 2.6 หมื่นคน” นพ.ชลน่าน กล่าว
ไม่เคยขู่ใคร ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกา
ส่วนที่บอกว่าตนถูกกล่าวหาว่า ไปขู่ ตนไม่ได้ขู่ ตนบอกว่า อะไรที่อยู่ในกติกาต้องทำให้ชัดเจน อย่างถ้าไม่อยู่ในเกณฑ์ต้องใช้วิธีการโอนย้าย ให้ทำถูกต้อง ส่วนเรื่องโรดแมปนั้น ต้องมาดูว่า กติกาเป็นอย่างไร ทั้งหมดขึ้นกับแผน และอยู่ที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ อีกทั้งแผนนี้เป็นเรื่องความสมัครใจ จะไปกำหนดว่าถ่ายโอนต้องให้เสร็จภายในปีไหนปีไหนไม่ได้ เพราะต้องอยู่ที่บุคลากร หากเป็นไปได้มีความพร้อมและไปทั้งจังหวัดก็จะดี ซึ่งตรงนี้ต้องไปออกกติกาและทำโรดแมปให้แล้วเสร็จ
- 2422 views